เมื่อย่างเข้าเดือนสุดท้ายของปี มักจะมีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นอยู่เสมอ มันเป็นความรู้สึกที่สัมผัสได้ถึงบรรยากาศแห่งความสุข และความสนุกกับปัจจุบัน ที่พร้อมจะพาตัวเองไปพบเจอกับสิ่งที่ดีในปีหน้า

ผมอยากจะแบ่งปันเรื่องราวในปีที่ผ่านมาให้เพื่อนๆ ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน ครั้งนี้ไม่ได้มาในหัวข้อชวนอ่านแบบ “ 5 เรื่องราวที่นายปั้นเงินได้เรียนรู้ในปีนี้” แต่ขอมาในแนวเรียบง่ายอ่านสบาย เหมือนเพื่อนสนิทนั่งเล่าเรื่องชีวิตให้ฟังก็แล้วกันครับ

สมัยที่ผมเรียนอยู่ในรั้วมหาลัยปีสุดท้าย สิ่งที่ผมคิดในตอนนั้นคือ “อยากจะมีรายได้เยอะๆ มีหน้าที่การงาน และการเงินที่มั่นคง” แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วผมก็พบว่า แท้จริงงานที่ผมอยากจะทำ ควรเป็นงานที่มีรายได้แปรผันตามความสามารถ โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับชั่วโมงการทำงาน

ส่วนเรื่องความสุขในการทำงาน ผมเลือกที่จะมองข้ามไปก่อน เพราะเชื่อว่าตัวเองสามารถ “รักในสิ่งที่ทำ” เพื่อให้มันออกมาดี โดยไม่จำเป็นที่จะต้อง “ทำในสิ่งที่รัก” เหมือนอย่างที่ไลฟ์โค้ชทั้งหลายเขาว่ากัน

ผมเป็นคนรักเงินไม่ต่างจากทุกคนนั่นแหละ “เงินที่รัก” ของผมจะเข้ามาหาผมตามความตั้งใจในการทำงาน ยิ่งทำเยอะและทำได้ดีมันก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น ผมไม่ใช่คนที่มีรายได้เยอะ ดังนั้น ผมจึงเลือกที่จะทำให้ตัวเองมีรายได้หลายทาง

ปีที่ผ่านมาผมมีงานหลัก คือ รับวางแผนการลงทุน  

รายได้ทางที่สอง คือ งานเขียน 

ส่วนมีรายได้ทางที่สามนนั่น คือการดูแลพอร์ตการลงทุนให้นักลงทุนรายใหญ่  

ผมได้แนวความคิดใหม่ในปีที่ผ่านมาว่า เราไม่จำเป็นจะต้องทำงานเพียงอย่างเดียว แต่เราสามารถทำงานเพิ่มได้! โดยค่อยๆ พัฒนาจากงานหลักที่ทำให้ดีอยู่แล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ห้ามทำเลย คือ “ห้ามหยุดการพัฒนาความสามารถ!” เพราะงานทุกงานสร้างทักษะใหม่ๆ ให้เราอยู่เสมอ แถมจะช่วยดึงดูด “เงินที่เรารัก” เข้ามาหาได้ด้วย

จริงอยู่ว่าหลายคนที่เป็นพนักงานออฟฟิศอาจจะรู้สึกไม่มีความสุข เพราะรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำงานที่จะเกิดประโยชน์กับตัวเองซักเท่าไหร่ อยากจะมีธุรกิจส่วนตัวให้รู้แล้วรู้รอดไป อย่างน้อยมันก็น่าจะมีความสุขมากกว่าทำงานให้คนอื่นแบบนี้แหละวะ!!

แต่อย่าลืมนะว่าธุรกิจส่วนตัวของเราก็ต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าเช่นกัน งานที่คิดว่าเป็นของเราทั้งหมด แท้จริงก็คือ “งานที่เกิดจากลูกค้านั่นแหละ เขาเอามาให้เราทำ เพราะเขาเห็นว่าเรามีความชำนาญและทำได้ จริงๆ ถ้าลองคิดให้ดีมันก็เป็นอย่างนี้กับทุกงานนะ ทั้งงานประจำ ฟรีแลนซ์ หรือเจ้าของกิจการ

ยกตัวอย่าง ลูกค้าอยากกินกาแฟ ถ้าชงเองก็กลัวจะไม่อร่อย เลยต้องมอบหน้าที่ให้แก่บาริสต้าแทน บาริสต้าจึงมีหน้าที่สร้างผลงานให้ที่ดีที่สุด เพื่อแลกกับรายได้จากลูกค้าที่ยอมจ่ายในความพึงพอใจในรสชาติ

สรุปง่ายๆ งานของคนอื่นนี่แหละที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับตัวเรา ถ้าทำผลงานออกมาดี มูลค่าก็จะเกิดกับสิ่งที่เราทำ จะทำงานที่ไหนแบบไห เราก็ไม่สามารถหลีกหนีงานของคนอื่นไปได้หรอก จงยิ้มและรับ “งานของคนอื่น” มาด้วยความเต็มใจ เพราะทุกงานสามารถพัฒนาทั้งคุณค่าของตัวเรา และมูลค่าของงานให้กับเราได้เสมอ เพียงแค่นี้ “เงินที่รัก งานของเขาและความสุขของเรา” ก็จะเกิดขึ้นมาเอง

ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ