เราได้ยินคำว่าพอเพียงกันมานานแล้วผ่านสื่อช่องทางต่างๆ แต่เราอาจจะยังเข้าใจผิดหรือมีมุมมองต่อคำว่าพอเพียงที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เช่น พอได้ยินคำว่าพอเพียงก็จะนึกถึงเรือกสวนไร่นาทุ่งหญ้าสีเขียว นึกถึงการทำเกษตรปลูกผักเลี้ยงปลา แต่แท้จริงแล้วนั่นเป็นแค่หนึ่งในวิธีการใช้ชีวิตภายใต้แนวคิดพอเพียงเท่านั้น "พอเพียง" เป็นปรัชญา เป็นแนวคิด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกคน ทุกวัย ทุกอาชีพ ส่วนความหมายของคำว่าพอเพียง ลองอ่านแบบเต็มๆ ได้ที่เว็บนี้ http://goo.gl/xZAU9a   แต่ครั้งนี้เราจะนำเสนอความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่าพอเพียงที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่

1. พอเพียงไม่ได้เหมาะสำหรับเกษตรกรหรือคนชนบทเท่านั้น

พอเพียง ไม่ใช่เป็นไปตามภาพนาบ่อสวนที่เรามักเห็นจากสื่อต่างๆ จริงๆ แล้ว คนในเมืองก็สามารถพอเพียงได้เช่นกัน เพราะหลักการของพอเพียง คือ มีความพอประมาณ+มีเหตุผล+มีภูมิคุ้มกันตัว+ มีความรู้+มีคุณธรรม = เพื่อให้ชีวิตของเราทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมมีความสมดุลกัน พอมีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็จะไม่ได้รับผลกระทบร้ายๆ มากนัก เหมือนเรามีทางหนีทีไล่ที่เพียบพร้อม เมื่อเกิดวิกฤติเราจะไม่ล้มเจ็บหนัก

2. วิถีชีวิตแบบพอเพียงนั้นไม่ต้องออกจากเมืองใหญ่

เราไม่ต้องหนีออกจากเมืองใหญ่ไปทำเรือกสวนไร่นากลางป่าเขา จริงๆ แล้วอยู่ในห้างในคอนโดก็เข้าถึงวิถีพอเพียงได้ แค่เริ่มจากการใช้จ่ายไม่เกินตัว จดบัญชีรายรับรายจ่าย ใช้บัตรเครดิตแบบรู้ว่าเงินตนเองมีกี่บาทในบัญชี ไม่สร้างหนี้สิน ไม่กู้ยืมเงินใคร ใช้ชีวิตตามกำลังทรัพย์ที่ตนเองมีจริงๆ แค่นี้ก็ถือว่าดำเนินชีวิตด้วยหลักการพอเพียงแล้ว

3. ความพอเพียงไม่ได้ทำให้เรายากจนลง

จริงๆ แล้ว ถ้าเราพอเพียงจะทำให้เรารวยมากๆ เพราะเราจะใช้จ่ายไม่เกินตัวและมีเงินเหลือเก็บ นอกจากนี้การพอเพียงทำให้เรามีเหลือแบ่งเหลือแจก เมื่อยิ่งแบ่ง เราก็ยิ่งมีมิตรมาก เมื่อมีมิตรมากซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากกว่าเงินก็จะผันแปรออกมาเป็นเงินได้ เช่น จะทำธุรกิจค้าขายอะไรก็มีคนคอยช่วยเหลือ ตรงนี้นี่เองที่จะทำให้เรารวยมากจากวิถีพอเพียง นอกจากมีมิตรมากแล้ว เรายังไม่มีหนี้สิน ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้ใคร เราจึงมีชีวิตแบบไร้กังวล ไร้ดอกเบี้ย ไม่ต้องทำงานเพื่อจ่ายดอกเบี้ยให้ใคร ชีวิตเราจะมีงบการเงินเป็นบวกขึ้นอย่างเดียว อาจจะไม่รวยเร็ว แต่รวยอย่างยั่งยืนในระยะยาว รวยมั่นคงอย่างที่ใครๆ ใฝ่หา

4. พอเพียงไม่ใช่การหลีกหนีจากสังคม

พอเพียงไม่ใช่การอยู่คนเดียว ไม่ใช่การทำอะไรเองทุกอย่าง แต่พอเพียงสอนให้เรายืนหยัดได้ด้วยตนเอง ไม่พึ่งพิง (dependence) คนอื่นมากเกินไปจนกระทั่งถ้าเขาล้มเราก็ล้มตามไปด้วย พอเพียงบอกว่าเราต้องร่วมมือพึ่งพาอาศัยระหว่างกัน (interdependence) กับเพื่อนและสังคมภายนอกด้วยต่างหาก

5. คำว่าพอเพียงไม่ใช่ข้ออ้างสำหรับการท้อถอย

บางคนชีวิตการเงินและธุรกิจมีปัญหา แต่ไม่ลุกขึ้นมาแก้ไขอย่างจริงจังให้ผ่านพ้นไปได้ กลับนำคำว่า "พอ" มาใช้เป็นเหตุผลในการไม่ลงมือทำ เพื่อปกป้องจิตใจตนเองจากความล้มเหลว อย่าใช้คำว่าพอเพียงเป็นคำแก้ตัวในการไม่พัฒนาตนเอง

6. พอเพียงไม่ใช่การประหยัด ลดต้นทุน ไม่ใช่การใช้ชีวิตแบบ low cost เพียงอย่างเดียว

พอเพียงไม่ได้เกี่ยวแค่เรื่องการใช้จ่าย (Spending) เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงอีกมิติหนึ่งนั่นคือการหารายได้เพิ่ม (Earning) อีกด้วย การหารายได้อาจใช้เครือข่ายมิตรภาพที่เราเริ่มมาจากการแบ่งปันที่เคยกล่าวไปแล้วในข้อ3 แล้วแลกเปลี่ยนคุณค่าให้แก่กันและกันจนเกิดงาน เกิดเงินขึ้น อยากเชิญชวนให้พวกเราทุกท่านลองศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดูอีกครั้งว่าแท้จริงหมายถึงอะไร หากท่านรอบรู้จะทำให้กระจ่างว่าในภาวะโลกตอนนี้ ทำไมเราถึงต้องรู้และลงมือทำตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยเร็ว แล้วเราในฐานะประชาชนคนหนึ่งจะสามารถลงมือทำอะไรที่เป็นไปแนววิถีพอเพียงได้บ้าง ลองศึกษาและใช้สติปัญญาของท่านเองตริตรองดูเถิดนา