คิดว่าพวกเราคงจะเจอแบบนี้อยู่บ่อยๆครับ ที่เห็นราคาหุ้นตัวนึงอยู่ๆก็ขึ้นมาเยอะมาก ช่วงนั้นก็มักจะได้ยินประโยคเช่น "แพงไปแล้ว" หรือ "ยังไม่แพง ยังไปต่อได้อีกไกล" เคยสงสัยไหมครับว่า เขาดูจากอะไรที่บอกว่าถูกหรือแพง

(1) "ราคา" เทียบ "มูลค่าตามบัญชี"

จะถูกแพงดูจากมูลค่าตามบัญชีเป็นเกณฑ์ครับ ซึ่งถ้าเราสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีของบริษัท ก็เหมือนเราซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าทุนของเจ้าของอีก ส่วนใหญ่มักใช้ค่านี้ในการเลือกหุ้นถูก แต่ไม่ใช้ตัดสินหุ้นแพงครับ ซึ่งสัดส่วนนี้คิดมาจาก ราคาหุ้น (Price) หารหรือเทียบกับมูลค่าตามบัญชี (Book Value) โดยทั่วๆไปแล้วค่า P/BV นี้ยิ่งต่ำยิ่งดี ตัวเลขมาตราฐานที่มักใช้กันก็คือ 1 เท่า หากสามารถซื้อหุ้นที่มีค่า P/BV น้อยกว่า 1 ได้ก็เหมือนได้หุ้นถูก

(2) "ราคา" เทียบ "กำไรต่อหุ้น"

จะถูกแพงดูจากความสามารถในการทำกำไรของหุ้นครับ ถ้าเราสามารถหาหุ้นที่สามารถทำกำไรได้มาก เช่น ราคาหุ้น 100 บาท สามารถทำกำไรได้ร้อยละ 25 ทุกปี ก็เท่ากับถ้าเราถือยาว เติบโตไปกับธุรกิจเพียง 4 ปี กำไรที่ได้ทั้งหมดก็จะเท่ากับราคาหุ้นเมื่อสี่ปีก่อนครับ ซึ่งสัดส่วนนี้คิดจาก ราคาหุ้น (Price) หารหรือเทียบกับกำไรต่อหุ้น (Earnings per Share) โดยทั่วไปแล้วค่า P/E ยิ่งต่ำยิ่งดี และนักลงทุนอาจจะเทียบค่า P/E กับคู่แข่งที่อยู่ใน Sector หรืออยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อหาหุ้นที่มีความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่า

(3) "โอกาสที่จะกำไร" เทียบ "โอกาสที่จะขาดทุน"

จะถูกแพงดูจากสัดส่วนระหว่าง "กำไร" กับ "ความเสี่ยง" ที่ก่อนซื้อหุ้นหลายคนกำหนดขึ้นมาเลยครับ ว่าเราให้ความเสี่ยงกับเงินก้อนนี้เท่าไหร่ ถ้าซื้อ 100 บาท แล้วราคาไม่ขึ้น ลงมา 90 บาทเราจะมีวินัย ขายออกไป แต่ถ้าซื้อแล้วราคาไปถึงเป้าหมายที่เราจะขายที่ 150 บาท นั่นคือเราจะกำไร 50 บาท โดยมีความเสี่ยง 10 บาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 5 ต่อ 1 เท่า หลายๆคนเลือกหุ้นที่มีสัดส่วนกำไรสูงกว่า เพื่อจะหาหุ้นที่มีโอกาสกำไรได้มาก และขาดทุนได้น้อยครับ

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเลือกหุ้นแบบนี้ครับ นี่เป็นเพียงเงื่อนไขพื้นฐานที่พวกเราคุ้นเคยกัน บางคนอาจสนใจแค่บางข้อ หรือไม่เลือกหุ้นแบบนี้เลย อาจจะมีเงื่อนไขเฉพาะอื่นๆอีกหลายข้อครับ ว่าแต่!! ใครมีเงื่อนไขเด็ดๆ แชร์ได้นะครับ มาแบ่งปันความรู้กัน