เมื่อกิจการสักแห่งต้องการเงินทุนมาเพื่อขยายธุรกิจ ปกติแล้วจะสามารถหาเงินทุนได้จาก 3 แหล่งหลัก ๆ คือ เงินจากภายในกิจการ, กู้เงินจากสถาบันการเงินและการเพิ่มทุน

หากเป็นกิจการในตลาดหลักทรัพย์ฯ การขยายกิจการด้วยเงินทุนจาก 2 ช่องทางแรก อาจไม่ได้ส่งผลอะไรต่อราคาหุ้นมากนัก แต่หากบริษัทใดประกาศเพิ่มทุน ก็มักจะเป็นที่จับตามองและเป็นที่สนใจของสาธารณะ ถึงแผนการลงทุน วัตถุประสงค์ในการใช้เงินเพิ่มทุน ตลอดจนสัดส่วนของหุ้นเพิ่มทุนต่าง ๆ ซึ่งเหล่านี้ก็จะสะท้อนออกมาในราคาหุ้นที่ตอบสนองต่อข่าวการเพิ่มทุนในช่วงเวลาดังกล่าวนั่นเอง หากบริษัทหนึ่งมีกำไรต่อปีที่ 100 ล้านบาท และมีหุ้นจดทะเบียนอยู่ 100 ล้านหุ้น จะคิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 1 บาท ถ้าบริษัทนั้นเพิ่มทุนเป็น 200 ล้านหุ้น โดยที่มีกำไรเท่าเดิม กำไรต่อหุ้นจะลดลงมาเหลือ 0.50 บาท เนื่องจากมีตัวหารเพิ่มขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนไปใช้ขยายธุรกิจได้อย่างเหมาะสม และคุ้มค่าต่อเงินทุนมากพอ ในระยะยาวแล้ว กำไรของบริษัทก็จะเติบโตตามธุรกิจ และสุดท้ายผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นและผลประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่ผู้ถือหุ้นเช่นเดิม

และในวันนี้ มีบริษัทจดทะเบียนอีกแห่งในตลาดหลักทรัพย์ที่กำลังจะเปิดจองหุ้นเพิ่มทุนให้กับสาธารณะแล้ว นั่นคือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เป็นบริษัทผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูป โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 TOP มีกําลังการกลั่นน้ำมันดิบและวัตถุดิบอื่น ๆ ประมาณ 275,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นประมาณร้อยละ 22.1 ของกําลังการกลั่นทั้งหมดในประเทศไทยเลยทีเดียว

ธุรกิจหลักของ ไทยออยล์ แบ่งออกได้เป็น 8 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน, ธุรกิจปิโตรเคมี, ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน, ธุรกิจไฟฟ้า,ธุรกิจสารทําละลาย, ธุรกิจพลังงานทดแทน, ธุรกิจโอเลฟิน, ธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาด,และธุรกิจอื่น ๆ เรียกได้ว่าเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและปิโตรเลียมแบบครบวงจร

แต่ถึงแม้ ไทยออยล์ จะวางโครงสร้างธุรกิจไว้ได้อย่างรอบด้านแล้ว แต่เพราะธุรกิจคือโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไทยออยล์ จึงปรับตัวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา จากข้อมูลในหนังสือชี้ชวนที่ ไทยออยล์ นำส่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2565 ได้ร่วมลงทุนใน JSKem Private Limited (JSKEM) ซึ่งเป็นบริษัทจัดหาและจัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์และสารทำละลายในประเทศสิงคโปร์ รวมถึงมีมติอนุมัติการขายหุ้น GPSC ซึ่งประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการลงทุนต่อยอดธุรกิจโดยการลงทุนในหุ้นของ PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำรายใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อต่อยอดธุรกิจและขยายตลาดเข้าสู่ธุรกิจปลายน้ำมากขึ้น เพราะสินค้าปลายน้ำเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูงกว่า และสามารถนำพาธุรกิจของ ไทยออยล์ ให้มีศักยภาพการเติบโตได้ดีกว่าเดิม

โครงสร้างทางการเงินของไทยออยล์เป็นอย่างไร

ต่อไปนี้คืองบแสดงฐานะทางการเงินและงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จของ TOP งวด 6 เดือนแรกของปี 2565

งบแสดงฐานะทางการเงิน

สินทรัพย์รวม 443,278 ล้านบาท

หนี้สินรวม 292,665 ล้านบาท

ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ 148,158 ล้านบาท

หนี้สินสุทธิ 132,409 ล้านบาท

งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ (6 เดือนแรก ของปี 2565)

รายได้จากการขาย 258,397 ล้านบาท

EBITDA 35,357 ล้านบาท

กำไรสุทธิ 32,510 ล้านบาท

จากงบการเงิน 6 เดือนแรกของปี 2565 จะสังเกตเห็นได้ว่า ในส่วนของงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จของ ไทยออยล์ถือว่ายังเป็นกิจการที่มีความสามารถในการทำกำไรได้ดี ในส่วนของงบแสดงฐานะทางการเงิน จะเห็นว่าหนี้สินสุทธิต่ำกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ หรือคิดเป็นอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Debt to Equity Ratio) ประมาณ 0.9 เท่า ซึ่งนับว่าเป็นพัฒนาการที่ดีหากเทียบกับปีก่อน ๆ ที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ สูงกว่า 1 เท่า โดยอัตราส่วนที่ลดลงบางส่วนเกิดจากแผนจัดหาเงินทุนสำหรับการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาวของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวมีผลต่อการกู้เงินจากสถาบันการเงิน รวมถึงสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Ratings) การลดปริมาณหนี้ลง หรือเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นให้มากขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ ไทยออยล์ เป็นบริษัทที่มีความพร้อมต่อศักยภาพการเติบโตในอนาคต และมีความแข็งแกร่งทางการเงินควบคู่กันไปด้วย

เหตุผลที่ ไทยออยล์ ต้องเพิ่มทุน

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ผู้ถือหุ้น TOP ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 275,120,000 หุ้น จากเดิมที่มีหุ้นสามัญจดทะเบียนอยู่ทั้งหมด 2,040,027,873 หุ้น โดยหุ้นสามัญที่ออกใหม่นี้ จะเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป และผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น เป็นจำนวนไม่เกิน 239,235,000 หุ้น และอาจมีการพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) จำนวนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่เสนอขายครั้งนี้ โดยวัตถุประสงค์หลักของการเพิ่มทุนในครั้งนี้ก็คือ

1) ชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นบางส่วน เพื่อรองรับการลงทุนของบริษัทในธุรกรรมการซื้อหุ้นใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำรายใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซียและเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุนอื่น ๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่านี้ในอนาคต

2) สร้างความแข็งแกร่งทางการเงินโดย ไทยออยล์ ต้องการลดระดับหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้ลดลงจนอยู่ในระดับที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 เท่า หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือมีหนี้สินเท่ากับส่วนของผู้ถือหุ้น

3) รักษาอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต (Credit Rating) ให้อยู่ในระดับที่น่าลงทุน (Investment grade) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่บริษัทฯ มีสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง

การเพิ่มทุนครั้งนี้ นอกจากจะช่วยให้ฐานะทางการเงินของไทยออยล์ มีความมั่นคงแข็งแกร่งมากขึ้นแล้ว แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เป้าหมายของไทยออยล์ในระยะยาวคือต้องการเข้าไปสู่ตลาดของธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง อย่างเช่นการเข้าไปลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำรายใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย ที่เป็นการเข้าไปลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟิน ซึ่งช่วยสร้างโอกาสในการผลิตสินค้าขั้นปลายน้ำมากขึ้น, ธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นตามเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป และการเสาะหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็น New S-Curve เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโต โดยวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนทั้งสามข้อที่กล่าวมานั้นก็สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของ ไทยออยล์ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าการเติบโต อาจเป็นเรื่องของความมั่นคงแข็งแกร่งพอที่จะอยู่รอดให้ถึงวันที่การเติบโตนั้นเริ่มผลิดอกออกผล เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว การเติบโตอาจไม่มีประโยชน์เลย หากมาพร้อมความเสี่ยงที่บริษัทนั้น ๆ ต้องประสบปัญหาทางการเงิน หรือหนี้สินที่สูงไปจนส่งผลให้การเติบโตเป็นไปอย่างยากลำบาก หากมองอีกมุม การเพิ่มทุนของ ไทยออยล์ครั้งนี้ ก็อาจเป็นสัญญาณที่ดีว่าบริษัทกำลังเตรียมรากฐานให้แน่นพอเพื่อการขยายธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคต

สำหรับนักลงทุนที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ในงาน Retail investors roadshow ซึ่งไทยออยล์จะจัด Facebook live ในวันพุธที่ 7 ก.ย. 65 เวลา 15.00-16.30 ผ่านเพจ Thaioil https://www.facebook.com/ThaiOilPCL/ และ SCB Securities https://wwww.facebook.com/scbsecurities.thailand/

บทความนี้เป็น Advertorial