ในช่วงที่ผ่านมา เหตุการณ์น้ำท่วมในบ้านเราเกิดขึ้นบ่อยมากจนกลายเป็นภาพชินตา โดยเราสามารถเห็นได้จากทั้งทางโทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นยากที่จะประเมินมูลค่า มีทั้งค่าใช้จ่ายที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ค่าซ่อมรถ ซ่อมบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายแฝงที่มองไม่เห็นจากการหาที่อยู่ใหม่ชั่วคราว  ไปจนถึงการขาดโอกาสในการหารายได้ ซึ่งแม้ว่าเรื่องน้ำท่วมจะเป็นปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุม แต่เราสามารถควบคุมปัจจัยภายในได้ด้วยการหาวิธีรับมือเพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น จึงทำให้ประกันภัยกลายเป็น “ของมันต้องมี” !

วิธีบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันภัย 

ประกันภัยที่มีไว้เพื่อบรรเทาความเสียหายของทรัพย์สินที่เป็นบ้าน และรถยนต์ จากเดิมที่เราจะต้องจ่ายค่าซ่อมแซมเอง 100% อาจจะเหลือเพียง 20 - 30% เท่านั้น ทำให้สามารถช่วยเราประหยัดรายจ่ายได้ วันนี้ aomMONEY และนายปกป้องขอพาทุกคนไปดูกันว่า เราจะซื้อประกันภัยบ้านและรถยนต์แบบไหนดี ที่จะคุ้มครองเราเรื่องน้ำท่วมได้ อ่านต่อกันได้เลยครับ

ประกันภัยบ้านแบบไหนคุ้มครองน้ำท่วม

รู้จัก ‘ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย

ให้ความคุ้มครองครอบคลุมความเสียหายของทรัพย์สินจากเรื่องน้ำท่วม จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 ตัวอาคาร

ให้ความคุ้มครองสิ่งปลูกสร้างของเรา รวมไปถึงส่วนต่อเติมอาคาร แต่ไม่รวมฐานราก  เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ ตึกแถวสำหรับอยู่อาศัย ห้องชุดสำหรับอยู่อาศัยในแฟลต อาคารชุด คอนโดมิเนียม 

ส่วนที่ 2 เฟอร์นิเจอร์

ประกันภัยตัวนี้ยังให้ความคุ้มครองทรัพย์สินที่อยู่ภายในสิ่งปลูกสร้างด้วย เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องดนตรี เครื่องเสียง เครื่องครัว เครื่องนุ่งห่ม และทรัพย์สินอื่น ๆ 

แต่ก็มีทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในคุ้มครอง อย่างเช่น เงิน ทอง วัตถุโบราณ อัญมณี เอกสารทั่วไป ภาพเขียน หลักฐานทางการเงิน วัตถุระเบิด เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นต้นเพลิง

แม้จะชื่อว่า ‘ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย’ แต่ก็ให้ความคุ้มครองภัยอื่น ๆ ถึง 6 ประเภท ดังนี้

  1. ไฟไหม้ รวมถึงไฟไหม้ป่า พุ่มไม้ พงรก และการเผาป่าเพื่อปราบพื้นที่
  2. ฟ้าผ่า รวมถึงความเสียหายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกิดจากการลัดวงจรจากฟ้าผ่า
  3. การระเบิดทุกชนิด ยกเว้นการระเบิดที่เกิดจากอาวุธ
  4. ภัยจากยานพาหนะ การเฉี่ยว การชนของยานพาหนะ รวมไปถึงสัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น
  5. ภัยจากอากาศยาน วัตถุที่ตกจากอากาศยาน เข่น จรวดขับเคลื่อนด้วยตัวเอง หรือยานอวกาศ ยกเว้นจรวดที่เป็นอาวุธ
  6. ภัยเนื่องจากน้ำ (ไม่ใช่น้ำท่วมตามธรรมชาติ) เป็นอุบัติเหตุจากน้ำรั่ว น้ำล้นหรือไอน้ำจากท่อน้ำ ถังน้ำ ระบบทำความร้อน ระบบทำความเย็น ระบบปรับอากาศ เครื่องสูบน้ำ และรวมถึงน้ำฝนที่ไหลผ่านเข้าไปภายในอาคารจากการเสียหายของหลังคา หน้าต่าง ประตู วงกบประตูหน้าต่าง ช่องลม ช่องรับแสงสว่าง ท่อน้ำหรือรางน้ำ

และเสริมด้วยความคุ้มครอง 4 ภัยธรรมชาติ ดังนี้

  1. ภัยจากลมพายุ
  2. ภัยจากน้ำท่วม น้ำล้นหรือไหลออกจากทางน้ำปกติเป็นทางน้ำธรรมชาติ หรือทางน้ำที่สร้างขึ้น (ไม่รวมถึงรางน้ำบนหลังคา) ท่อน้ำสาธารณะแตก น้ำท่วมจากภายนอกของอาคารหรืออาคารที่เก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ รวมถึงน้ำท่วมอันเกิดจากลมพายุ น้ำป่า และโคลนถล่ม
  3. ภัยจากแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คลื่นใต้น้ำ สึนามิ เป็นน้ำท่วมที่เกิดจากภัยธรรมชาติ แต่ไม่คุ้มครองความเสียหายโดยตรงหรือโดยทางอ้อม ที่เกิดจากภัยแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิดที่เกิดจากวัตถุใดๆ จากอวกาศ
  4. ภัยจากลูกเห็บ น้ำฝน น้ำค้างแข็ง หิมะ ทราย หรือ ฝุ่นละอองไหลผ่านเข้าไปในอาคารตามร่องแตกร้าวของอาคาร สิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหายจากลูกเห็บโดยตรงเท่านั้น หรือน้ำจากเครื่องพรมน้ำหรือท่อน้ำอื่นๆ ที่เกิดเสียหายขึ้นเนื่องจากลูกเห็บโดยตรง

สรุปข้อมูลจาก www.oic.or.th/th/education/insurance/fire/for-housing

‘ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย’ เบี้ยประกันประมาณเท่าไหร่?

เบี้ยประกันที่อยู่อาศัยของแต่ละคนไม่เท่ากันต้องดูหลายปัจจัย เช่น

  • สถานที่ตั้งของที่อยู่อาศัย ถ้าอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมบ่อยๆ เบี้ยประกันจะสูงกว่า
  • ลักษณะของสิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้านปูนทั้งหลัง บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ บ้านไม้ทั้งหลัง ทำให้เบี้ยประกันไม่เท่ากัน

ถ้าต้องการรู้ว่าที่อยู่อาศัยของเรามีเบี้ยประกันประมาณเท่าไหร่ ต้องไปกรอกรายละเอียดของที่อยู่อาศัย เช่น ขนาดพื้นที่ใช้สอย จำนวนชั้น ลักษณะสิ่งปลูกสร้าง พื้นที่ตั้ง ส่วนต่อเติม ฯลฯ ในเว็บไซต์ของบริษัทประกันภัย เพื่อดูเบี้ยประกันที่ครอบคลุมความต้องการของเราได้มากที่สุด หรือถ้าต้องการรู้ข้อมูลเบื้องต้นของตัวประกัน ก็สามารถดูตัวอย่างแบบประกันสำเร็จรูปนี้เป็นแนวทางได้เลยครับ  

ตัวอย่าง แบบประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย บริษัท XXX วงเงิน 2,000,000 บาท เบี้ยประกัน 3,800 บาท ได้รับความคุ้มครอง ดังนี้

จากภาพนี้มีความคุ้มครองภัยธรรมชาติรวมภัยน้ำท่วมแล้ว 20,000 บาท/ปี แต่เจ้าของบ้านมองว่ายังไม่เพียงพอ จึงขยายความคุ้มครองเพิ่มเติม ภัยน้ำท่วมอีก 200,000 บาท 

ถ้าน้ำท่วมบ้าน เราจะเคลมประกันอย่างไร?

1. ถ่ายรูประหว่างน้ำท่วมและหลังจากน้ำลดแล้ว เพื่อเก็บภาพความเสียหายส่งให้บริษัทประกัน 

2. แจ้งบริษัทประกันให้เร็วที่สุดว่าที่พักอาศัยตนเองน้ำท่วม พร้อมกับเตรียมหลักฐานและเอกสารต่างๆให้บริษัท ดังนี้

  • เอกสารแสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน สำเนาโฉนดที่ดิน บัตรประชาชน กรมธรรม์
  • เอกสารเรียกร้องความเสียหาย แจ้งรายละเอียดของทรัพย์สินและมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น
  • นำหลักฐานภาพความเสียหายที่ถ่ายไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งภายในและนอกบ้านให้บริษัทประกัน
  • ถ้าเราทำประกันภัยบ้านหรือทรัพย์สินไว้กับบริษัทประกันภัยอื่นมากกว่า 1 บริษัท จะต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบด้วย

ประกันภัยรถยนต์ชั้นไหนที่คุ้มครองน้ำท่วม มีวิธีเคลมอย่างไร

ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ได้รับความคุ้มครองเรื่องน้ำท่วม

ส่วนประกันภัยรถยนต์ชั้น 2 , 2+ , 3 หรือ 3+ จะต้องซื้อเพิ่มเติมความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ (ภัยน้ำท่วม) จึงจะได้รับความคุ้มครองเรื่องน้ำท่วม

ประเด็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจะขึ้นอยู่กับตัวผู้ขับรถยนต์เองด้วย หากจอดรถไว้เฉยๆ แล้ว ‘น้องน้ำ’ บุกมาท่วมรถยนต์ หรือขับรถระหว่างฝนตกหนักแล้วน้ำค่อย ๆ ท่วมรถยนต์ บริษัทประกันมองว่าเราไม่ได้ตั้งใจ แบบนี้บริษัทประกันรับผิดชอบ

แต่ถ้าเรากำลังขับรถ เห็นน้ำท่วมอยู่ข้างหน้าแล้วตั้งใจขับรถลุยน้ำ คิดว่าจะผ่านไปได้ สุดท้ายรถยนต์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถลุยน้ำผ่านไปได้หรือดับกลางทาง ทางบริษัทประกันจะไม่รับผิดชอบเพราะเกิดจากความประมาทของเราที่เอารถยนต์เข้าไปเสี่ยงภัยครับ

ระดับความคุ้มครอง

แบ่งออกเป็น 2 แบบ

แบบที่ 1 : ความเสียหายรุนแรง ไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ 

รถยนต์ถูกน้ำท่วมจนไม่สามารถซ่อมให้กลับมาสภาพเดิมได้ หรือ ประเมินมูลค่าความเสียหายค่าซ่อมเกิน  70% ของมูลค่ารถยนต์ บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มตามทุนประกันที่ทำไว้

แบบที่ 2 : เสียหายเพียงบางส่วน

ถ้าประเมินว่ารถยนต์ซ่อมแซมแล้วสามารถกลับมาใช้งานได้ บริษัทประกันจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมให้

มาตรฐานค่าซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม

แบ่งเป็น 5 ระดับ

ระดับ A น้ำท่วมถึงพื้นรถยนต์

  • ประเมินค่าซ่อม 8,000-10,000 บาท 
  • มีรายการที่ต้องดำเนินการ 15 รายการ เช่น ตรวจสอบแบ็ตเตอรี่ (ถอดขั้ว/ตรวจสอบน้ำกลั่น/ไฟ-ชาร์จ) ทำความสะอาดตัวรถ ล้าง-อัด-ฉีด ขัดสี ถอดเบาะนั่ง หน้า-หลัง  ถอดคอนโซลกลาง (คันเกียร์) ถอดพรมในเก๋ง-ซักล้าง-ตาก-อบแห้ง ถอดคันเร่ง  (รถที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าและเซ็นเซอร์) ถอดลูกยางอุดรูพื้นรถและทำความสะอาด ล้างทำความสะอาดห้องเครื่อง-เป่าแห้ง ตรวจสอบทำความสะอาดระบบเบรก 4 ล้อ/ผ้าเบรก ทำความสะอาดสายไฟ-ปลั๊กไฟด้วยน้ำยาเคมีภัณฑ์ ตรวจสอบชุดท่อพักไอเสีย (แคทธาเรติค)

ระดับ B น้ำท่วมถึงเบาะนั่ง

  • ประเมินค่าซ่อม 15,000-20,000 บาท 
  • มีรายการที่ต้องดำเนินการ 26 รายการ เพิ่มเติมจาก 15 รายการในระดับ A คือ การถ่ายน้ำมันเครื่อง-เกียร์-เฟืองท้าย กรองน้ำมันเครื่อง-กรองอากาศ-กรองเบนซิน-กรองโซล่า ตรวจระบบจุดระเบิด หัวเทียน จานจ่าย หัวฉีด ตรวจสอบชุดเพลาขับ ถอดทำความสะอาดแผงประตูทั้ง 4 บาน ตรวจชุดสวิทซ์สตาร์ท-กล่องควบคุมไฟ- กล่องฟิวส์ ถอดทำความสะอาดไล่ความชื้นระบบเข็มขัดนิรภัย ถอดทำความสะอาดชุดมอเตอร์ยกกระจกไฟฟ้า ตรวจสอบทำความสะอาดเบาะ ถอดทำความสะอาด (ไดร์สตาร์ทและไดร์ชาร์จ) เพื่อไล่ความชื้น

ระดับ C น้ำท่วมถึงส่วนล่างของคอนโซลหน้า

  • ประเมินค่าซ่อม 25,000-30,000 บาท 
  • มีรายการที่ต้องดำเนินการ 39 รายการ เพิ่มเติมจาก ระดับ A และ B คือ ตรวจสอบชุดอีโมไรท์เซอร์/ระบบ GPS (ที่ติดมากับรุ่นรถ) ตรวจสอบไล่น้ำออกจากเครื่องยนต์ ท่อไอดี ห้องเผาไหม้ ตรวจสอบลูกปืนไดชาร์ท ลูกรอก ตรวจสอบทำความสะอาดระบบไฟส่องสว่าง (ไฟหน้า-ท้าย-เลี้ยว) ตรวจเช็คระบบขับเลี้ยวไฟฟ้า ถอดตรวจเช็คตู้แอร์ มอเตอร์   โบวเวอร์ เซ็นเซอร์ ถอดหน้าปัดเรือนไมล์ เกจ์ ถอดตรวจเช็คระบบไฟฟ้าและสายไฟขั้วต่างๆ ตรวจเช็คระบบเครื่องเสียง-วิทยุ-แอมป์-ลำโพง ตรวจเช็คระบบเบรก (ABS) ตรวจชุดหม้อลมเบรก/ แม่ปั้มบน-ล่าง ตรวจสอบลูกปืนล้อ-ลูกหมาก-ลูกยางต่างๆ ผ้าหลังคา/แมกกะไลท์

ระดับ D น้ำท่วมถึงส่วนบนของคอนโซลหน้า

  • ประเมินค่าซ่อมเริ่มต้นที่ 30,000 บาทขึ้นไป 
  •  มีรายการที่ต้องดำเนินการ 40 รายการ เพิ่มเติมจาก ระดับ A – C มา 1 รายการ คือ ทำสี (กรณีสีรถได้รับความเสียหาย) ซึ่งในกรณีนี้ทางบริษัทผู้รับประกันภัยอาจพิจารณาคืนทุนประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยก็ได้

ระดับ E รถยนต์จมน้ำทั้งคัน

  • ยากที่จะซ่อมแซมกลับมาได้เหมือนเดิม บริษัทประกันจะคืนทุนประกันภัยให้กับเจ้าของรถยนต์

สำหรับรถยนต์ที่ไม่ได้ทำประกันหรือทำประกันภัยแต่ยังไม่ครอบคลุม ก็สามารถดูรายการค่าใช้จ่ายมาตรฐานในการซ่อมรถยนต์นี้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้อู่ซ่อมรถยนต์เรียกค่าซ่อมเกินความเป็นจริง

วิธีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน กรณีรถยนต์ถูกน้ำท่วม

  • ถ่ายรูปขณะน้ำท่วมรถยนต์ว่าน้ำอยู่ระดับไหน หรือพยานยืนยันว่าน้ำท่วมรถ วัน เวลาและสถานที่เกิดเหตุ โดยเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุดไว้เป็นหลักฐาน
  • แจ้งบริษัทประกันให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ส่งหลักฐานรถที่ถูกน้ำท่วมเพื่อประเมินความเสียหาย
  • แจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน
  • เตรียมหลักฐานต่างๆ เพื่อเรียกร้องค่าสินไหม เช่น ใบขับขี่ บัตรประจำตัวประชาชน สำเนากรมธรรม์ประกันภัย และทะเบียนรถยนต์ ถ้ากรมธรรม์หายไปขณะน้ำท่วม สามารถติดต่อขอข้อมูลกรมธรรม์ได้ที่บริษัทประกันภัยหรือ คปภ.

สรุปว่

  • ในขณะที่ทรัพย์สินบ้านและรถยนต์ของเราได้รับความเสียหายจากเรื่องน้ำท่วม ประกันภัยเป็นเหมือนเกราะกันกระแทกที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้เราได้บางส่วน
  • ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ให้ความคุ้มครองเรื่องน้ำท่วม หากมองว่าวงเงินชดเชยไม่เพียงพอ สามารถซื้อวงเงินเพิ่มได้
  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 คุ้มครองเรื่องน้ำท่วม ส่วนประกันรถยนต์ชั้นอื่นๆ เช่น 2, 2+, 3, 3+ จะต้องซื้อเพิ่มเติมความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ (ภัยน้ำท่วม) จึงจะได้รับความคุ้มครองเรื่องน้ำท่วม

หากมีข้อสอบถามเพิ่มเติมหรือต้องการติดต่อหน่วยงานที่ดูแลด้านประกันภัย ติดต่อ สำนักงาน คปภ. 

>> FB : www.facebook.com/PROIC2012

>> เว็บไซต์ : www.oic.or.th

>> LINE @OICConnect

>> สายด่วน คปภ. 1186

บทความนี้เป็น Advertorial