สวัสดีครับกลับมาเจอกันอีกครั้งกับ Column “AomMoney News : Money News You Should Know” ใน AomMoney แห่งนี้ ... ที่จะทำหน้าที่สรุปทุกประเด็นข่าวการเงินสำคัญที่คุณต้องรู้ ทำให้ทุกคนเข้าใจทุกสถานการณ์การเงินกันแบบไม่มั่วนิ่ม ในภาษาที่เข้าใจง่าย อ่านแล้วเข้าใจ แชร์ไปได้บุญอีกต่างหาก (เกี่ยวมั้ย - -”)

สำหรับในตอนที่ 2 นี้ ยังคงอยู่กับผม “พรี่หนอม” TAXBugnoms ผู้ที่ไม่ยอมจบแค่เรื่องของภาษีและยังรับหน้าที่เขียนคอลัมน์นี้อีกด้วยครับ!!

หลังจากที่จบตอนที่ 1 ไปกับชื่อตอนที่ยาวเฟื้อยอย่าง 0001: สรุปทุกประเด็น E-Payment / AnyID / Promptpay : คืออะไร มีผลกระทบยังไง แล้วเราต้องเตรียมตัวกันอย่างไร ? ก็ได้เสียงตอบรับดีมากๆ แชร์กันไปกว่า 4 พัน วันนี้เรายังไม่จบกันกับประเด็นนี้ครับ เพราะยังมีกระแสของเรื่อง “ระบบพร้อมเพย์ หรือ PromptPay” ที่หลายๆธนาคารกำลังประกาศออกมาว่าให้เรารีบไปลงทะเบียนกันไวๆด่วนๆ คิดแล้วมันชวนสับสนเหลือเกินว่าจะไปลงที่ไหนดีกันล่ะเนี่ย

สำหรับประเด็นในวันนี้ เราจะมาดูกันต่อในเรื่องของ PromptPay และแนวคิดในการจัดการตัวเองเรื่องการลงทะเบียนใช้งานระบบนี้ ว่าจะทำให้ชีวิตของเราสะดวกขึ้นจริงไหมและอย่างไรบ้าง เอาล่ะ .. เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ

PromptPay คืออะไร?

พร้อมเพย์ หรือ Promptpay คือ วิธีการรับโอนเงินแบบใหม่ ที่จะมาแทนการใช้เบอร์บัญชีธนาคาร โดยเปลี่ยนใหม่เป็นการเชื่อมบัญชีธนาคารไว้กับ เลขประจำตัวประชาชน หรือ เบอร์โทรศัพท์ แทน ซึ่งจุดเด่นของพร้อมเพย์ก็คือ “ค่าธรรมเนียม” ที่ถูกโคตรๆ ตั้งแต่ฟรีไปจนสูงสุด คือ 10 บาทเท่านั้นเอง #แล้วที่ผ่านมาเราเสียค่าธรรมเนียมอะไรไปล่ะพี่ชายยยยยย

หมายเหตุ : เดิมพร้อมเพย์มีชื่อว่า เอนนี่ไอดี (AnyId) ซึ่งอ่านยากและทำให้งง เลยถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นพร้อมเพย์นี่แหละครับ ไม่ต้องงงกันไปนะครับผม

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่างๆ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ร่วมกันเปิดตัวบริการ PromptPay และให้เริ่มลงทะเบียนผูกบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์กับเบอร์บัญชีธนาคารได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2559 เป็นต้นไป (แต่มันวันหยุดธนาคารนี่หว่า ไม่เป็นไร ไปวันที่ 2 ก็ได้ครับผม) และคาดว่าระบบ Promptpay นั้นจะพร้อมใช้งานในเดือนตุลาคม 2559 ที่จะถึงนี้ครับ

ต้องเอาอะไรไปลงทะเบียนบ้าง?

โดยสิ่งที่เราต้องเตรียมสำหรับการลงทะเบียนใช้งาน PromptPay นั้น มีอยู่ 3 อย่างได้แก่ สมุดบัญชี/เลขที่บัญชีเงินฝาก (ออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน), เลขประจำตัวประชาชน และโทรศัพท์มือถือ (ต้องมีซิมในนั้นด้วยนะครับ)

ลงทะเบียนได้ที่ไหน?

สำหรับการลงทะเบียนนั้น สามารถทำได้ผ่านหลากหลายช่องทาง ตั้งแต่ สาขา, ตู้ ATM, WebsiteMobile Banking, Call Center และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะมีช่องทางที่แตกต่างกันไป อันนี้คงต้องดูว่าเราจะเลือกธนาคารไหน และลองตรวจสอบข้อมูลให้แน่ใจก่อนที่จะไปลงทะเบียนนะครับ

ลงทะเบียนได้กี่บัญชี?

สำหรับ “เลขประจำตัวประชาชน”  สามารถผูกได้เพียงบัญชีเดียวเท่านั้น แต่ "เบอร์โทรศัพท์มือถือ" นั้น บัญชีธนาคาร 1 บัญชีสามารถผูกกับเบอร์โทรศัพท์ได้สูงสุด 3 เบอร์ และในตอนนี้ ธนาคารยังไม่จำกัดจำนวนเบอร์โทรศัพท์ทั้งหมดที่สามารถผูกได้กับลูกค้าหนึ่งคนครับ

โดยระบบ Promptpay ในช่วงแรกจะยังใช้ได้เฉพาะการโอนเงินระหว่างบุคคลไปยังบุคคลเท่านั้น ยังไม่รองรับบัญชีนิติบุคคล และการรับโอนเงินสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ ซึ่งตรงนี้คงต้องติดตามกันต่อไปครับ

หมายเหตุ : ขอบคุณที่มาข้อมูลบางส่วนจาก Blognone เรื่อง สัมภาษณ์ KBank ตอบทุกคำถาม กับการโอนเงินผ่านระบบ PromptPay / Any ID

ลงทะเบียนแล้วเสียอะไรไหม?

โดยการลงทะเบียนทั้งหมดนีไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และไม่มีกำหนดปิดรับลงทะเบียนครับ สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป

ลงทะเบียนบัญชีไหนดี?

ดังนั้นเมื่อมาถึงตรงนี้ หลายคนคงคิดในใจว่า ชั้นมีบัญชีธนาคารเป็นสิบกว่าบัญชีเลยนะเฟร้ยยย (แต่ไม่มีตังค์ในบัญชี - -”) แบบนี้จะทำยังไงดีล่ะ!! เบอร์โทรศัพท์ก็มีเบอร์เดียว บัตรประชาชนก็มีแค่ใบเดียว เอาล่ะครับ ถึงคราวของ Money You Should Know ที่จะให้แนวคิดสั้นๆ ในการวางแผนสำหรับเรื่องนี้แล้วครับผม โดยขอแบ่งแนวคิดออกเป็นสั้นๆ 2 ข้อดังนี้ครับ

1. ถ้าเป็นการมีไว้ใช้งานทั่วไป

ผมมองว่าการผูกบัญชีธนาคารที่เราใช้เป็นประจำหลักๆ ไว้ 2 บัญชี น่าจะเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครับ โดยบัญชีแรกอาจจะเป็นบัญชีที่ไว้ใช้รับเงิน (จากการทำงาน) หรือใช้จ่าย และอีกบัญชีเป็นบัญชีไว้สำหรับการเก็บออมหรือลงทุน เพราะต้องมีการโอนเงินไปๆมาๆระหว่างกันสูง ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราประหยัดค่าธรรมเนียมได้มากเลยล่ะครับ (ถ้าใครเลือกทยอยโอนทีละ 5 พันไปเรื่อยๆก็จะไม่เสียค่าธรรมเนียมเลยครับ #แต่ต้องว่างหน่อยนะครับ)

2. ถ้าเป็นคนที่มีกิจการหรือทำธุรกิจต่างๆ

ควรแยกบัญชีส่วนตัวเป็นเลขบัตรประชาชน และบัญชีที่ใช้รับเงินจากลูกค้าเป็นเบอร์โทรศัพท์แทนครับ เพื่อความสะดวกในการแยกความเป็นส่วนตัวและการติดตามที่สะดวกกว่าครับ

จะผูกบัญชีดีไหม?

หนึ่งในคำถามยอดฮิตสุดคลาสสิกที่ถามกันเป็นประจำ ตั้งแต่บทความคราวก่อนว่าจะผูกบัญชีดีไหม รัฐอาจจะตรวจสอบเราได้ แบบนี้คงต้องจ่ายภาษีบานเลย คำตอบง่ายๆของผมก็คงเป็น “เอาที่สบายใจ” ครับ ถ้าใครคิดว่าการไม่ผูกแล้วยังสามารถหลบ เอ้ย ขายของได้ตามปกติ และมีความสุขกับสิ่งที่ทำ ผมว่ามันก็แล้วแต่สิทธิใครสิทธิมันนะครับผม

แต่ถ้าหากเลือกจะเข้าระบบแล้ว การใช้ระบบ Promptpay ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนซื้อมากขึ้น และเราในฐานะผู้ขายก็อาจจะได้รับโอกาสสร้างรายä