"กองทุนรวม" เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทหนึ่งซึ่งอธิบายได้อย่างง่าย คือ การนำเงินไปฝากผู้เชี่ยวชาญลงทุนนั่นเอง โดยกองทุนรวมมีลักษณะหลากหลาย ซึ่งแต่ละประเภทก็เหมาะกับนักลงทุนแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันออกไป การเลือกกองทุนรวมขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมายต่างออกไปในแต่ละบุคคล

 

ลงทุนศาสตร์ขอสรุป 10 ขั้นตอน การเลือกกองทุนรวมสำหรับผู้เริ่มต้นศึกษาการลงทุน ดังนี้

 

1 ดูนโยบายหลัก

นโยบายหลัก หมายถึง กองทุนรวมนั้นนำเงินของนักลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ไหน โดยสินทรัพย์หลักที่กองทุนรวมไปลงทุนมี 6 ประเภท ดังนี้

1.1 ตราสารเงิน : ลงทุนในเงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ระยะสั้น ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนประมาณ 1.5%

1.2 ตราสารหนี้ : ลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้บริษัทเอกชน ความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง ผลตอบแทนประมาณ 3%

1.3 อสังหาริมทรัพย์ : ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า โดยนำเงินค่าเช่ามาจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ลงทุน ความเสี่ยงปานกลาง ผลตอบแทนประมาณ 8%

1.4 ตราสารทุน : ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ความเสี่ยงปานกลางถึงสูง ผลตอบแทนประมาณ 12%

1.5 สินค้าโภคภัณฑ์ : ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำมัน ทองคำ ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนผันผวนตามราคาโภคภัณฑ์

1.6 ผสม : ลงทุนในสินทรัพย์ตั้งแต่ 1.1 - 1.5 ผสมกัน ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ

 

นักลงทุนควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่ตนเข้าใจ ภายในช่วงความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

 2 ดูนโยบายรอง

นโยบายรอง หมายถึง กองทุนรวมนั้นมีลักษณะการลงทุนที่พิเศษนอกเหนือไปจากนโยบายหลักอย่างไรบ้าง ซึ่งนโยบายรองเหล่านี้มักนำมาซึ่งผลตอบแทนที่แตกต่างกันในกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์เดียวกัน เช่น

  • กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน
  • กองทุนรวมที่ลงทุนเลียนแบบดัชนี MSCI
  • กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นขนาดเล็กถึงกลาง
  • กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นที่มีธรรมาภิบาลดี
  • กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศเฉพาะกลุ่ม HEALTH CARE
หลักการเลือกเหมือนกับนโยบายหลัก คือ ลงทุนในสิ่งที่เข้าใจ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

3 ดูเงื่อนไขทางภาษี

การลงทุนในกองทุนรวม LTF (Long Term equity Fund) และ RMF (Retirement Mutual Fund) เป็นการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยสามารถนำเงินลงทุนไปหักเป็นยอดค่าใช้จ่ายได้ ดังนั้น นักลงทุนจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อเงื่อนไขของการลงทุนควบคู่ไปกับการวางแผนการเงินและภาษีของตนเอง เพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์ของการลดหย่อนภาษีไป

 

นักลงทุนควรลงทุนในกองทุนรวมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยศึกษาเงื่อนไขการลงทุนในกองทุนแต่ละประเภทให้เข้าใจ

 

4 ดูพอร์ตการลงทุน

การดูพอร์ตการลงทุนของกองทุนรวมเป็นการตรวจสอบสุขภาพของกองทุนรวมโดยละเอียด นักลงทุนมือใหม่อาจข้ามข้อนี้ไปเนื่องจากใช้ความรู้การลงทุนขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง แต่สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนอยู่ในสินทรัพย์ประเภทอื่นหรือมีความรู้อยู่แล้ว นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการดูพอร์ตการลงทุนของกองทุนรวมด้วย โดยยกตัวอย่างภาพการติดตามพอร์ตของกองทุนรวม เช่น

  • กองทุนรวมตราสารเงินและตราสารหนี้ >>> โอกาสในการผิดนัดชำระของตราสารหนี้
  • กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ >>> อัตราการเช่า ลักษณะสิทธิ์การเช่า โอกาสในการขึ้นค่าเช่า
  • กองทุนรวมตราสารทุน >>> คุณภาพหุ้น มูลค่าหุ้น แนวโน้มการเติบโตของประเทศในอนาคต

 

นักลงทุนควรทำความรู้จักว่ากองทุนรวมที่สนใจลงทุนในสินทรัพย์อะไรอยู่บ้าง และสินทรัพย์นั้นมีแนวโน้มในอนาคตเป็นอย่างไร

 

5 ดูค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียมกองทุนนั้นถือเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญมากในการลงทุน เพราะมีส่วนกำหนดผลตอบแทนในอนาคต กองทุนรวมที่มีค่าธรรมเนียมมากจะทำให้ผลตอบแทนที่นักลงทุนควรจะได้รับต่ำลง เพราะต้องแบ่งเงินบางส่วนออกไปจ่ายเป็นค่าธรรมเนียม

นักลงทุนต้องเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมของกองทุนรวมก่อนการลงทุนทุกครั้ง ค่าธรรมเนียมนั้นไม่มีหลักตายตัวว่าควรอยู่ที่เท่าไหร่ ดังนั้น นักลงทุนต้องเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมจากกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกันและมีนโยบายใกล้เคียงกันเป็นหลัก

 

นักลงทุนควรเลือกกองทุนรวมที่มีค่าธรรมเนียมต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกัน

 

6 ดูผลตอบแทนย้อนหลัง

ผลตอบแทนย้อนหลังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์กองทุนรวม โดยส่วนใหญ่นิยมเปรียบเทียบผลตอบแทนกับดัชนีที่เหมาะสมเป็นหลักซึ่งต่างไปในแต่ละสินทรัพย์ เช่น

  • กองทุนรวมตราสารเงิน : ค่าเฉลี่ยดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุด 3 ธนาคารของประเทศ
  • กองทุนรวมตราสารหนี้ : ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล
  • กองทุนรวมตราสารทุน : ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุนอยู่ เช่น SET INDEX สำหรับหุ้นไทย S&P 500 สำหรับหุ้นสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนย้อนหลังไม่สามารถการันตีอนาคตได้ แต่ก็พอจะบอกได้ถึงความน่าจะเป็นของผลตอบแทนของกองทุนรวมนั้นเทียบกับดัชนีที่เหมาะสมกับสินทรัพย์ได้

 

นักลงทุนควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ได้รับผลตอบแทนเทียบกับดัชนีแล้วสูงกว่ากองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนใกล้เคียงกัน

 

7 ดูความเสี่ยง

ความเสี่ยงของกองทุนรวมเป็นสิ่งจับต้องได้ยาก หากนักลงทุนเข้าใจสินทรัพย์การลงทุนได้ดี นักลงทุนก็จะเข้าใจถึงปัจจัยความเสี่ยงจนเกือบจะเพียงพอแล้ว แต่ในกรณีที่ต้องการศึกษาเรื่องความเสี่ยงของกองทุนรวมที่สนใจให้มากขึ้น นักลงทุนสามารถศึกษาได้จากค่าที่เรียกว่า Sharp Ratio

Sharpe Ratio เป็นค่าทางสถิติที่คำนวณมาจากผลตอบแทนย้อนหลังเปรียบเทียบกับความผันผวนย้อนหลัง โดยหลักการคิดเบื้องต้นคือ จุดช่วงเวลาที่ Sharp Ratio เป็นบวก คือช่วงเวลาที่นักลงทุนน่าจะลงทุนในกองทุนนี้แล้วได้รับผลตอบแทนคุ้มค่ากับความผันผวน

กองทุน A ลงทุนในตราสารหนี้ Sharpe Ratio ของ 1 ปี 3 ปี 5 ปี เท่ากับ 1.01 1.05 1.1 ตามลำดับ

กองทุน B ลงทุนในตราสารทุน Sharpe Ratio ของ 1 ปี  3 ปี 5 ปี เท่ากับ -0.5 -0.15 0.5 ตามลำดับ

ข้อมูลดังกล่าววิเคราะห์ได้ว่า หากต้องการลงทุนในกองทุน B ควรถืออย่างต่ำ 5 ปี เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยง ในขณะที่กองทุน A สามารถถือลงทุนได้ทั้ง 1 ปีเป็นต้นไปก็คุ้มค่าความเสี่ยงทั้งสิ้น

 

Sharpe Ratio สามารถบอกความเสี่ยงของการลงทุนได้เพียงคร่าวๆ เท่านั้น การเข้าใจในสินทรัพย์ที่กองทุนรวมไปลงทุนจริงสำคัญกว่ามาก

 

8 ดูนโยบายจ่ายปันผล

ในกรณีที่เงื่อนไขการลงทุนตั้งแต่ข้อ 1 - 7 ต่างกันไม่มากนัก นักลงทุนสามารถเลือกนโยบายการจ่ายเงินปันผลตามความต้องการของตน

หากนักลงทุนต้องการกระแสเงินสดเพื่อใช้จ่าย นักลงทุนอาจเลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายปันผล แต่ถ้านักลงทุนไม่จำเป็นต้องได้รับกระแสเงินสด หรือได้รับเงินปันผลมาก็นำไปลงทุนซ้ำอยู่ดี นักลงทุนควรเลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายไม่จ่ายเงินปันผล เนื่องจากจะช่วยประหยัดภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ต้องจ่ายตอนจ่ายเงินปันผลได้

 

กองทุนที่มีนโยบายไม่จ่ายเงินปันผลจะประหยัดภาษีกว่ากองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ยกเว้น กรณีที่นักลงทุนสามารถขอคืนภาษีได้ทั้งหมด

 

9 ดูเงื่อนไขการซื้อ

กองทุนรวมแต่ละกองจะมีนโยบายสำหรับให้นักลงทุนซื้อหน่วยลงทุนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับบลจ.ที่จัดการกองทุนนั้นเป็นผู้กำหนด โดยเรื่องหลักที่ต้องดูมีดังนี้

9.1 จำนวนขั้นต่ำในการซื้อครั้งแรก

9.2 จำนวนขั้นต่ำในการซื้อครั้งถัดไป

9.3 สถานที่ซื้อ เช่น บลจ.โดยตรง ธนาคารที่เป็นนายหน้า ออนไลน์

9.4 วิธีการซื้อ เช่น จ่ายเงินสด ตัดบัตรเครดิต ตัดบัญชีแบบอัตโนมัติ

9.5 ราคาอ้างอิงของหน่วยลงทุนที่จะได้ โดยทั่วไปจะเขียนอยู่ในรูป T (วันที่ทำธุรกรรม) เช่น T + 2 หมายถึงราคาหน่วยลงทุนที่ได้จะเป็นราคาของหน่วยลงทุนของ 2 วันทำการที่ถัดไปจากวันที่ชำระเงิน เช่น ชำระเงินวันพฤหัสบดี ราคาหน่วยลงทุนที่ซื้อได้จะเป็นวันจันทร์ถัดไป

 

นักลงทุนต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขการซื้อก่อนลงทุนในกองทุนรวม

 

10 ดูเงื่อนไขการขายคืน

กองทุนรวมแต่ละกองจะ มีนโยบายสำหรับให้นักลงทุนขายคืนหน่วยลงทุนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับบลจ.ที่จัดการกองทุนนั้นเป็นผู้กำหนด โดยเรื่องหลักที่ต้องดูมีดังนี้

10.1 เงื่อนไขในการขายคืน เนื่องจากกองทุนรวมมีทั้งแบบเปิด (ขายคืนได้ตลอดเวลา) และแบบปิด (ขายคืนได้เมื่อครบอายุโครงการ) นักลงทุนต้องศึกษาเงื่อนไขของกองทุนรวมว่าสามารถขายคืนได้อย่างไร และในกรณีที่ต้องการขายกองทุนรวมปิดก่อนหมดอายุจะทำอย่างไร เช่น ซื้อขายผ่านตลาดรอง เช่น ตลาดหลักทรัพย์ ซื้อขายผ่านทาง OTC โดยมีบลจ.ช่วยหาผู้ซื้อให้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่นักลงทุนต้องศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุน

10.2 จำนวนขั้นต่ำในการขายคืน

10.3 สถานที่ขายคืน เช่น บลจ.โดยตรง ธนาคารที่เป็นนายหน้า ออนไลน์

10.4 วิธีการได้รับเงิน เช่น รับเป็นเงินสด รับเป็นเงินเข้าบัญชีธนาคาร รับเป็นเช็ค

10.5 ราคาอ้างอิงของหน่วยลงทุนที่จะได้ โดยทั่วไปจะเขียนอยู่ในรูป T (วันที่ทำธุรกรรม) เช่น T + 2 หมายถึงราคาหน่วยลงทุนที่ได้จะเป็นราคาของหน่วยลงทุนของ 2 วันทำการที่ถัดไปจากวันที่สั่งขายคืน เช่น สั่งขายคืนวันศุกร์ และวันจันทร์ถัดไปเป็นวันหยุดราชการ ราคาหน่วยลงทุนที่ขายคืนได้จะเป็นวันพุธถัดไป

10.6 จำนวนวันที่จะได้รับเงินคืน โดยทั่วไปเขียนอยู่ในรูปแบบของวันที่ T เช่นกัน

 

นักลงทุนต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขการขายคืนก่อนลงทุนในกองทุนรวม

 

เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่นักลงทุนควรทราบเกี่ยวกับกองทุนรวม คือ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมจะซื้อขายกันที่มูลค่าหรือราคาที่เรียกว่า NAV หรือ Net Asset Value ที่เกิดจากการคำนวณทรัพย์สินรวมของกองทุนเพื่อตีเป็นราคาในการซื้อขาย หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง NAV ก็คือ ราคาของหน่วยลงทุนกองทุนรวมนั่นเอง


กองทุนรวมถือเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้มีเวลาหรือความสนใจในการจะศึกษาเรื่องการลงทุนอย่างเต็มที่เพื่อจะลงทุนได้ด้วยตนเอง กองทุนรวมก็จะช่วยทุ่นแรงในการหาผู้จัดการกองทุนมาช่วยลงทุนและดูแลเงินของนักลงทุนให้

แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมนอกจากจะขึ้นอยู่กับผู้จัดการกองทุนแล้วยังขึ้นอยู่กับตัวนักลงทุนอีกด้วย เพราะถ้าเลือกกองทุนรวมถูกกองแล้ว ผู้จัดการกองทุนรวมที่ถูกคนก็จะพานักลงทุนไปยังเป้าหมายที่ต้องการ

 

ผลตอบแทนกองทุนรวมจะดีหรือไม่ ครึ่งหนึ่งในนั้นก็มาจากการตัดสินใจเลือกกองของนักลงทุนเอง

 

ลงทุนศาสตร์ - Investerest