เริ่มสงสัยแล้วใช่มั้ยคะว่า “ทำไมต้อง 200,000 บาท” อภินิหารเงินออมได้แนวคิดมาจากการใช้เงินครั้งสุดท้ายในชีวิตของเราที่คนอื่นจ่ายให้ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 200,000 บาท เรียกง่ายๆว่าเงินที่เตรียมไว้เผื่อ “อายุสั้น”


อายุของเราสั้นยาวไม่เท่ากัน

  • ถ้าเราอายุยืน : มีเวลาเหลือเฟือที่จะทำงานหาเงินมาดูแลครอบครัวได้ แนวคิด คือ หาวิธีเก็บเงินให้ยาวนานที่สุด เพื่อจะได้มีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณและเผื่อมีอายุยืนยาวกว่าที่คิดไว้ ตอนนี้หลายคนทำกันอยู่แล้ว เช่น การลงทุนกองทุนรวมหุ้น หุ้นรายตัว ทองคำ ฯลฯ


  • ถ้าเราโชคร้ายอายุสั้น  : รายได้ที่จะเข้ามาในอนาคตก็จะหายไปด้วย แล้วเงินก้อนสุดท้ายที่จะใช้เผาร่างกายของตัวเองและมีเงินบางส่วนดูแลครอบครัวน่าจะต้องใช้เงินขั้นต่ำ 200,000 บาท (จำนวนเงินควรปรับให้เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายในครอบครัวของตัวเองนะคะ)


ปล.ถ้าเรามีเงินจากสวัสดิการที่ทำงาน เช่น ค่าฌาปนกิจ ประกันสังคม ประกันกลุ่ม ฯลฯ มาดูแลเรื่องค่าจัดงานศพ เงินก้อน 200,000 บาทที่เราเก็บไว้นี้ก็จะกลายเป็นเงินที่ดูแลครอบครัว จ่ายหนี้บ้าน หนี้รถ ค่าเรียนลูก ฯลฯ


วิธีเตรียมเงินเผื่ออายุสั้นมี 2 วิธี 


แนวทางที่ 1 ทางตรง : เราเก็บเงินเอง

ควรเก็บไว้ที่ความเสี่ยงต่ำเพื่อรักษาเงินต้น เช่น ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง ฝากประจำ เงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน ไม่ควรเก็บไว้ที่ความเสี่ยงสูงอย่างเช่นการลงทุนหุ้น เพราะการลงทุนมีขึ้นและลง ถ้าบังเอิญเสียชีวิตตอนหุ้นตก เงินมูลค่า 200,000 บาทก็จะลดลงด้วย ความไม่แน่นอนเหล่านักลงทุนน่าจะทราบดีอยู่แล้วนะจ๊ะ


200,000 บาท เงินออมขั้นต่ำที่เราต้องมี!!

ที่มา : E-book วิธีจัดการเงินขั้นเทพ ฉบับลงมือทำ 


ตัวอย่าง การเก็บเงิน 200,000 บาทที่ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง 1.5% เวลาการเก็บ 3 ปีและ 5 ปี ทำให้เราต้องเก็บรายเดือนเท่าไหร่?

  •  เราต้องการเก็บเงินให้ได้ภายใน 5 ปี (60 เดือน) ควรเก็บเงินเดือนละ 3,212 บาท
  •  ถ้าต้องการเก็บเงินให้ได้ภายใน 3 ปี (36 เดือน) ควรเก็บเงินเดือนละ 5,435 บาท


ภายในเวลา 3-5 ปีที่เก็บเงินก้อนนี้ เราต้องดูแลตัวเองให้ดีเพื่อเก็บเงินให้ครบตามที่ตั้งใจไว้ แฟนเพจสามารถคำนวณเงินเก็บรายเดือนได้จากการใช้เครื่องคิดเลขทางการเงินที่แอดมินเคยรีวิววิธีการใช้งานไปก่อนหน้านี้ ในคลิปนี้ตั้งแต่นาทีที่ 17 https://bit.ly/3eNlfA5


แนวทางที่ 2 ทางลัด : เราโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกัน

เราซื้อประกันรถยนต์เพราะต้องการโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกันภัย เกิดเหตุรถชนประกันเข้ามาจัดการให้ การซื้อประกันชีวิตก็เช่นกัน เพราะเราต้องการโอนความเสี่ยงของชีวิตให้กับบริษัทประกัน เรามีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิต ประกันจ่ายเงินให้ตามแบบประกันที่เราซื้อ ซึ่งเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับจำนวนเงินความคุ้มครองชีวิต เพศและอายุ

จากแบบประกันทั้ง 5 แบบ คือ ชั่วระยะเวลา ตลอดชีพ สะสมทรัพย์ บำนาญและควบการลงทุน ซึ่งประกันแต่ละแบบเหมาะกับเป้าหมายการเงินแตกต่างกัน อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ เราเหมาะสมกับประกันชีวิตแบบไหน http://bit.ly/2kr0uUc ในตัวอย่างนี้เลือกแบบประกันที่ตอบโจทย์ความคุ้มครองสูง จ่ายเบี้ยประกันถูกและมีมูลค่าเงินสด คือ แบบประกันตลอดชีพ 


200,000 บาท เงินออมขั้นต่ำที่เราต้องมี!!

ที่มา : บทความเราเหมาะสมกับประกันชีวิตแบบไหน http://bit.ly/2kr0uUc


ตัวอย่าง นางสาวอภินิหารเงินออม อายุ 22 ปี ซื้อประกันชีวิตแบบตลอดชีพ 20/99 ความคุ้มครอง 200,000 บาท จ่ายเบี้ยประกันปีละ 3,086 บาท (เดือนละ 258 บาท) ระยะเวลา 20 ปี รวมจำนวน 61,720 บาท (แต่ละบริษัทเบี้ยประกันไม่เท่ากัน ควรสอบถามตัวแทนประกันของตัวเองนะคะ)


สิ่งที่จะเกิดขึ้น...

=> อายุสั้น : ถ้านางสาวอภินิหารเงินออมเสียชีวิตตั้งแต่อายุ 22 - 98 มีเงินค่าจัดงานศพตัวเองและดูแลครอบครัวแน่นอน 200,000 บาท

=> อายุยืน : ถ้าดูแลตัวเองดีถึงอายุ 99 มีเงินก้อนสุดท้ายดูแลตัวเอง 200,000 บาท (ถ้าจำเป็นต้องการใช้เงินก่อนอายุ 99 สามารถกู้กรมธรรม์หรือปิดแบบประกันนำเงินมาใช้ได้ ตามมูลค่าเงินสดในขณะนั้น)


ตอนนี้เราควรเริ่มทำอะไร

  • หลังจากทำงานมาหลายปีน่าจะมีเงินเก็บไว้หลายที่ สรุปทรัพย์สินในกระดาษหรือใน Excel ว่ามีอะไร เท่าไหร่ คิดมูลค่าปัจจุบันตามกำไรและขาดทุนที่เกิดขึ้น สาเหตุที่คิดมูลค่าปัจจุบันเพราะเวลาที่ครอบครัวได้รับมรดกของเราไปแล้ว แม้ว่าตอนนั้นกองทุนหุ้นยังขาดทุนก็จะขายเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย
  • ควรแบ่งทรัพย์สินออกมาว่าเงินแต่ละก้อนเก็บไว้เพื่อเป้าหมายอะไร เช่น เงินฉุกเฉิน เงินดูแลพ่อแม่ เงินเกษียณ เงินเผื่ออายุสั้น เงินค่าเทอมลูก ฯลฯ เพราะแต่ละเป้าหมายเก็บเงินคนละที่กัน ถ้ามีเงินสะสมเผื่ออายุสั้นเกิน 200,000 บาทแล้วก็อุ่นใจไปเก็บเงินเพื่อเป้าหมายอื่นต่อไป


สรุปว่า...

1. เราควรมีเงินออมขั้นต่ำ 200,000 บาท เอาไว้ดูแลร่างไร้วิญญาณเป็นครั้งสุดท้าย

2. วิธีการเก็บเงินมี 2 แบบ คือ ทางตรงที่เราเก็บเอง ทางลัดที่โอนความเสี่ยงให้บริษัทประกัน

3. เริ่มทำทันที ขอแค่เริ่มต้นจะใช้วิธีอะไรก็ได้ตามที่เราสะดวกเลยจ้า




PR :  E-book เล่มแรกของเพจอภินิหารเงินออม “วิธีจัดการเงินขั้นเทพ ฉบับลงมือทำ” เป็นความรู้การเงินและ Workshop เพื่อสร้างความเข้าใจและวิธีนำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวัน อ่านสารบัญของ E-book ได้ที่ลิงค์นี้นะคะ  https://bit.ly/3eeO33Q



เพจอภินิหารเงินออม