สวัสดีครับบทความตอนนี้ก็เป็นตอนที่ 3 แล้ว เนื้อหาของตอนนี้ยังคงเกี่ยวข้องกับ EMA (Exponential Moving Average) ซึ่งก่อนที่ผมจะแนะนำวิธีการแปลความหมายของกราฟเส้น EMA และการนำกราฟเส้น EMA ไปใช้งานเพื่อช่วยในการตัดสินใจซื้อขายหุ้นที่ถูกต้อง ผมขอเริ่มต้นจากวิธีการนำ EMA ไปใช้งาน ที่ไม่ถูกต้อง  แต่กลับเป็นวิธีที่ถูกแนะนำให้ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย และถ้าใครนำวิธีนี้ไปใช้ตัดสินใจซื้อขายหุ้นผมมั่นใจครับว่าคุณจะไม่ประสบความสำเร็จในการซื้อขายหุ้นอย่างแน่นอน

วิธีที่ไม่ถูกต้องในการนำเส้น EMA ไปใช้งาน คือ ลงมือซื้อหรือขายหุ้นโดยใช้เงื่อนไขของการตัดกันระหว่างกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือ การตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้นที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังไม่เท่ากัน เช่น

1) ลงมือซื้อหุ้นเมื่อเห็นว่ากราฟของราคาหุ้นตัดเส้น EMA ขึ้นไป

2) ลงมือขายหุ้นเมื่อเห็นว่ากราฟของราคาหุ้นตัดเส้น EMA ลงมา

3) ลงมือซื้อหุ้นเมื่อเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังสั้นกว่า ตัดเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังยาวกว่าขึ้นไป

4) ลงมือขายหุ้นเมื่อเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังสั้นกว่า ตัดเส้น EMA ที่คำนวณด้วยระยะเวลาย้อนหลังยาวกว่าลงมา   

ข้อสังเกตเกี่ยวกับราคาที่ลงมือซื้อหรือขายหุ้นจากการตัดกันของเส้น EMA 2 เส้นที่หลายคนมักจะเข้าใจผิด คือ เวลาที่ดูกราฟหุ้นพร้อมกับเส้น EMA 2 เส้นมักจะเข้าใจว่าราคาที่จะซื้อหรือขายหุ้นได้จะเป็นราคา ณ จุดที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน แต่ความจริงแล้วเราไม่สามารถซื้อหรือขายหุ้นได้ที่ราคาที่เป็นจุดตัดของเส้น EMA ทั้ง 2 เส้น

เคยซื้อขายหุ้นด้วยวิธีนี้แล้วได้กำไรนี่นา แต่ทำไม DaddyTrader ถึงบอกว่าเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ?

ที่ผมแนะนำว่าไม่ควรตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้นจากเงื่อนไข 1) กราฟราคาหุ้นตัดกับเส้น EMA หรือ 2) การตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้น เนื่องจากมีข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการใช้งานเส้น EMA ด้วยวิธีนี้ คือ บางครั้งก็นำไปใช้ซื้อขายหุ้นแล้วได้กำไรแต่บางครั้งก็ขาดทุน และถ้าใช้เงื่อนไขของเส้น EMA เพียงเงื่อนไขเดียวในการตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้นจะไม่ให้ผลกำไรที่ดีในระยะยาวเผลอๆ อาจจะขาดทุนเสียด้วยซ้ำ

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งานเส้น EMA ที่เราควรทราบ คือ การที่จะลงมือซื้อหรือขายหุ้นด้วยโดยใช้เงื่อนไขการตัดกันของกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือการตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้น เพียงเงื่อนไขเดียวแล้วจะได้กำไรหรือไม่นั้น  ขึ้นอยู่กับว่าทิศทางของแนวโน้มการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นหลังจากการตัดกันระหว่างกราฟราคาหุ้นกับเส้น EMA หรือการตัดกันระหว่างเส้น EMA 2 เส้น เป็นอย่างไร และแนวโน้มของราคาหุ้นจะมีความชัดเจนต่อเนื่องขนาดไหน

ถ้าการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นมีทิศทางที่ชัดเจนและต่อเนื่องหลังจากที่กราฟราคาหุ้นตัดเส้น EMA หรือหลังจากที่เส้น EMA 2 เส้นตัดกัน ไม่ว่าจะเป็นทิศทางแนวโน้มขาขึ้นหรือแนวโน้มขาลงก็ได้ วิธีการนี้จะสามารถนำไปใช้ซื้อขายหุ้นแล้วได้กำไรเป็นอย่างดี

แต่ถ้าทิศทางแนวโน้มการเคลื่อนที่ราคาของหุ้นไม่ชัดเจน คือ ไม่ขึ้นไม่ลง หรือที่เราเรียกว่า Sideways โดยเคลื่อนที่สลับขึ้นๆ ลงๆ เป็นฟันปลา วิธีใช้งานเส้น EMA แบบนี้จะเกิดสัญญาณหลอกให้ซื้อๆ ขายๆ บ่อยครั้งแต่ไม่ได้กำไร หรืออาจทำให้ขาดทุนได้