fundport-02

 

เนื่องจากช่วงนี้ ตลาดหุ้นขึ้นอย่างร้อนแรงทีเดียวครับ ผมเข้าใจว่าใครก็ตามที่เข้าซื้อกองทุนหุ่นหลังการรัฐประหารไป ช่วงนี้น่าจะได้กำไรกันพอสมควรเลยทีเดียวครับ เพราะว่าผมเห็นแต่หุ้นขึ้นเกือบทุกวันเลย ทำให้ผมเกรงว่าบางท่านทีเพิ่งลงทุนครั้งแรก หรือเริ่มต้นลงทุนจะลืมไปว่า กองทุนหุ้นก็มีขาลงได้เช่นกันนะครับ

ดังนั้นวันนี้ผมจะมาเล่าวิธีการปรับพอร์ตให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลาครับ เพื่อไม่ให้เราหลงไปกับตลาดหุ้นที่กำลังเป็นขาขึ้น (และไม่รู้ว่าจะลงเมื่อไหร่) หรือ ตลาดหุ้นเป็นขาลง( และไม่รู้ว่าจะขึ้นเมื่อไหร่)ครับ

เรามาเริ่มกันเลยครับ

การลงทุนเราควรที่จะต้องจับตาดูแลพอร์ต(Portfolio) หรือ สัดส่วนสินทรัพย์การลงทุนของเราให้ดีว่าผลตอบแทนนั้นได้ผิดเพี๊ยนไปจากเป้าหมายที่เราตั้งไว้รึเปล่าครับ ไม่ใช่ว่าเห็นผลตอบแทนดีในปีนี้ ก็เลยไม่สนใจ อาจจะทำให้ความเสี่ยงของพอร์ตเราเพิ่มมากขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้ครับ

สมมติว่า ช่วงนี้หุ้นดี สัดส่วนหุ้นในพอร์ตของเราก็จะเพิ่มมากขึ้นไปโดยปริยายครับ ถ้าเกิดปีหน้าหุ้นตกอย่างหนัก แน่นอนครับว่า พอร์ตของเรามี่หุ้นเป็นสัดส่วนที่มากอาจจะทำให้ขาดทุนได้มากขึ้นนั่นเองครับ

ในต่างประเทศมีการทดลองดูว่า ถ้าทิ้งพอร์ตไว้นาน ๆ หลายสิบปี ปรากฏว่า สัดส่วนของพอร์ตกลายเป็น หุ้น 99 % ครับ เพราะผลตอบแทนจากหุ้นย้อนหลังในสหรัฐจะเด่นกว่าสินทรัพย์อื่น ๆ จะเห็นว่าถ้าเกิเปีนี้ต้องใช้เงินฉุกเฉิน แต่หุ้นกลับล่วงลง 30 % บางท่านอาจจะไม่กล้าขายกองทุนออกมาใช้ก็เป็นได้ ใช่ไหมครับ

มีกรณีศึกษาที่ใช้ผลตอบแทนในอดีตมาจำลองการปรับพอร์ตที่น่าสนใจอยู่ครับ โดยส่วนใหญ่การทดลองจะดูว่า การทบทวนเป้าหมายนั้นต้องมีความถี่ หรือ บ่อยแค่ไหนครับ

ผลจากการทดลองปรากฏว่า การปรับพอร์ตที่ดีควรทำอยู่ทุก ๆ 6 เดือน ก็ได้ครับ( จริง ๆ 1 ปีก็ยังโอเคครับ) ทั้งนี้เพราะว่างานวิจัยได้ดูถึงผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมในการซื้อกองทุนครับ ถ้ายิ่งปรับบ่อย ก็จะทำให้ผลตอบแทนลดลงด้วยซ้ำและ โดยที่ความเสี่ยงไม่ลดลงเลย ในทางกลับกัน ถ้าเราปรับพอร์ตปีละครับ ปรากฎว่าค่าความเสี่ยง หรือค่าความผันผวนต่ำว่าปรับพอร์ตบ่อย ๆ ครับ และยังได้ประโยชน์ที่ไม่ต้องไปเสียค่าธรรมเนียมที่เยอะขึ้นด้วย

 

เทคนิคการปรับ Rebalancing Portfolio นั้นง่ายมากเลยครับ แค่ใช้วิธีการที่เรียกว่า “ซื้อของถูกเข้า ขายของแพงออก”

นั่นหมายความว่า สินทรัพย์ของกองทุนตัวไหนที่ NAV ขึ้นมาสูงก็ให้ขายออก หรือ สินทรัพย์ตัวไหนของกองทุนที่ NAV ลดต่ำลงก็ซื้อเพิ่ม เพื่อให้คงสภาพสัดส่วนเดิมไว้ครับ เช่น พอร์ตปกติของผมเป็น กองทุนหุ้น 70 % กองทุนตราสารหนี้ 30 % ต่อมาสิ้นปี หุ้นทำกำไรได้ดี พอร์ตเราหน้าตาเปลี่ยนเป็น กองทุนหุ้น75 % กองทุนตราสารหนี้ 25 % เราก็จะขายกองทุนหุ้นออกบางส่วน หรือ ซื้อกองทุนตราสารหนี้เข้ามาเพิ่มก็ได้ครับ ให้กลายเป็น กองทุนหุ้น 70 % กองทุนตราสารหนี้ 30 % เหมือนเดิม

 

 

หลายท่านอาจจะสงสัยว่า มีวิธีในการปรับ พอร์ต อย่างไรบ้าง ผมสรุปมาให้สั้น ๆ ดังนี้ครับ

 

fundport-01

 

1. ตั้งเวลา เช่น ตั้งไว้ว่าจะทำการปรับทุก ๆ สัปดาห์ เดือน ไตรมาส หรือ ปี ครับ

2. ตั้งเป้าหมาย เช่น ถ้า พอร์ตมีกำไร 5 %, 10 %, 15 % เราถึงจะทำการปรับพอร์ต 1 ครั้งครับ แต่ต้องระวังว่าถ้าตั้งเป้าหมายแบบสั้นเกินไปคือ 3% หรือ 5% อาจจะทำให้เราเสียค่าธรรมเนียมมากเช่นกันครับ อาจจะคุ้มกำไรก็ได้

3. ตั้งเวลา และเป้าหมาย เช่น ตั้งเป้าว่าถ้า พอร์ตมีกำไร 10 % และครบ 3 เดือนเมื่อไหร่ เราจะทำการปรับ พอร์ต 1 ครั้ง โดยที่กำไรต้องถึงตามทที่กำหนด ในวันที่กำหนดจะปรับพอร์ตด้วย หากอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงแต่อีกอย่างหนึ่งไม่ถึง เราก็จะไม่ทำการปรับพอร์ตในรอบนั้นครับ รออีกทีก็ 3 เดือนข้างหน้าครับ

 

แต่ถ้าเป็นมือใหม่การคำนวน และการคำนวนในปรับจะค่อนข้างคิดยากเล็กน้อย แต่ผมมีโปรแกรมพื้นฐานในรูปแบบ Excel มาแจกให้ฟรีครับ ส่งข้อความไปที่ https://www.facebook.com/fundclinicผมจะส่ง file ในการปรับพอร์ตแบบง่าย ๆ มาให้ครับ

ข้อควรระวังในการปรับพอร์ต

1. ระวังค่าธรรมเนียม อย่าปรับบ่อยเกินไป การปรับแบบทุกปีได้ค่าธรรมเนียมถูกสุด และช่วยทำให้ความผันผวนของพอร์ตลดลงได้บ้าง

2. แต่อย่าลืมว่าการปรับ พอร์ต ทำเพื่อ “ลดความเสี่ยง” ให้คงที่และเหมาะสมกับความเสี่ยงของเราแต่ ไม่ใช่เพิ่มผลตอบแทนให้สูงสุดนะครับ

 

วันนี้ผมคงต้องลาไปก่อนครับ แต่อย่าลืมนะครับ ช่วงนี้ตลาดหุ้นขึ้นมาก ก็ดูแลพอร์ตการลงทุนกันหน่อยนะครับ

อย่าดูแลพอร์ตตัวเองเฉพาะช่วงที่ขาดทุนนะครับ เพราะว่าเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุครับ

^_^