ช่วงนี้ผมเห็นกองทุนออกใหม่กันมาค่อนข้างเยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นต่างประเทศ กองทุนหุ้นในประเทศ กองทุน Target Fund กองทุนตราสารหนี้ต่าง ๆ ดังนั้นวันนี้ผมตั้งใจว่าจะมาคุยให้ฟังถึงวิธีการดู และ ตรวจสอบกองทุนที่เปิดใหม่เหล่านี้กับครับ ว่าจะพอมีวิธีการใดได้บ้างที่จะช่วยให้เราเลือกกองทุนได้ไม่ผิดวัตถุประสงค์ ลดความผิดพลาดในการซื้อกองทุนเปิดใหม่กันครับ ก่อนที่จะไปถึงตัวเนื้อหา เรามาพูดถึงแหล่งที่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนที่เปิดขายใหม่กันก่อนดีกว่า หลักๆ แล้วผมมักจะเข้าไปดูในเว็บไซต์ http://www.wealthmagik.com/Content/IPOList.aspx เพื่อนๆ ลองเข้าไปดูกันนะครับว่าช่วงนี้มีกองทุนไหนออกมาให้ เผื่อว่าจะโดนใจซักกองทุนครับ ^_^ คราวนี้เรามาดูกันถึงเรื่องที่ต้องรู้กันก่อนเลือกกองทุนเปิดใหม่ครับ
1. ใหม่ของน้อง เก่าของพี่
แน่นอนครับว่ากองทุนที่เปิดใหม่ของแต่ละ บลจ. อาจจะเป็นกองทุนที่เหมือน หรือ คล้ายกับกองทุนที่เคยเปิดมาแล้ว หรือ มีอยู่แล้วก็ได้ครับ ดังนั้นเราก็พอที่จะอนุมานได้ว่า ผลตอบแทนที่จะได้นั้น หรือ แนวโน้มผลการดำเนินงานนั้น อาจจะใกล้เคียงกันกับกองทุนที่เคยมีอยู่แล้วครับ บางครั้งอาจจะเทียบเคียงกันได้ด้วยซ้ำครับ ยกตัวอย่างเช่น กองทุนที่ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศอีกทีครับ(FIF) ซึ่งกองทุนในไทยส่วนใหญ่แล้ว จะไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศที่หน้าตา หรือ เป็นกองทุนมีรูปแบบการดำเนินงานที่คล้าย ๆ กันครับ เช่นเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือ บางครั้งก็ลงทุนในกองทุนตัวเดียวกันเสียด้วยซ้ำครับ ดังนั้น ถ้ากองทุนไหนเปิดใหม่ออกมา แล้วเราเห็นว่า ชื่อกองทุนแม่ หรือ Master fund ที่ไปลงทุนเป็นกองทุนเดียวกันกับกองทุนของ บลจ. อื่น เราก็สามารถเดาได้เลยครับว่า ผลตอบแทนของทั้ง 2 กองทุนนี้จะออกมาเหมือน ๆ กันครับ แต่อาจจะต่างกันเล็กน้อยในเรื่องของค่าธรรมเนียม และ การป้องกันความเสี่ยงของค่าเงินครับ และ โดยเฉพาะกองทุนแบบ Passive Fund (ใครไม่รู้จักลองอ่านที่นี่) ที่ผลการดำเนินงานนั้น เรียกได้ว่า มันควรที่จะ"เหมือนกัน"ครับ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่มีมานานเป็น 10 ปี หรือ เพิ่งจะเปิดมาไม่กี่วันก็ตามครับ แต่ต้องเป็น Passive Fund ประเภทเดียวกันนะครับ ยกตัวอย่างเช่น SET, SET50, SET100 และ S&P500 แต่สำหรับกองทุนแบบ Active Fund นั้น อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ครับ เพราะว่าแต่ละ บลจ. ก็จะมีแนวทาง หรือ แนวคิดในการลงทุนที่ไม่เหมือนกันครับ อันนี้คงดูได้ลำบากนิดนึงครับ รวมถึงต้องอ่านรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นครับ หรือ ถ้าเป็นไปได้โทรถามทาง บลจ. ผู้ออกกองทุนเลยก็ได้ครับว่า มีแนวคิดการลงทุนในกองทุนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ แต่เดี๋ยวเรามาดูวิธีการคัดกรองในขั้นถัดไปครับ 2. ผู้จัดการกองทุนเป็นใคร เป็นคนเดิมหรือไม่ ? ต้องบอกก่อนเลยครับว่า ผู้จัดการกองทุนเป็นคนสำคัญอย่างมากครับ สำหรับการเลือกกองทุน เพราะว่าเป็นคนที่ตัดสินใน เลือกสินทรัพย์ที่จะเข้ามาอยู่ในกองทุนนั่นเองครับ ถ้าผู้จัดการกองทุนเป็น"คนเดิม" หรือ เป็นผู้จัดการกองทุนที่เคยทำให้กองทุนเดิม ๆ หรือ กองทุนที่เคยเปิดมาก่อนหน้านี้มีผลตอบแทนที่ดี และสม่ำเสมอ ถ้ากองทุนที่เปิดใหม่มานั้น อยู่ในมือของผู้จัดการกองทุนคนเดิมแล้วละก็ ก็น่าที่จะไว้วางใจได้ ใช่ไหมครับ ?? แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้จัดการกองทุนชื่ออะไร และบริหารกองทุนอะไรมาบ้าง ? ผมพอที่จะมีวิธีครับ คือ เปิดดูหนังสือชี้ชวน หรือ รายงานประจำปี ก็ได้ครับ ว่าผู้จัดการกองทุนที่บริหารกองทุนเก่า ที่ทำผลตอบแทนได้ดีนั้น ชื่ออะไร และ ผู้จัดการกองทุนท่านนี้อยู่ หรือ บริหารกองทุนที่กำลังจะเปิดใหม่อยู่ด้วยรึเปล่านั่นเองครับ แต่ผมไม่ได้หมายความว่าผู้จัดการกองทุนหน้าใหม่ หรือ ไม่เคยบริหารกองทุนมาก่อนจะไม่เก่งนะครับ ถ้าสังเกตดี ๆ ผู้จัดการกองทุนหน้าใหม่บางคน อาจจะเป็นคนที่เคยร่วมทีมกับผู้จัดการกองทุนเก่ง ๆ มาแล้วก็ได้ครับ (รายชื่อทั้งหมดอยู่ในหนังสือชี้ชวน และรายงานประจำปีครับลองหาอ่านกันดูนะครับ) ถัดมาเป็นกองทุนที่ บลจ. ได้ "จ้าง" บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนมาเลือกหุ้น หรือ สินทรัพย์เข้าสู่กองทุนให้อีกทีครับ(เรียกได้ว่าเป็นผู้จัดการตัวจริงเสียงจริง) อันนี้ก็น่าสนใจเพราะว่าเราไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่า ที่ปรึกษาการลงทุนนั้น จะเลือกหุ้นอย่างไร มีที่ไปที่มาอย่างไร ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ เราก็ควรที่จะสอบถามทาง บลจ. ผู้ออกกองทุนว่า บริษัทที่ปรึกษานั้นชื่ออะไร่ เคยบริหารพอร์ตการลงทุนแล้วได้กำไรย้อนหลังเท่าไหร่ มีความชำนาญขนาดไหนครับ 3. แนวคิด แนวทางการลงทุน และ ลักษณะกองทุน แน่นอนครับว่า แต่ละกองทุนที่ออกมาใหม่ย่อมมีแนวคิด แนวทางการลงทุนที่ไม่เหมือนกัน(ยกเว้นกองทุนแบบ Passive) และยิ่งเดี๋ยวนี้มีกองทุนที่มีความคิดนอกกรอบมากขึ้น นักลงทุนหน้าใหม่ก็ยิ่งตัดสินใจได้ยากมากขึ้นครับ ดังนั้นถ้าเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ ผมแนะนำว่าให้ลงทุนกับกองทุนที่มีมานานแล้วนะครับ อย่าพึ่งข้ามขั้นไปลงทุนกับสิ่งที่เราไม่รู้จักครับ ส่วนนักลงทุนมือเก๋า เรามาดูกันครับว่ามีเกณฑ์ตัดสินกองทุนที่มีแนวคิดแตกต่างกันได้อย่างไร
1. กองทุนไปลงทุนกับอะไรบ้าง และความเป็นไปได้ของผลตอบแทน/ความเสี่ยงของกองทุน
แน่นอนครับ อันนี้เป็นพื้นฐานของการลงทุนทุกประเภทบนโลกใบนี้เลยครับ เราคงต้องดูว่ากองทุนไปลงทุนกับธุรกิจแบบไหน ความเสี่ยงคืออะไร และผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร อาจจะดูจาก ธุรกิจที่กองทุนเปิดใหม่ไปลงทุนด้วย และลองประเมินเองคราว ๆ ครับว่า กลุ่มธุรกิจที่กองทุนไปลงทุนนั้นมีแนวโน้มอย่างไร เช่น ถ้ากองทุนเปิดใหม่ไปลงทุนกับ เครื่องใช้ไฟฟ้า แล้วบอกเราว่า ....ผลตอบแทนมันจะมากกว่า 20 % ต่อปี เราจะเชื่อในสิ่งที่ผู้จัดการกองทุนพูด หรือ อธิบายให้เราฟังเหรอครับ ถ้าเป็นไปได้ผมจะขอให้อธิบายเพิ่มเติม หรือ หาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการตัดสินใจครับ เพราะว่าผมคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นไปได้ครับ แต่ถ้าได้เหตุผลที่ดีกลับมา อาจจะต้องมาคิด และพิจารณาเพิ่มเติมแล้วละครับว่า เราคิดไปในทางเดียวกันกับผู้จัดการกองทุนหรือไม่ การเป็นนักลงทุนที่ดี ต้องมีอาการ "เอ๊ะ...มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เหรอ" อยู่ตลอดเวลาครับ จะได้ไม่พลาดในการลงทุน หรือ แม้แต่การทำงานในชีวิตจริงครับ ส่วนกองทุนไหนที่กล้าบอกถึงความเสี่ยงของกองทุนอย่างเปิดเผย ผมว่าเป็นกองทุนที่น่าสนใจครับ เพราะว่าการลงทุนมีความเสี่ยง แต่ว่ากองทุนที่เราเลือกนั้นจะควบคุมความเสี่ยงอย่างไรมากกว่า ผมว่านี้คือประเด็นสำคัญของการลงทุนครับ ไม่ใช่มาบอกกับเราว่าไม่เสี่ยง และถึงแม้ความเสี่ยงจะต่ำมาก แต่ก็ควรที่จะบอกเราเช่นกัน เพราะว่าเราไม่รู้หรอกนะครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น
2. เราชอบสไตล์ทางการลงทุนแบบนี้หรือไม่
เนื่องจากว่าผู้จัดการกองทุนแต่ละท่านมีมุมมองต่อเศรษฐกิจ และ การลงทุนไม่เหมือนกัน เช่น ผู้จัดการกองทุนบางท่านชอบ สไตล์การลงทุนแบบถือนาน ๆ บางท่านชอบซื้อมา-ขายไป ดังนั้นเราควรที่จะทราบว่ากองทุนที่เราจะลงทุนนั้น ถูกจริตท่านหรือไม่ อย่างไรครับ ไม่ใช่ว่าลงทุนไปแล้ว ผลตอบแทนไม่ดี ก็ต่อว่าผู้จัดการกองทุนว่า ทำไมไม่ซื้อหุ้นดี ๆ เข้ากองทุน ถือหุ้นแบบนั้นไว้ทำไม ผมว่าแบบนั้นก็ดูใจร้ายกับผู้จัดการกองทุนเกินไปครับ เราคงต้องเลือกตั้งแต่แรกครับว่าชอบสไตล์การลงทุนแบบนี้หรือไม่ ถ้าเราฟังหรือ อ่านรายละเอียดของกองทุนแล้วรู้สึกดีกับแนวคิดการลงทุนที่ผู้จัดการกองทุนเสนอมา ผมว่าเราจะสบายใจกับการลงทุนในกองทุนที่เปิดใหม่มาอย่างแน่นอนครับ ถึงแม้ว่ามันจะทำผลตอบแทนได้ไม่ดี เพราะว่าเราเข้าใจมันดีว่าความเสี่ยงเป็นอย่างไร ใช่ไหมครับ ? มันเหมือนกับการรักใครสักคนแล้ว ถึงแม้เขาจะทำผิดเราก็ให้อภัย ......(หลายท่านคงคิดในใจว่า ไม่ขาดทุนได้จะดีกว่านี้ 55+) แต่ถ้าผลตอบแทนไม่ดีขึ้นนานเกินไป เราก็ควรคิดและเผื่อใจที่ต้องเปลี่ยนกองทุนนะครับ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)
สรุป
หลัง ๆ ผมเห็นกองทุนที่มีความคิดดี ๆ อยู่เยอะครับ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการทำกำไร อาจจะเป็นเพราะว่าลงทุนผิดพลาด หรือ ไม่เหมาะสมกับช่วงเวลาก็เป็นไปได้เช่นเดียวกันครับ ซึ่งอันนี้ผมคงแนะนำว่า ถ้าเราไม่มั่นใจจริง ๆ กับกองทุนเปิดใหม่ ก็ให้ลงทุนกับสิ่งที่เรียบง่าย เราทำความเข้าใจได้ง่าย และ เป็นกลุ่มธุรกิจที่เราเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ผมว่าแบบนี้เรามีโอกาสได้กำไรดีกว่าลงทุนอะไรใหม่ ๆ เท่ห์ ๆ แล้วเราไม่เข้าใจครับ สุดท้ายนี้ นักลงทุนก็อย่าลืมว่า ค่าใช้จ่าย และค่าธรรมเนียมของกองทุนนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันครับ ส่วนใหญ่กองทุนในช่วง IPO นั้น จะมีการลดค่าธรรมเนียมแรกเข้า หรือ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน (Front End และ Back End) แต่การลดค่าธรรมเนียมลงนั้น ไม่ได้เป็นส่วนหลัก ต้องอย่าลืมว่ามีค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนอยู่ด้วย ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมนี้คิดเป็น % จาก NAV ของเราครับ และเรียกเก็บทุกวัน ดังนั้นต้องระวังให้ดีนะครับ บางกองทุนยกเว้น Front-End แต่ เก็บค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนแพง ๆ อาจจะไม่คุ้มก็ได้ครับ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องค่าธรรมเนียมได้ที่นี่) ส่วนวันนี้ผมขอลาไปก่อนครับ ขอให้ทุกท่านโชคดีในการเลือกกองทุนเปิดใหม่ หรือ กองทุน IPO นะคร้าบบบ