tax last 3 months-02     สวัสดีครับ @TAXBugnoms ห่างหายจากการเขียนบทความใหม่ใน Aommoney.com เสียนาน วันนี้เลยถือโอกาสมาเขียนบทความเพื่อวางแผนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนให้เพื่อนๆพี่ๆน้องฟังอีกครั้ง เนื่องจากมีหลายๆคนบ่นมาว่า ใกล้จะสิ้นปีแล้วจะวางแผนภาษียังไงดี จะต้องทำยังไงสำหรับการเสียภาษีสำหรับต้นปีหน้า มีวิธีวางแผนภาษีดีๆเด็ดๆบ้างไหม เอาล่ะครับ หลายๆคนคงทราบดีว่าการยื่นภาษีสำหรับปี 2557 นั้นจะต้องยื่นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 (ยื่นแบบกระดาษ) และวันที่ 8 เมษายน 2558 (กรณียื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ต) โดยการวางแผนภาษีสำหรับปีนี้นั้น ขอแนะนำ 3 วิธ๊สั้นๆง่ายๆดังนี้ครับ   tax last 3 months-01  

1. คำนวณหารายได้ทั้งปีให้ถูกต้อง

ขั้นตอนแรก คือ "รู้ว่าตัวเองมีรายได้เท่าไร" นั่นคือ เราต้องคำนวณหารายได้ที่ถูกต้องของเราตลอดทั้งปีเสียก่อน เพื่อที่เราจะใช้ในการประมาณการรายการลดหย่อนต่างๆเพื่อวางแผนภาษีต่อไป ถ้าคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้อื่นด้วย อย่าลืมรวบรวมเอกสารหลักฐานจากการหัก ณ ที่จ่ายทั้งหลายที่ได้รับจากรายได้ ประเภทต่างๆ เช่น เงินปันผล ดอกเบี้ย หรืองานจ้างอื่นๆ เพื่อรวบรวมและจัดเก็บเอกสารให้ถูกต้องไปในคราวเดียวกันครับ  

2. จัดการวางแผนภาษีด้วยค่าลดหย่อนที่เป็นการลงทุน

สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ขออนุญาตแนะนำค่าลดหย่อนต่อไปนี้ครับ
  • LTF สำหรับการวางแผนลงทุนระยะยาวในหุ้น สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15% ของรายได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • RMF สำหรับการวางแผนเกษียณเพิ่มเติมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15% ของรายได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันแบบบำนาญ)
  • ประกันชีวิต + ประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนสูงสุด 300,000 บาท สำหรับประกันชีวิตทั่วไปจำนวน 100,000 บาท และประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของรายได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
สำหรับ @TAXBugnoms แล้วมองว่าสามตัวนี้ถือว่าเป็นสามทัพหลักในการประหยัดภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือน แต่ทีนี้ก็มักจะมีคำถามต่อมาว่า "ควรจะซื้อตัวไหนบ้าง อย่างไรบ้าง ตัวไหนดีกว่ากัน ฯลฯ" ขอให้แนวทางพิจารณาว่า ถ้าต้องการวางแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณให้เน้นน้ำหนักไปที่ RMF แต่ถ้าต้องการเน้นลงทุนระยะยาวประมาณ 5 ปี ให้เน้นน้ำหนักไปที่ LTF แล้วค่อยต่อยอดด้วยการป้องกันความเสี่ยงอย่างประกันชีวิตอีกทอดหนึ่งครับ ซึ่งตรงนี้ไม่มีสูตรตายตัว แล้วแต่ใครจะชอบแบบไหนมากกว่ากันครับ แต่ที่สำคัญก็คือ อย่าซื้อเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเด็ดขาด  

3. ทบทวน วางแผนการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีใน 3 เดือนหลัง

เมื่อวางแผนการลงทุนในข้อ 2 เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการวางแผนการลงทุนว่า เราจะลงทุนอย่างไรภายใน 3 เดือนหลัง บางคนอาจจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี ตรงนี้ก็ตรวจสอบให้ดีว่าช่วงเวลาที่เหลือจะปรับแผนการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้อย่างไรจากสิทธิในข้อ 2 ที่เรามีอยู่แล้ว ส่วนถ้าใครยังไม่มีหรือยังไม่ได้วางแผน นี่คือโค้งสุดท้ายที่จะลดหย่อนภาษีแบบง่ายๆด้วยการลงทุนแล้วนะครับ อย่ามัวแต่รอให้ถึงสิ้นปีแล้วค่อยจัดการ เราต้องวางแผนและจัดการให้เรียบร้อยก่อน จะได้ไม่มีปัญหา จริงไหมครับ อย่างไรก็ตาม อย่าลืมมองหาการลดหย่อนภาษีแบบอื่นๆด้วยนะครับ เช่น การบริจาค การลดหย่อนสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น สามี ภรรยา บุตร เลี้ยงดูบิดามารดา ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ฯลฯ ลองสำรวจตัวเองว่ามีสิทธิลดหย่อนแบบไหน และถ้ามีแล้วก็อย่าลืมใช้ด้วยนะคร้าบบบ     สุดท้ายนี้หวังว่าบทความนี้คงได้ประโยชน์สำหรับการวางแผนภาษีในโค้งสุดท้ายนะครับ และถ้าใครมีคำถามเกี่ยวกับภาษี อย่าลืมแวะมาพูดคุยกันได้ที่ AOmmoney Question นะคร้าบบ