แอดมินสรุปมาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับคนรอบข้าง เอามาเขียนทีละหัวข้อเพื่อให้แฟนเพจเห็นอีกมุมหนึ่งของแบบประกันชีวิตควบการลงทุน บางคนอาจจะเคยรู้แล้ว บางคนอาจจะรู้มาบ้างแล้วอยากรู้ให้ละเอียดมากขึ้นและภาพตัวอย่างจริงคืออะไร เพื่อเลือกใช้สินค้าการเงินนี้ให้เหมาะสมกับเป้าหมายการเงินของตัวเองได้ดีมากขึ้นนะคะ


3 ข้อควรระมัดระวังของประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked)


ข้อที่ 1 : ประกันชีวิตควบการลงทุน เป็นประกันชีวิต สร้างความคุ้มครองชีวิต ไม่ใช่การลงทุน

การลงทุน : เน้นทำให้เงินเติบโต

ถ้าเราซื้อกองทุนรวมก็จะต้องมีค่าธรรมเนียมที่จะต้องจ่าย 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจ่ายตอนที่เราซื้อ ขายหรือสับเปลี่ยนกองทุน อีกส่วนหนึ่งจะเก็บจากกองทุนรวม ระหว่างที่เราลงทุนก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทุกวัน ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีค่าธรรมเนียมไม่เท่ากัน เราสามารถอ่านได้ในหนังสือชี้ชวน


แปลว่า ถ้าเราซื้อกองทุนรวมก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตอนซื้อและระหว่างที่เราสะสมเก็บกองทุนรวมไว้ก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทุกวัน เราไม่รู้ว่าเป็นจำนวนเงินที่ต้องจ่ายต่อวันเท่าไหร่ แต่เราจะเห็นเป็นยอดเงินสุทธิแล้วในราคาตลาด (NAV) แตกต่างกันการลงทุนหุ้นที่จ่ายค่าธรรมเนียมเฉพาะตอนซื้อและขายเท่านั้น


ตัวอย่าง การลงทุนกองทุนรวมล้วนๆ ที่มีทั้งผลตอบแทนติดลบและกำไร 20%

3 ข้อควรระมัดระวังของประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked)https://www.facebook.com/miracleofsaving/photos/3592306160806975


ส่วนผลตอบแทนที่เราได้รับจากการลงทุนกองทุนรวม ขึ้นอยู่กับประเภทกองทุนรวมที่เราเลือก หากเลือกความเสี่ยงต่ำระดับ 1 - 4 เงินต้นขยับขึ้นลงเบาๆ ในขณะที่กองทุนรวมความเสี่ยงสูง 5 - 8 เงินต้นของเราขึ้นลงแรง ในระยะสั้นมีโอกาสกำไรและขาดทุน แต่ถ้าเก็บไว้ระยะยาวเกิน 10 ปีขึ้นไป โอกาสขาดทุนก็จะลดลง

ประกันชีวิตควบการลงทุน : เน้นความคุ้มครองชีวิต

เบี้ยประกันจะต้องหักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับประกันชีวิตก่อน เหลือเงินเท่าไหร่ค่อยนำไปลงทุนกองทุนรวม ส่วนค่าธรรมเนียมที่เราต้องจ่ายให้กองทุนรวมนั้น แต่ละบริษัทประกันมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน


เช่น บริษัทประกันที่มี บลจ. จัดการกองทุนรวมของตัวเองอาจจะเก็บน้อยหรือไม่มีค่าธรรมเนียมเรื่องกองทุนรวม ในขณะที่บริษัทประกันที่ซื้อกองทุนของ บลจ. อื่นๆ อาจจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหลายต่อก็ได้ ข้อมูลยิบย่อยตรงนี้ควรสอบถามถามตัวเแทนประกันที่แฟนเพจติดต่อเองนะคะ


แอดมินขอยกตัวอย่างจริงเกี่ยวกับการหักค่าใช้จ่ายของประกันชีวิตควบการลงทุน จากที่เคยเขียนไว้หลายเดือนที่แล้ว รีวิวประกันชีวิตควบการลงทุน ความคุ้มครองชีวิต 10,000,000 บาท จ่ายเบี้ยประกันปีละ 55,000 บาท หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเงินซื้อกองทุนรวม 21,287 บาท


ตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายประกันชีวิตควบการลงทุน 

3 ข้อควรระมัดระวังของประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked)

https://www.facebook.com/miracleofsaving/photos/3440550169315909


ถ้าแอดมินนำเงิน 55,000 บาท ไปซื้อกองทุนรวมหุ้น สมมติว่า 1 ปีผ่านไป (แบบยังไม่หักค่าธรรมเนียม)

=> ราคากองทุนรวมขึ้นไป 5% เงินก้อนนี้จะมีกำไรประมาณ 2,750 บาท เงินลงทุนทั้งหมดกลายเป็น 57,750 บาท

=> แต่ถ้าตลาดขาลงทำให้ขาดทุน 5% เงินลงทุนก้อนนี้จะเหลือ 52,250 บาท นี่เองที่เรียกว่าความเสี่ยงของการลงทุนที่ทำให้เงินต้นมีทั้งได้กำไรและขาดทุน


หาก 1 ปีผ่านไปแอดมินเสียชีวิต ถ้าตอนนั้นกองทุนรวมหุ้นมีกำไร แอดมินก็จะมีเงินให้ครอบครัว 57,750 บาท แต่ถ้าขาดทุนก็จะมีเงินก้อนนี้ให้ครอบครัว 52,250 บาท หากเงินก้อน 55,000 บาท ไปอยู่ในประกันชีวิตควบการลงทุน แอดมินก็จะมีเงินก้อน 10,000,000 บาท มาดูแลแม่และน้องชาย


ข้อนี้ทำให้เรารู้ว่าถ้าเราต้องการให้เงินเติบโต ควรเลือกกองทุนรวม แต่ถ้าต้องการความคุ้มครองชีวิต หากอายุสั้นกว่าที่คิดจะได้มีเงินมาดูแลครอบครัว ควรเลือกประกันชีวิตควบการลงทุน


ข้อที่ 2 : เบี้ยประกันลดหย่อนภาษีได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

หากใครมีเป้าหมายใช้ประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีเท่านั้น ควรเลือกแบบประกันทั่วไป เช่น แบบชั่วระยะเวลาที่มีความคุ้มครองเกิน 10 ปี แบบตลอดชีพ แบบสะสมทรัพย์ แบบบำนาญ เพราะเบี้ยประกันหักลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน


ในขณะที่ประกันชีวิตควบการลงทุน เบี้ยประกันจะหักลดหย่อนได้เพียงบางส่วน คือ ส่วนของความคุ้มครองชีวิต แต่ส่วนที่นำไปซื้อกองทุนรวมไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ละปีจะหักลดหย่อนไม่เท่ากัน ซึ่งบริษัทประกันจะส่งเอกสารมาให้เราดูว่าปีนี้เบี้ยประกันที่จ่ายไปจะลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่


ข้อที่ 3 : ประกันชีวิตควบการลงทุนไม่รับประกันผลตอบแทน

แบบประกันทั่วไปที่เราคุ้นเคยอย่างประกันตลอดชีพ ประกันสะสมทรัพย์ ประกันบำนาญ เรารู้แน่นอนตั้งแต่วันแรกที่เซ็นเอกสารว่าจะได้รับเงินคืนจำนวนกี่บาท ได้รับตอนอายุเท่าไหร่ ครบกำหนดได้รับเงินก้อนเท่าไหร่


เมื่อบริษัทประกันได้รับเบี้ยประกันไปแล้วก็จะนำเงินไปเก็บไว้ในความเสี่ยงต่ำ เพื่อรักษาเงินต้นและนำเงินมาคืนเราในอนาคตแน่นอน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ทำให้แบบประกันทั่วไปผลตอบแทนประมาณ 1 - 3%


ในขณะที่ประกันชีวิตควบการลงทุน มีส่วนของการลงทุนกองทุนรวม ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับกองทุนรวมที่เราซื้อมีตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำไปถึงสูง ผลตอบแทนจึงไม่แน่นอน ในระยะสั้นมีโอกาสทั้งกำไรและขาดทุนก็ได้ ซึ่งประกันชีวิตเราเก็บระยะยาวไว้มากกว่า 10 ปีอยู่แล้ว โอกาสขาดทุนก็จะลดลง


สรุปว่า...

เมื่อสินค้าการเงินแต่ละแบบไม่เหมือนกันกัน จึงเหมาะกับเป้าหมายการเงินที่แตกต่างกัน ถ้าเราเข้าใจจุดแข็งและข้อควรระวังของแต่ละสินค้าการเงิน ก็จะเลือกได้ตอบโจทย์ชีวิตมากขึ้นนะคะ

 

------------

ขอบคุณแฟนเพจที่สนับสนุนนะคะ

=> สั่งซื้อหนังสือวิธีจัดการเงินขั้นเทพ ฉบับลงมือทำ , จอง Workshop , คอร์สออนไลน์สอนเขียนเรื่องการเงิน อ่านรายละเอียดได้ที่ลิงค์นี้นะจ๊ะ

https://web.facebook.com/miracleofsaving/photos/a.641428715894749/3570624459641812/

 #อภินิหารเงินออม #วิธีจัดการเงินขั้นเทพ