ผมเชื่อว่า “แผนการลงทุน” เป็นเรื่องที่คนไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจเยอะขึ้นกว่าเมื่อก่อนแล้ว ดูจากการขยับขยายช่องทางของสื่อต่างๆ และธุรกิจสถาบันการเงินก็เน้นออกสินค้าการลงทุนมาเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการที่หลากหลายของคนไทย

แต่จะเลือกลงทุนสินค้าตัวไหนดี อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและเป้าหมายทางการเงินของแต่ละคนกันแล้วแหละ ไม่ใช่ว่าซื้อตามๆกันเพราะ ”เค้าบอกว่าดี” !!

การวางแผนลงทุน อย่างแรกเลยคือต้องตอบโจทย์ “เป้าหมาย” ที่ต้องการเป็นหลัก จะได้รู้ไงครับ ว่าเราลงทุนไปเพื่ออะไร อย่างเช่น อยากมีเงิน 10 ล้านภายใน 10 ปีข้างหน้า, อยากเกษียณแล้วใช้เงินปีละ 1 ล้าน ตอนอายุ 50 ปี อะไรประมาณนี้

เมื่อกำหนดโจทย์หลักได้ ก็ค่อยมองไปที่เรื่องต่อมาคือ “สถานะที่เป็นอยู่และความเสี่ยงที่รับได้” อันนี้เป็นเรื่องของปัจจุบันล้วนๆแล้วครับ เราต้องรู้ว่าจุดที่ยืนอยู่กับเป้าหมายมันห่างกันแค่ไหน มีข้อจำกัดในการลงทุนอะไรบ้าง และรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด ถ้าไม่รู้ก็จะสร้างแผนการลงทุนให้ตัวเองได้ยากครับ

เมื่อรู้ทุกอย่างข้างต้นแล้วก็ เดินหน้าจัดพอร์ตการลงทุนได้เลยครับ ซึ่งวิธีการหลักคือการเฟ้นหาสินค้าการลงทุน และจัดพอร์ตให้มีความเสี่ยงที่ตัวเราเองรับได้ (อย่างสบายใจด้วยนะ) แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุด

แต่ในการเลือกสินค้าการลงทุนมาทำให้พอร์ตสมบูรณ์แบบมากขึ้น เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องไหนเป็นหลักล่ะ งั้นเรามาดูกันว่า การติดสปีดให้พอร์ตการลงทุนนั้นต้องอาศัยปัจจัยอะไรบ้าง

ผลตอบแทนดีๆ หนีภาวะเงินเฟ้อ

เรื่องนี้ขอพูดก่อนละกัน เพราะเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนคาดหวังจากมันมากที่สุด อ่ะ...หรือไม่จริง!?

เคยมีคำกล่าวว่า “ออมก่อนรวยกว่า” แต่ผมว่า ถ้าออมก่อนแต่วางเงินไว้ผิดที่ ก็สู้ “ออมทีหลังแต่ผลตอบแทนสูงกว่า” ไม่ได้อยู่ดี

ผมขอหยิบ “กฏของเลข72” มายกตัวอย่างให้ดูนะครับ กฏนี้มันบอกไว้ว่า ถ้าเอาเลข 72 ตั้ง แล้วเอาผลตอบแทนเฉลี่ยที่คาดหวังต่อปีมาหาร ก็จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นจำนวนปีที่เงินลงทุนเริ่มต้นจะเติบโตเป็น 2 เท่าด้วยดอกเบี้ยทบต้น (ไม่ได้มีการออมเงินเพิ่มในระหว่างทาง)

ซึ่งถ้าเราฝากประจำกับธนาคาร 1 ล้านบาท ได้รับดอกเบี้ยทุกปีปีละ 2% ใช้กฎ 72/2= 36 ปี !!! แต่ๆๆๆๆ

ถ้าเรานำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมได้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ 8% ใช้กฏ 72/8= 9 ปี เท่านั้น

เงิน 1 ล้านจะเพิ่มเป็น 2 ล้าน ซึ่งถ้าเป็นระยะเวลาเท่ากัน เงิน 1 ล้าน ผ่านไป 36 ปี ลงทุนแบบลืมๆไว้ จะกลายเป็นเงิน 16 ล้านแบบงงๆ เห็นได้ชัดเลยว่าผลตอบแทนมีผลกระทบต่อเงินลงทุนอย่างมาก!!

ระยะเวลาในการลงทุน ลงทุนก่อนได้เปรียบ

ปัจจัยต่อมาคือเรื่องของระยะเวลา เรื่องนี้คือสิ่งที่นักลงทุนต้องคำนึง เพราะแผนการลงทุนจะถูกกำหนดขึ้นมาตามเป้าหมาย ถ้าเป้าหมายที่วางไว้เป็นแบบระยะยาว เงินลงทุนก็ยิ่งเติบโตเยอะขึ้นจากระยะเวลาที่มีมากขึ้น

มันก็เลยเป็นที่มาของคำว่า “ออมก่อนรวยเร็วกว่า” เป็นเรื่องของการใช้เวลาในการออมและลงทุน

สมมติกรณีศึกษาเป็น นาย X และ Y

ถ้านาย X เริ่มลงทุนก่อนตั้งแต่อายุ 25 ปี ต้องการเกษียณอายุตอน 60 ปี ด้วยจำนวนเงิน 20 ล้านบาท และลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี โดยออมเงินเดือนละ 10,000 บาทแบบชิลๆไปเรื่อยๆ นาย X จะมีเงิน 20 ล้านได้ตามเป้าหมายทันที !!

แต่นาย Y เริ่มต้นออมเงินตอนอายุ 35 ปี เพราะก่อนหน้านี้มัวแต่จับจ่ายใช้สอย เปย์แล้วเปย์อีก นายY เพิ่งรู้ตัวตอนอายุ 35 ปี จึงเริ่มออมเงิน หากมีเป้าหมายที่ 20 ล้านบาทเท่ากันและหาผลตอบแทนได้เท่ากับ X ชัดเจนเลยว่า Y เริ่มช้ากว่าจึงต้องออมเงินเดือนละ 20,000 บาท จึงจะเกษียณอายุได้ตามเป้าหมาย

เห็นมั๊ยว่า..วางเงินถูกที่แล้ว แต่ออมทีหลัง ก็เหนื่อยกว่ากันถึงสองเท่า!!! ดังนั้นลงทุนให้ได้ผลตอบแทนดี ตามที่เราสบายใจ และเริ่มลงทุนให้เร็วที่สุด นั่นแหละคือ คำตอบสู่ความมั่งคั่งนะครับ

Asset Allocation วางเงินให้ถูกที่ ชีวิตก็ดีได้

นอกเหนือจากสองปัจจัยบน ผมยังให้ความสำคัญกับเรื่องวิธีการลงทุนด้วย เพราะส่วนตัวผมเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับอัตราผลตอบแทนต่อปีเป็นหลัก จริงอยู่..ยิ่งผลตอบแทนสูงยิ่งดี แต่ก็อย่าลืมว่ามันมีความเสี่ยงและความผันผวน ให้เราต้องคำนึงถึงด้วย

ยิ่งผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็จะยิ่งสูงตาม ไปไหนไปกัน จะว่างั้นก็ได้ ..

ผมไม่ชอบเห็นพอร์ตการลงทุนสวิงไปมา ปีนึงบวกกระจาย!..อีกปีนึงติดลบตามตลาดหุ้น ผันผวนขึ้นๆลงๆแบบนี้ผมไม่เอาด้วยหรอก การกระจายความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำสำหรับผม (และนักลงทุนหลายๆคน)

จะดีกว่ามั๊ย? ถ้าเรากำหนดนโยบายการลงทุนขึ้นมา และระบุน้ำหนักของการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์เป็นร้อยละของพอร์ตโฟลิโอ อย่างเช่นให้หุ้นเป็น 50% ของพอร์ต อีก 40% เป็นกองทุนรวม และ 10% เป็นเงินสดสภาพคล่อง (อันนี้ตัวเลขสมมตินะครับ)

เพื่อไม่ให้ผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนผันผวนจนเกินไป จึงกระจายความเสี่ยงจากหุ้นไปยังกองทุนรวมต่างๆ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้,อสังหาริมทรัพย์ หรือแบบผสม เป็นต้น ซึ่งแต่ละ Asset class ก็ต้องจัดน้ำหนักการลงทุนภายในกันอีทีนึง

Rebalancing Portfolio ก็สำคัญอย่างที่เคยเขียนไว้ในบทความก่อนๆ เพราะวิธีนี้ช่วยให้พอร์ตการลงทุน เกิดผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ ให้น้ำหนักพอร์ตโฟลิโอของเราเป็นไปตามนโยบายและกลยุทธ์ที่วางไว้ ไม่มีการกระจุกตัวของ Asset Class ตัวใดตัวหนึ่งเป็นพิเศษ (ตามอ่านบทความเก่าได้ที่นี่ครับ)

ซึ่งการทำ Asset Allocation ช่วยให้เราคาดคะเนผลตอบแทนเฉลี่ยที่พอกันทุกปีได้ แล้วแผนการลงทุนจะเสถียรมากขึ้น รวมถึงนักลงทุนก็จะสบายใจได้จากการลงทุนตามความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ด้วย