ความน่าเบื่อคืออารมณ์ ถ้าเราตกเป็นเหยื่อของอารมณ์ เราจะแก้ไขปัญหาไม่ได้เลยถ้าเอาแต่โวยวาย ดังนั้น วันนี้เราจะมาจัดการเรื่องอารมณ์กันก่อน และสิ่งแรกที่เราต้องรู้คือ เราไม่ได้เป็นอยู่คนเดียว! เป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็เจอ แต่เราจะไม่ปล่อยให้มันอยู่กับเราตลอดไปเมื่อเราไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มาก สุดท้ายเราจะแก้ไขได้ค่ะ

การแก้ไขต้องเริ่มที่กำลังใจ ถ้าเราไม่มีกำลังใจ เราจะสู้อะไรไม่ได้เลย เพราะต่อให้เราได้สิ่งที่ดีที่สุดมาครอบครอง เราก็จะไม่มีเรี่ยวแรงในการลุกขึ้นจากเตียงไปแก้ไขปัญหาได้เลยค่ะ  มนุษย์ทำหลายๆ อย่างในโลกใบนี้ได้จากกำลังใจ คนเราสามารถสร้างกำลังใจให้ตัวเองได้

ส่วนเรื่องของความเหนื่อย ความท้อนั้นมันเกิดขึ้นได้ และเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เราสามารถหายจากภาวะเหล่านั้น แค่พัก และตั้งสติคุยกับตัวเอง กำลังใจสร้างเองได้ เช่น ถ้าเรามีลูก จงมองหน้าลูก ลูกไม่ใช่ภาระแต่คือกำลังใจ ถ้าเรามีพ่อแม่ที่แก่ชรา หรือเจ็บไข้ได้ป่วย จองบอกับตัวเองว่าพวกท่านคือกำลังใจไม่ใช่ภาระ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับวิธีคิดและมุมมอง ชีวิตต้องมีความเชื่อ และลองมือทำ แม้ไม่ต้องให้คนอื่นเห็น แต่เราควรรู้ตัวว่าเราทำเพื่ออะไร และไปให้ถึงไหน

หยุดเสียเวลากับความเบื่ออันน่าเหนื่อยหน่ายแล้วชีวิตจะก้าวหน้าไปพร้อมกับอนาคตทางการเงินด้วย 3 วิธีนี้ค่ะ

เบื่อเรื่องเงินเพราะจัดการไม่ได้

เราต้องย้อนไปดูที่นิสัยก่อนว่าทำไมถึงจัดการไม่ได้ ลองสำรวจอะไรที่นอกเหนือเรื่องเงิน เช่น วินัยการกิน การออกกำลังกาย การดูแลครอบครัว การดูแลบ้านช่อง สิ่งเหล่านี้เรามีวินัยไหม ถ้าเรามีก็ลองปรับใช้ให้สอดคล้องกับเรื่องเงิน เพราะมันไม่ได้ต่างกัน เมื่อคุณเริ่มจัดการได้ เราจะเห็นว่าเรามีข้อเสียตรงไหน แต่ถ้าพื้นที่ชีวิตอื่นจัดการไม่ได้ เช่น กินมากจนอ้วน ถ้าเรื่องเงินเราพังก็ไม่แปลก เพราะเราควบคุมตัวเองไม่ได้ ชีวิตทุกส่วนเราจะไม่สามารถควบคุมได้เลย 

เบื่อที่เรื่องเงินเปลี่ยนแปลงตลอด

ข้อนี้ทำให้เรารู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงตลอดทำให้เราจัดการไม่ได้ ต้องยอมรับก่อนว่าชีวิตมีทั้งเรื่องที่ควบคุมได้และไม่ได้ ดังนั้นเราควรเอาอารมณ์ที่รู้สึกหงุดหงิดกับการเปลี่ยนแปลงบ่อย มาทำความเข้าใจว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว และหัดตั้งคำถามว่า เราควรตั้งรับมือยังไงกับมัน ชีวิตก็เป็นแบบนี้ การเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนคือเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นเสมอในชีวิต

เบื่อที่รู้สึกไม่พออยู่ตลอดเวลา

คำถามที่สำคัญคือ เรารู้แล้วหรือยังว่าจุดพอของเราอยู่ตรงไหน เช่น ชีวิตหลังเกษียณต้องมีเงินเท่าไหร่ เราต้องหัดคำนวณความต้องการของเราให้เป็น เพื่อให้เราหาจุดพอของตัวเองให้เจอ เราไม่จำเป็นต้องรู้สึกดีเมื่อไปถึงจุดพอแล้วเท่านั้น หลายๆ คนมีความสงบในจิตใจด้วยหลักการง่ายๆ คือ 1. รู้ว่าจุดพอของเราอยู่ตรงไหน 2. รู้ว่าเรากำลังเดินทางไปสู่จุดไหน  เราก็แค่อยู่บนเส้นทางของเรา แต่หากออกนอกทางก็แค่บังคับให้ตัวเองกลับเข้ามา ความรู้สึกที่ขาดแคลนจะหมดไปเมื่อเราหาจุดพอเจอ หาเส้นทางของตัวเองเจอ ถ้าเราทำได้ทุกเดือนเราก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอวันที่มีความสุขในวันที่เราเกษียณหรอก

สุดท้าย เอาพลังงานและความใส่ใจไปโฟกัสทำในสิ่งที่คิดว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้น เริ่มจากหาจุดหมายปลายทาง จากนั้นหาเส้นทางไหนที่เราจะไป และเพื่อให้อยู่บนเส้นทางนั้นเราต้องทำอะไรบ้าง เอาสติและพลังงานไปโฟกัสกับสิ่งที่เราต้องทำ

ถ้าตอนนี้เรามีเวลาว่าง ลองไปหาความรู้เรื่องวัยเกษียณ แต่ถ้าเราบอกว่าไม่มีเวลา แสดงว่าอนาคตเรื่องเงินของเรานั้นไม่มีความสำคัญ อะไรก็ตามในชีวิตนี้ที่มันสำคัญ เราจะให้เวลา เหมือนที่เราไปหลงรักใครสักคน เราจะหาข้อมูลเกี่ยวกับเขาเพื่อไปจีบ

ดังนั้น ในวันนี้ถ้าในอนาคตเรื่องเงินของเราสำคัญ เราต้องให้เวลากับเรื่องนี้ แล้วทำอะไรสักอย่าง

หลงรักเรื่องอนาคตและการเงิน เหมือนที่เราตกหลุมรักกับใครสักคน แล้วชีวิตเราจะดี...

หัดตกหลุมรักชีวิตด้วยการให้เวลากับอนาคตตัวเองด้วยนะจ๊ะ