จากบทความก่อนหน้านี้ เรื่อง “ชีวิตง่ายไม่มีเงิบกับเงินฉุกเฉิน” ทำให้เรารู้แล้วว่าเงินฉุกเฉินมีความสำคัญอย่างไรและต้นทุนของเงินฉุกเฉินที่ไหนถูกที่สุด คำถามต่อมา คือ แล้วเราจะเก็บเงินฉุกเฉินที่ไหนดีหว่า?

 

เก็บในฝากประจำได้ไหม สลากออมสินดีรึเปล่าเผื่อได้ลุ้นถูกหวยด้วย หรือว่าใช้บัญชีออมหุ้นเป็นที่เก็บเงินฉุกเฉินเพราะจะได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นด้วย เฮ้อ...มีทางเลือกเยอะก็ไม่รู้จะทำยังไง แนวคิดหนึ่งของเงินฉุกเฉิน คือ มีเงินใช้ทันใจและเงินต้นปลอดภัย แล้วจะเก็บยังไงมาดูต่อเลยจ้า

4 กลเม็ดเคล็ดไม่ลับสร้างเงินฉุกเฉิน

 

ข้อที่ 1 การออมเงินฉุกเฉิน

 


การออมเงินฉุกเฉินที่มา : 4 ขั้นตอนสร้างบัญชีเงินเดือนขั้นเทพ (https://aommoney.com/?p=15325 )

 

เราจะเห็นว่าเงินฉุกเฉินนั้นเป็นเงินออมระยะสั้น ส่วนแรกที่โคตรสำคัญกับลมหายใจของเรามากๆ ควรมีให้ครบก่อนเงินส่วนอื่นๆ จากหลักทฤษฎีการเงินกล่าวไว้ว่าควรออมเงินเริ่มที่ 10% ของรายได้ แล้วขยับเงินออมเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะที่บางคนออมมากกว่านั้นก็ได้ผู้เขียนเคยเห็นแฟนเพจบางท่านออมเงินถึง 50% ของรายได้ก็มี นั่นขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน

 

สำหรับบางท่านที่มีภาระค่าใช้จ่ายมากอลังการอาจจะเห็นตัวเลข 10% แล้วเริ่มท้อใจคิดว่า "บ้าไปแล้วใครจะไปทำได้ แค่มีใช้ให้ครบเดือนก็จะแย่แล้ว" โอ๋ๆๆๆๆ ใจเย็นๆ เมื่อมีน้อยเราก็ออมน้อยนะจ๊ะ เริ่มต้นเพื่อเป็นกำลังใจให้ตนเอง เช่น เริ่มที่ 3% ของรายได้ เพื่อให้เกิดความเคยชิน เราจะไม่รู้สึกอึดอัดหรือบังคับใจตนเองมากเกินไป เมื่อปรับตัวได้แล้วก็เพิ่มการออมเงินขึ้นไปเรื่อยๆได้เช่นกัน

 

ข้อที่ 2 รู้จักแหล่งเก็บเงิน

 

แหล่งพักเงินที่เหมาะสมจะทำให้เงินฉุกเฉินปลอดภัย

 

เมื่อเราออมเงินได้แล้วก็ต้องหาแหล่งพักเงิน จากภาพนี้จะเป็นภาพรวมรูปแบบการลงทุนที่มีความเสี่ยงกับผลตอบแทนที่แตกต่างกัน คือ ความเสี่ยงต่ำ(สีเขียว) ผลตอบแทนก็ต่ำ และความเสี่ยงสูง(สีแดง) ผลตอบแทนสูง

 

เพิ่มเติม :  ถ้ามีคนมาชวนลงทุนอย่างอื่นแล้วบอกว่า “ความเสี่ยงต่ำมากและได้ผลตอบแทนสูง” ระวังเงินในกระเป๋าให้ดีๆ เพราะมันเป็นแชร์ลูกโซ่ที่ทำให้เราหมดตัวนะจ๊ะ

 


สินทรัพย์ทางการเงิน

 

เงินฉุกเฉินในบทความนี้จะเลือกที่ทำให้เงินปลอดภัยมากที่สุด (ไม่รวมผลกระทบจากเงินเฟ้อ) คือ ฝั่งซ้ายมือที่เป็นสีเขียว  เป็นประเภทเงินฝากและกองทุนรวมตลาดเงิน เพราะอะไรเรามาดูกันที่ข้อต่อไปเลยนะจ๊ะ

 

ข้อที่ 3 รู้จักผลตอบแทนจากการลงทุน

 

ภาพนี้เป็นผลตอบแทนจากการลงทุนย้อนหลัง 10 ปี ที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ กลางและสูง เราจะเห็นว่ามีการปรับตัวขึ้นลงตลอดเวลา นี่เองที่เขาชอบพูดกันว่าการลงทุนมีความผันผวน อาจจะได้รับผลตอบแทนมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา เช่น

 

ในปี 2008 ช่วงที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ มีผลตอบแทนการลงทุน ดังนี้

  • การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงในตราสารทุน (หุ้น) ติดลบ 47.5%
  • การลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางในตราสารหนี้ (พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้) บวก 18.78%
  • การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำในเงินฝาก 2.48%

 

ในปี 2009 หลังจากวิกฤต มีผลตอบแทนการลงทุน ดังนี้

  • การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงในตราสารทุน (หุ้น) บวก 63.25%
  • การลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางในตราสารหนี้ (พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้) ติดลบ 4.18%
  • การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำในเงินฝาก 0.84%

 


return3

 

เรื่องของแหล่งเก็บเงินและผลตอบแทนจากการลงทุนมีผลกับ “เงินฉุกเฉิน” เป็นอย่างมาก เพราะถ้าเราเลือกแหล่งเก็บเงินที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เงินต้นของเราหายไปในช่วงที่ต้องรีบใช้เงินได้เช่นกัน ลองคิดดูว่าหากเจอวิกฤตชีวิตต้องใช้เงินด่วน ในขณะที่แหล่งเก็บเงินผันผวนมากจนทำให้เงินที่จำเป็นต้องใช้มันมูลค่าลดลง (ลงทุนไป 100 บาท เหลือกลับมา 60 บาท) ชีวิตเราจะดราม่ามากๆ มีเรื่องเยอะจนเสียใจไม่ทันกันเลยทีเดียว

 

จากภาพนี้จะเห็นว่า “เงินฝาก” แม้ว่าจะได้ผลตอบแทนไม่สูงเท่ารูปแบบอื่น แต่มีความผันผวนน้อยกว่า จึงทำให้เงินฝากเป็นแหล่งเก็บเงินที่เหมาะสมของเงินฉุกเฉิน แต่ก็มีอีกรูปแบบหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากแล้วยังมีสภาพคล่องใกล้เคียงเงินสด คือ กองทุนรวมตลาดเงิน เพราะอะไรเรามาดูต่อกันเลยจ้า

 

money7.1

ควรศึกษาเรื่องกองทุนรวมให้เข้าใจก่อนการลงทุน

 

ภาพนี้เป็นตัวอย่างของกองทุนรวมตลาดเงินกองหนึ่งที่มีผลตอบแทนไม่ได้โดดเด่นที่สุดในตลาด แต่นำมาให้ดูภาพรวมว่าผลตอบแทนยังสูงกว่าเงินฝาก ดูรูปแบบการจัดพอร์ตว่ามีการลงทุนในอะไรบ้าง เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ซึ่งส่วนใหญ่เก็บไว้ในรูปแบบเงินสด/เงินฝากและตราสารหนี้ จึงทำให้กองทุนรวมตลาดเงินมีความเสี่ยงต่ำ

 

จากสัดส่วนการลงทุนนี้ทำให้ได้รับผลตอบแทนในตารางข้างล่าง ซึ่งเงินฉุกเฉินของเรานั้นจะเก็บไว้ในช่วงสั้นๆ สมมติว่าเราเก็บเงินฉุกเฉินไว้ 1 ปี ถ้าเก็บไว้ในกองทุนรวมนี้ 1 ปี เราจะได้รับผบตอบแทน 1.36%

 

อ้าววว ตอนรีบใช้เงินแล้วต้องขายออกมา ราคาลดลงไหมอ่ะ?

 

ภาพข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างราคาหน่วยลงทุนตั้งแต่เปิดกองทุน ซึ่งกองทุนรวมกองนี้มีมาตั้งแต่ปี 2548 ราคาก็จะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องอย่างเชื่องช้า แต่ถ้าดูภาพรวมภายใน 1 ปีที่ผ่านมาก็ยังคงมีราคาขึ้นต่อเนื่องอย่างกระดืบๆ

 

moneymarket5

 

moneymarket6

 

จากข้อมูลนี้เรามั่นใจในระดับหนึ่งได้ว่ากองทุนรวมตลาดเงินสามารถเป็นแหล่งเก็บเงินฉุกเฉินได้ แล้วตอนขายออกเพื่อนำเงินมาใช้ในช่วงเร่งด่วนยังได้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากออมทรัพย์อีกด้วย โดยก่อนจะใช้เงินนั้นเราจะต้องขายล่วงหน้า  1 วันเพราะระบบจะสั่งขาย ณ สิ้นวัน คือ หากสั่งขายหน่วยลงทุนวันนี้ เราจะได้รับเงินวันรุ่งขึ้น

 

ข้อที่ 4 เก็บเงินฉุกเฉินทันที!!

 

ข้อนี้สำคัญมากๆเพราะบทความนี้จะเกิดประโยชน์กับผู้อ่านก็ต่อเมื่อลงมือทำทันทีนะจ๊ะ แนวทางการเลือกที่เก็บเงินฉุกเฉินว่าทำอย่างไรให้ปลอดภัยนั้นขึ้นอยู่กับความเข้าใจในการลงทุนและความเสี่ยงของแหล่งเก็บเงิน

 


เก็บเงินฉุกเฉิน

 

หากเราเก็บเงินฉุกเฉินไว้ที่ความเสี่ยงต่ำเป็นรูปแบบเงินฝากหรือกองทุนรวมตลาดเงิน ผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดก็เสมอตัว เงินต้นอยู่ครบ (ไม่รวมผลกระทบจากเงินเฟ้อ) แต่ถ้าหากเราเก็บเงินฉุกเฉินไว้ที่แหล่งเก็บเงินที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อหวังผลตอบแทนสูงควบคู่กันไปด้วย ก็ต้องทำใจเผื่อไว้ว่าอาจจะมีขาดทุนสูงด้วยเช่นกัน ทำให้เงินฉุกเฉินของเราไม่ปลอดภัย เพราะเงินต้นลดลง

 

 

สรุปว่า…

 

เงินออมอันดับแรกที่เราควรมี คือ เงินฉุกเฉิน โดยเริ่มต้นที่ 10% ของรายได้ จากนั้นก็เลือกแหล่งเก็บเงินที่ทำให้เงินของเราปลอดภัย โดยมีความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ สุดท้ายก็ต้องลงมือเก็บเงินฉุกเฉินทันที ไม่ควรมองว่าแค่เงินฉุกเฉินจะเก็บที่ไหนก็ได้ เพราะความจริงแล้วการเลือกแหล่งเก็บเงินที่เหมาะสมนั้นสำคัญ นั่นหมายถึงความปลอดภัยของเงินฉุกเฉินนะจ๊ะ