บทความหลายๆหัวข้อนั้นมาจากการตั้งคำถามเพื่อหาวิธีให้แฟนเพจเริ่มออมเงินได้ ครั้งนี้ก็เช่นกันที่คิดว่าจะทำอย่างไรให้เรารู้ว่าเงินเดือนของตนเองไปอยู่ที่ไหนบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะแนะนำให้จดบัญชีรายรับรายจ่าย เราคิดว่าแบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว แต่มันน่าจะพัฒนาต่อยอดไปที่วิธีอื่นๆได้
คนส่วนใหญ่มักละเลยเรื่องใกล้ตัว ตัวเราก็เช่นกัน วันหนึ่งเราก็คิดว่าทำไมไม่นำวิธีที่เราใช้มาเขียนล่ะ แม้ว่าจะใช้ไม่ได้ผลกับทุกคน แต่ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่อาจจะทำให้คนอื่นนำมาต่อยอดเป็นแบบอื่นๆได้ โดยแนวคิดนี้มีหลักการว่า “กระดาษแผ่นเดียวเห็นภาพรวมของเงินทั้งเดือน”
วิธีของเราไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ต้องทำตามเป๊ะๆ มันจะต้องนำมาดัดแปลงให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตนเอง เพราะเราเขียนในฐานะคนโสดที่ต้องดูแลตัวเอง ก็จะแตกต่างกับคนที่มีครอบครัวแล้ว แต่หลักการนี้ คนที่มีครอบครัวไม่มีลูกหรือมีลูกหลายคน คนกำลังจะแต่งงาน คนที่มีปัญหาหนี้สินพะรุงพะรัง ก็สามารถนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ได้
ทำไมต้องจัดระบบบัญชีเงินเดือน?
ถ้าเราอยากเห็นวิวสวยๆบนยอดเขาก็ต้องเดินขึ้นไปบนยอดเขา เพื่อจะได้เห็นภาพมุมกว้างได้รอบทิศทาง การจัดระบบบัญชีเงินเดือนก็เช่นกัน หากเราต้องการรู้ว่าเงินเดือนของเราไปอยู่ที่ไหนบ้างในแต่ละเดือน เราก็จดทุกอย่างไว้ในที่เดียวกันเพื่อจะได้มองเห็นภาพรวมของเงินเดือนได้ง่ายมากขึ้น รวมถึงการปรับตัวได้ทันสถานการณ์ เช่น หากตอนนี้มีหนี้เยอะ ก็จะต้องปรับพฤติกรรมการใช้เงินให้เข้มงวดมากขึ้น
“ถ้าเราจัดการเงินจำนวนน้อยได้ดีแล้ว
เราก็จัดการเงินจำนวนมากได้เช่นกัน”
ไม่ควรประวิงเวลาในการดูแลเงินของตนเอง ด้วยข้ออ้างว่าจะต้องมีเงินมากกว่านี้ก่อนหรือต้องทำให้หนี้สินหมดก่อนถึงจะเริ่มออมเงิน รับรองได้ว่าสุดท้ายเราก็ไม่ได้ออมเงินแน่นอน สำหรับผู้ที่สงสัยว่ามีหนี้จะออมเงินได้หรือไม่ อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “มีหนี้ก็มีเงินออมได้ https://aommoney.com/?p=5176”
เริ่มเลย...กับ 4 ขั้นตอนสร้างบัญชีเงินเดือนขั้นเทพ!!
ขั้นตอนที่ 1 แยกบัญชีเงินเดือนออกเป็น 3 บัญชี
สมการเงินออมของเดิม
รายได้ - เงินออม = รายจ่าย
ส่วนตัวมองว่ารายจ่ายหนึ่งที่ต้องเข้มงวดมากๆ คือ หนี้สิน ที่จำเป็นต้องจ่ายก่อนไปใช้จ่ายส่วนตัว หากนำมาผสมกันก็อาจจะทำให้สับสน นำเงินที่ต้องชำระหนี้มาใช้จ่ายส่วนตัวจนไม่มีเงินไปชำระหนี้ก็ได้ เราจึงแบ่งรายจ่ายออกมาเป็นสมการเงินออมอีกแบบหนึ่ง คือ
รายได้ - เงินออม - รายจ่ายหนี้สิน = รายจ่ายส่วนตัว
แนวคิดจากสมการเงินออม : เมื่อมีรายได้แล้วควรนำไปออมก่อน จากนั้นก็หักหนี้สินที่ต้องจ่ายออกไป สุดท้ายก็เหลือไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน คือ รายจ่ายส่วนตัว โดยการแยกบัญชีเงินออมและรายจ่ายให้ชัดเจน ไม่ควรรวมไว้ในบัญชีเงินเดือนเพียงบัญชีเดียวเพราะเราจะสับสน อาจจะเผลอหยิบเงินออมมาใช้จ่ายนะจ๊ะ
เราแบ่งรายจ่ายเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
เราควรแบ่งบัญชีรายจ่ายให้ชัดเจน เพื่อจะได้รู้ว่าขณะนี้ตนเองมีหนี้สินเท่าไหร่ ถ้ามีมากกว่าที่หาได้ก็ต้อง เริ่มระมัดระวังปรับพฤติกรรมการใช้เงินของตนเอง คือ ไม่ควรสร้างหนี้เพิ่มขึ้นหรือปรับลดรายจ่ายส่วนตัวให้น้อยลง
เราสามารถแบ่งสัดส่วนเงินเพื่อจะได้เห็นภาพของรวมเงินเดือน ซึ่ง “ตัวอย่างวิธีจัดระบบเงินเดือน” ภาพข้างล่างนี้ เราสามารถเพิ่มหรือลดสัดส่วนของเงินออม รายจ่ายหนี้สินและรายจ่ายส่วนตัวได้ตามกรอบเงินเดือนของตนเองที่ได้รับในแต่ละเดือน ภาพตัวอย่างนี้เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้เป๊ะ เพราะแต่ละคนมีไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน แต่ที่สำคัญควรมีเงินออมขั้นต่ำ 10% ของเงินเดือน
ขั้นตอนที่ 2 จัดระบบบัญชีเงินออม
ขั้นตอนนี้จะเป็นการจับคู่ระหว่างเป้าหมายของเงินออมและแหล่งเก็บเงินตามระยะเวลา โดยเริ่มต้นที่เขียนเป้าหมายการเงินของตนเองออกมาก่อน โดยเริ่มจากคำว่า “อะไร เท่าไหร่ เมื่อไหร่” ตามระยะเวลาสั้น กลางและยาว แล้วเลือกแหล่งเก็บเงินตามเป้าหมายในระยะสั้น กลางและยาวเช่นกัน โดยขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้
ตัวอย่างการตั้งเป้าหมาย : เก็บเงินแต่งงาน 300,000 บาทในอีก 2 ปีข้างหน้า
แหล่งเก็บเงินตามระยะเวลา
- ระยะสั้น คือ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ไว้ใช้เพื่อปรับสภาพคล่องให้ตนเองในยามฉุกเฉิน โดยทั่วไปมนุษย์เงินเดือนจะเก็บไว้ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเป็นฟรีแลนซ์อาจจะเก็บถึง 12 เท่าของค่าใช้จ่าย (เก็บไว้เผื่อบางช่วงงานไม่มี)
- การเก็บเงินระยะสั้นนี้ควรเก็บไว้ที่ความเสี่ยงต่ำสุด โดยเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วที่สุด เช่น การฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน ทองรูปพรรณ (บางคนชอบทองคำก็นำมา ใช้เวลาฉุกเฉินเพราะเข้าโรงรับจำนำได้)
- ระยะปานกลาง คือ เวลา 1 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 5 ปี เป็นเป้าหมายใกล้ๆ เช่น เรียนต่อโท การศึกษาลูก แต่งงาน ซื้อบ้าน ซื้อรถ ฯลฯ
- การเก็บเงินระยะปานกลาง สามารถเลือกความเสี่ยงที่สูงขึ้นเพื่อมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรารับ ได้มากแค่ไหนด้วยนะจ๊ะ สามารถเก็บไว้ได้หลายรูปแบบ เช่น ฝากประจำ ตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมผสม ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ LTF
- ระยะยาว คือ เวลาเกิน 5 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเป้าหมายเก็บเงินไว้ใช้ในช่วงเกษียณ
- แหล่งเก็บเงิน เช่น หุ้นปันผลสูง RMF พันธบัตรรัฐบาล ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(บริษัทเอกชน) กบข.(ข้าราชการ)
ขั้นตอนที่ 3 จัดระบบบัญชีรายจ่าย
รายจ่ายส่วนหนี้สินก็รู้อยู่แล้วว่ามีอะไรบ้าง เพราะจะมีใบเรียกชำระหนี้ส่งมาที่บ้าน เราก็จะรู้ว่าต้องชำระหนี้อะไรบ้าง ส่วนนี้ค่อนข้างสำคัญเพราะเราควรเขียนออกมาว่ามีรายจ่ายหนี้สินอะไรและเท่าไหร่ เมื่อหักเงินส่วนหนี้ออกไปแล้วก็จะรู้ว่าตนเองเหลือเงินใช้ในชีวิตประจำวันเท่าไหร่
รายการส่วนของรายจ่ายนี้ของแต่ละคนก็จะแตกต่างกัน แนวคิดหลักเพียงต้องการให้เราเขียนแยกรายละเอียดให้ตนเองเข้าใจและเห็นภาพรวมของรายจ่ายแต่ละเดือนง่ายขึ้น
ขั้นตอนที่ 4 ลงมือทำทำที!!
เน้นว่า...ทันที!!
การสร้างบัญชีเงินเดือนขั้นเทพนี้จะสำเร็จได้ก็ต้องใช้การลงมือทำ ลำพังแค่นั่งมโนคิดอย่างเดียวก็ไม่มีทางทำสำเร็จได้ อย่าพึ่งคิดว่าทำไม่ได้หากยังไม่ได้ลองทำนะจ๊ะ แล้วไม่ควรคิดว่า “เดี๋ยวค่อยทำ” เพราะส่วนใหญ่จะไม่ได้ทำเลย
สรุปภาพรวมเงินเดือนได้ว่า...
บัญชีเงินออม ==> ตั้งเป้าหมายการออมโดยเลือกแหล่งเก็บเงินออมที่เรายอมรับความเสี่ยงได้และเข้าใจว่าลงทุนอย่างไร สร้างระบบแล้วทำอัตโนมัติทุกเดือน อ่านเพิ่มเติมวิธีสร้างระบบเงินออมอัตโนมัติได้ที่ วิธีจัดการเงินเดือนในยุคออนไลน์ คลิกที่นี่ได้เลยจ้า
รายจ่าย ==> เขียนรายจ่ายแต่ละเดือนของตนเองออกมา เพื่อจะได้รู้ว่าเดือนนี้ควรทำอย่างไร เช่น หากมีหนี้บัตรเยอะเกินไป แสดงว่าเดือนนี้ควรงดรูดบัตรเครดิตสร้างหนี้เพิ่ม หรือลดการสังสรรค์กับเพื่อนลงเพื่อจะได้ประหยัดมากขึ้น
แนวคิดหลักของบทความนี้ คือ รู้จักเงินเดือนของเราได้ในกระดาษแผ่นเดียว เน้นว่าไม่จำเป็นต้องทำตามแบบนี้เป๊ะเพราะมันไม่ใช่สูตรสำเร็จ เราเขียนจากสิ่งที่ใช้กับตนเองเพื่อแบ่งปันให้คนอื่นนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง
เริ่มสร้างบัญชีเงินเดือนขั้นเทพกันเลยยยยย ^_^