ปฏิบัตการตามหาหัวหน้าที่ทำให้ลูกน้องรวย
มีวันหนึ่งขณะที่เรากำลังเขียนบทความออมเงินก็เกิดสงสัยและอยากรู้ว่าความรู้เรื่องการออมเงินของคนไทยมาจากไหนในสมัยก่อนที่เป็นระบบศักดินามีการสอนประชาชนทั่วไปเก็บเงินกันยังไง และะทำไมคนไทยสมัยก่อนถึงไว้ใจฝากเงินกับธนาคาร เรารู้คร่าวๆว่าการเก็บทรัพย์สินมักจะเก็บในตุ่มฝั่งดินไว้ บางส่วนก็เล่นการพนันหรือเที่ยวผู้หญิง แม้แต่ Google ก็ตอบคำถามให้เราไม่ได้ ทำให้ต้องเก็บความสงสัยไว้รอเวลาออกหาคำตอบ เรารู้จักคำว่า “แบงก์ลีฟอเทีย”
ครั้งแรกจากเจ้าหน้าที่ที่พาชมตำหนักจิตรลดาที่วังปารุสกวัน ซึ่งเป็นเรื่องการออมเงินของคนในยุคนั้นที่เรากำลังหาคำตอบ จึงสอบถามรายละเอียดมากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่อธิบายได้เพียงภาพรวมเท่านั้นและแนะนำว่าถ้าต้องการได้รายละเอียดเชิงลึกให้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมที่ “หอจดหมายเหตุ”
ด้วยความอยากรู้เราก็ต้องไปหาด้วยตัวเอง อีกไม่กี่วันเราก็ไปที่หอจดหมายเหตุ เจ้าหน้าที่น่ารัก ใจดีและแนะนำวิธีการหาข้อมูลดีมากว่าควรหาข้อมูลที่เราอยากได้จากส่วนไหน สรุปว่าข้อมูลที่เราอยากรู้อยู่ในไมโครฟิมล์
เมื่อเราได้ข้อมูลเป็นไมโครฟิมล์มาแล้วก็ต้องตกใจ เพราะเป็นข้อมูลดิบล้วนๆและเยอะมาก เริ่มต้นหาไม่ถูกเลยว่าจะอ่านหน้าไหนก่อน
ระหว่างที่เรากำลังปวดหัวกับการหาข้อมูลก็ได้เจอกับ คุณวรชาติ มีชูบท ที่นั่งดูไมโครฟิมล์อยู่ในห้องข้างๆ (เป็นความบังเอิญและโชคดีมากๆ ขอบคุณที่ท่านสละเวลาอธิบายประวัติศาสตร์ให้เราฟัง ไม่อย่างนั้นก็คงสำลักข้อมูลไมโครฟิมล์ตายไปซะก่อน) ท่านเป็นผู้เขียนหนังสือ เกร็ดพงศาวดารรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีเรื่อง “จิตรลดาธนาคาร ต้นกำเนิดธนาคารออมสิน”ที่เรากำลังตามหาคำตอบอยู่ด้วย จึงได้ข้อมูลสำคัญที่ตอบคำถามข้างต้นของเราได้ และมีข้อมูลช่วงหนึ่งได้ ทำให้เรารู้ว่าหัวหน้าแบบไหนมีแล้วรวย ดังนี้

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม “จิตรลดาธนาคาร ต้นกำเนิดธนาคารออมสิน" ได้ที่ http://bit.ly/WVM39t
เรารู้สึกดีใจมากที่หาคำตอบได้แล้วว่ารัชกาลที่ 6 พระองค์มีกลยุทธ์อะไรทำให้คนไทยมีความรู้เรื่องการออมเงิน มีวิธีจูงใจให้เกิดการออมได้อย่างไร เราไม่ทราบว่านักประวัติศาสตร์ท่านอื่นตีความข้อมูลข้างต้นอย่างไร แต่เราตีความว่า
วัฒนธรรมการออมควรเริ่มจากระดับผู้นำองค์กร ==> ลูกน้อง
“องค์กรรู้ประหยัดเริ่มจากหัวหน้าเก่งเงิน”
สิ่งหนึ่งที่เป็นความหวังของมนุษย์เงินเดือนที่นอกเหนือจากเงินโบนัส คือ การเติบโตในหน้าที่การงานโดยการเลื่อนตำแหน่ง หลายองค์กรเวลาคัดเลือกพนักงานเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นนั้นก็จะพิจารณาจากผลงานที่ผ่านมาว่าเคยทำผลงานอะไรบ้างหรือตรวจดูประวัติย้อนหลังต่างๆว่าเหมาะสมจะเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าหรือไม่ ซึ่งหลักการวิธีการเลื่อนขั้นของผู้นำในองค์กรจากเดิมที่ต้องเก่งคน เก่งงาน และน่าจะต้องเพิ่มอีก 1 ข้อเรื่อง “เก่งเงิน” ด้วย
หัวหน้าที่ดีต้อง "เก่งคน เก่งงาน และเก่งเงิน”
"หัวหน้าเก่งเงิน คือ หัวหน้าที่ใช้เงินเป็น " ถ้าจะเรียกให้เป็นทางการขึ้นมาอีกนิด คือ “มีความรู้ความสามารถในการบริหารการเงินส่วนบุคคล” ที่สามารถดูแลตนเองและลูกน้องให้มีวินัยการเงินได้ด้วยไม่ใช่ เพราะทักษะทางการเงินนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงิน การศึกษาหรืออายุ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีคิดและทัศนคติเกี่ยวกับการจัดการเงิน ต่างหาก โดยผู้นำที่จะเลื่อนตำแหน่งควรรู้จักวิธีจัดการเงินแบบพื้นฐานต่างๆ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ต้องมีในแต่ละบุคคล เพื่อดูแลลูกน้องได้รอบด้านยิ่งขึ้นและทำให้องค์กรเติบโตมากขึ้นด้วยเช่นกัน
4 หัวหน้าแบบนี้มีแล้วรวย

-
หัวหน้ารู้หนี้ - มีวิธีจัดการหนี้สิน
รู้จักวิธีจัดการหนี้สินส่วนตัวอย่างถูกต้อง รู้จักการก่อหนี้ที่เกิดประโยชน์และการก่อหนี้ที่ไม่เกิดประโยชน์ รู้จักวิธีบริหารหนี้ให้หลุดจากวงจรหนี้ รู้ว่าไม่ควรหมุนหนี้โดยการเปิดบัตรเครดิตใบใหม่เพื่อโป๊ะหนี้บัตรก้อนเดิม รู้ว่าไม่ควรใช้บัตรกดเงินสดมาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
หัวหน้าที่สามารถจัดการหนี้สินส่วนตัวได้ดี จะส่งผลดีถึงลูกน้องและการทำงานในองค์กรด้วย เพราะสามารถสอนลูกน้องให้สร้างหนี้ที่มีประโยชน์และตัวหัวหน้าก็จะมีสมาธิในการทำงาน ทำให้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆได้
ลองคิดตามนะคะ ถ้าหากผู้นำคนที่ได้รับเลื่อนตำแหน่งมีจิตใจว้าวุ่นจากการหาเงินมาจ่ายหนี้สินส่วนตัว ทำให้ใส่ใจกับงานที่อยู่ตรงหน้าน้อยลง เพราะครุ่นคิดว่าจะหาเงินส่วนไหนมาจ่ายหนี้ที่กำลังจะครบกำหนดชำระ หากปล่อยปัญหาหนี้สินส่วนตัวรุงรังไปเรื่อยๆอาจจะเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิด เมื่อเวลาจวนตัวที่จำเป็นต้องนำเงินไปชำระหนี้จริงๆแล้วหาเงินไม่ได้ อาจจะทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาดโดยการยักยอกเงินบริษัทเพื่อนำไปจ่ายหนี้ โดยอาจจะมองว่าแค่ยืมไปหมุนแป๊บนึงแล้วคืน
แต่ถ้าไปเจอกับคนที่นำไปหมุนแล้วติดใจไม่คืนเงินหละ องค์กรนั้นจะเป็นอย่างไร ทุกคนล้วนมีพื้นฐานเป็นคนดี แต่เหตุการณ์บังคับจึงทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ ดังนั้น อย่ามองข้ามเรื่องหนี้สินส่วนตัวว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ควรได้รับการดูแลที่ถูกต้องตั้งแต่หนี้ก้อนเล็กๆ ก่อนที่จะบานปลายกลายเป็นหนี้ก้อนโตที่ดูแลลำบาก