ในชีวิตเรามักจะนึกถึงคนที่ผ่านเข้ามาและสร้างความทรงจำดีๆให้กับเรา อาทิ คุณตาคุณยายที่เคยเลี้ยงดูสั่งสอน เรา เพื่อนเก่าผู้ห่างไกลที่ครั้งหนึ่งเคยมีเรื่องราวดีๆ ให้จดจำร่วมกันมา หรือใครก็ตามที่เราเลือกเก็บไว้ในความทรงจำ เพราะสิ่งที่เขามอบให้นั้นมีค่ากับชีวิตเราเสียเหลือเกิน...

ถ้าจะให้พูดถึงคนหนึ่งคนที่ทำอะไรดีๆไว้ให้คนไทยทุกคนได้จดจำ คนที่เดินทางไปทั่วทุกที่ในประเทศไทย คนที่มอบคำสอนและแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นแบบอย่างให้กับคนไทยทุกคน เพราะปรารถนาให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้นคนดังกล่าวนี้คือคนที่ชาวไทยพร้อมใจเรียกท่านว่า “พ่อของแผ่นดิน” 

“คิดถึงพ่อเหมือนกันใช่ไหม?” 

ประโยคแรกที่ถูกกล่าวขึ้นมาหลังจากที่ผมได้โทรไปที่ 1800-018-009 “โครงการโทรศัพท์หมายเลข 9” ที่รวบรวมคำสอนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดทำโดย CAT (บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)) ชวนให้น้ำตารื้นได้อยู่เหมือนกัน

ผมมีโอกาสได้ฟังพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 9  แล้วก็ได้หาข้อมูลกับคำสอนที่น่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย ผมพบว่าทุกคำสอนที่ท่านเคยตรัสไว้ยังคงความร่วมสมัยอยู่เสมอ

และนี่คือ “4 คำสอนของพ่อ  ที่ทรงคุณค่ามากที่สุดสำหรับคนรุ่นใหม่” ที่สามารถน้อมนำคำสอนที่พ่อเคยมอบไว้ มาปรับใช้ได้อยู่เสมอ เหตุนี้ผมจึงขออนุญาตนำแนวทาง และคำสอนมาปรับใช้ในชีวิตให้สอดคล้องกับยุคสมัยและเจนเนเรชั่นใหม่อย่างเหมาะสมครับ

“...ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้า ใส่เอง อย่างนั้นมันมากเกินไป แต่ในหมู่บ้านหรือในอําเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้แต่ในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่ง มากนัก ...มีเงินเดือนเท่าไหร่จะต้องใช้ภายในเงินเดือน...กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์มิใช่กู้สําหรับ ไปเล่น ไปทําอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์...”

พระราชดํารัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540

ผมว่าคนไทยบางกลุ่มตีความคำว่า “พอเพียง” ของพ่อคลาดเคลื่อนกันไปเล็กน้อย คิดกันว่าความพอเพียง คือ การกินอยู่อย่างประหยัดที่สุด อันไหนประหยัดได้ต้องประหยัด ปลูกข้าวทำนา สร้างบ้านดินเอง ว่างๆ ก็ทำสบู่ใช้ เหมือนในโฆษณาเรื่องหนึ่ง 

จริงอยู่ว่าพื้นฐานส่วนใหญ่ของคนไทยในสมัยก่อนมักจะทำนา ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรรม แต่ในสมัยนี้วิถีชีวิตของคนไทยไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เพราะด้วยวัฒนธรรม และสิ่งของใหม่ๆ ที่เข้ามาจากต่างชาติ ทำให้คนไทยใช้เงินเกินตัว สาเหตุที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากความฟุ้งเฟ้อของคนไทยเองนั่นแหละ 

สมัยนี้ Social Media ทำให้หลายคนรู้จักเรามากขึ้น การแสดงออกผ่านวัตถุก็มีมากขึ้นตามมา การจับจ่ายใช้สอยเกินตัวก็ตามมามากขึ้น หรือบางคนเห็นว่าตลาดหุ้นกำลังขึ้นเพราะเศรษฐกิจดี ก็กู้เงิน กู้มาร์จิ้นมาลงทุนโดยไม่มีความรู้ที่ดีมาสนับสนุนการลงทุน การลงทุนนั้นก็อาจจะไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าสุดท้ายเงินทั้งหมดหายไปกับตลาดหุ้น (ในปี 2540 มีคนทำแบบนี้เยอะมาก)

ผมเห็นคนที่ดำเนินหลักการใช้ชีวิตพอเพียง อย่าง วอเรนต์ บัฟเฟตต์ หรือ ดร.นิเวศน์ ก็สร้างชีวิตที่มีความสุข สร้างฐานะที่ดีได้

ดังนั้นคำว่า “พอเพียง” ต้องยึดตัวเองเป็นหลัก เข้าใจในความเป็นอยู่ของตัวเองก่อน ไม่จำเป็นต้องประหยัดจนทำให้ตัวเองรู้สึกไม่มีความสุข หยุดการใช้จ่ายและสร้างหนี้เกินตัว และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขก็ “เพียงพอ” แล้ว

“...ถ้าเราสะสมเงินให้มาก เราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ยโดยไม่แตะต้องทุน ถ้าเราใช้มากเกินไปหรือเราไม่ระวัง เรากินเข้าไปเป็นทุน ทุนมันก็น้อยลงๆ จนหมด...”

พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2518

คำสอนนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสไว้เมื่อปี พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นเวลา 10 กว่าปีก่อนที่ผมจะเกิด แว้บแรกที่ผมได้อ่านพระราชดำรัสนี้ ผมนึกถึงคำว่า “PASSIVE INCOME” และ “อิสรภาพทางการเงิน” ซึ่งเป็นอะไรที่คนในสมัยนี้ฝันหวานถึง

เรามักจะได้ยินเรื่องของอิสรภาพทางการเงิน ที่มีแนวคิดว่า “หากใครต้องการหลุดพ้นจากพันธนาการเรื่องการเงิน เราจะต้องมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน และที่สำคัญรายได้นั้นควรจะมาจากทรัพย์สินที่เราสร้างและสะสมมันขึ้นมา”

คำว่า “PASSIVE INCOME” ผมได้ยินครั้งแรกก็ช่วงที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย หลังจากพี่ของเพื่อนแนะนำให้ลองไปทำธุรกิจเครือข่ายดู แต่ใครๆ ก็สามารถสร้าง PASSIVE INCOME ได้จากทางอื่นเหมือนกันไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในหุ้น กองทุนรวม การเขียนหนังสือรับค่าลิขสิทธิ์ หรือการซื้อคอนโดเพื่อปล่อยเช่า เป็นต้น

เมื่อไหร่ที่สินทรัพย์ของเราสามารถสร้างรายได้มากพอ จนเราไม่ต้องถอนเงินต้นมาใช้จ่ายได้ เมื่อนั้นเราก็จะพบกับอิสรภาพทางการเงินที่แท้จริง สอดคล้องกับพระราชดำรัสเมื่อ 42 ปีที่แล้วพอดี

“...การมีเสรีภาพนั้นเป็นของดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้จําเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและ ความรับผิดชอบมิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึง สวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย มิฉะนั้น จะทําให้มีความยุ่งยากจะทําสังคมและ ชาติประเทศต้องแตกสลายโดยสิ้นเชิง ...”

พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแถลงการณ์สภาการวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติตาม แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (สวชพ.) เรื่อง ‘การใช้เสรีภาพเพื่อการปรองดองสมานฉันท์’ เนื่องในวันนักข่าว เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2520

จริงๆแล้วคำว่า ‘อิสรภาพ’ กับ ‘เสรีภาพ’ มีความแตกต่างกันอยู่นิดหน่อย อิสระ คือ สภาวะที่เป็นอิสระไม่ต้องผูกมัดกับสิ่งใด ส่วน เสรีภาพ คือ การจะทำอะไรก็ได้แต่ต้องไม่ไปริดรอนสิทธิของผู้อื่น ว่ากันว่าคน GEN Y และ GEN Z เป็นคนรุ่นใหม่ที่รักอิสรภาพ

เราอยากจะทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ คนรุ่นใหม่ก็เลยอยากออกจากงานประจำมาเป็นนายตัวเอง อยากมีงานที่ไม่ต้องตอกบัตรผูกมัดกับเวลาเข้างาน อยากมีวันลาพักร้อนเยอะๆ เพื่อออกเดินทางไปที่ใหม่ๆ แต่ทั้งหมดที่เราอยากทำ เราไม่ควรมีอิสรภาพอยู่บนความเดือดร้อนของคนอื่น

  • จะออกมาเป็นนายตัวเองมีเงินทุนพร้อมแล้วรึยัง ? ต้องพึ่งพาเงินจากทางบ้านก่อนรึเปล่า ?
  • อยากเข้างานตามเวลาที่สะดวก แต่ลืมไปรึเปล่าว่าบริษัทก็ต้องขับเคลื่อนด้วยความสามารถของทุกคน
  • อยากลางานไปเที่ยว แล้วใครที่ต้องแบกรับภาระงานแทนเรา?

ไม่ผิดหรอกที่ใครๆ ก็อยากมีอิสรภาพ แต่ทุกอย่างต้องตั้งอยู่บนความรับผิดชอบของตัวเอง และรู้จักแคร์สังคมรอบข้างให้มากกว่าความต้องการของตัวเอง

" คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้ "

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 20 เมษายน 2521

ผมว่าสังคมสมัยนี้เรารู้จักการแบ่งปันมากขึ้น “ยิ่งให้ก็ยิ่งได้” เป็นประโยคที่ผมได้ยินจากหลายๆ ที่ สังเกตจากแนวทางการทำธุรกิจของคนสมัยใหม่ ทั้ง SME และ Start Up ที่เข้ามาแก้ปัญหา ช่วยสร้างคุณค่าให้กับสังคม ยิ่งธุรกิจใดให้คุณค่ากับสังคมมาก ผลตอบแทนที่ได้จะมากกว่านั้นเยอะ ยกตัวอย่างเช่น

  • QueQ แอพพลิเคชั่นต่อคิวหน้าร้านอาหารที่ช่วยแก้ปัญหาการจองคิวให้กับร้านค้าและลูกค้า
  • iTAX แอพพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์คนในสังคมในเรื่องของภาษีเงินได้
  • Wongnai แอพฯรีวิวร้านอาหาร ช่วยคนในสังคมตามหาร้านอาหารอร่อยๆ 
  • Amazon.com ที่ช่วยให้การซื้อของสะดวกสบายยิ่งขึ้น

ธุรกิจไหนที่เข้ามาหวังแต่จะได้เงิน ได้กำไร กอบโกยทรัพยากร โดยไม่คำนึงถึงการมอบคุณค่าให้กับสังคมก่อน อาจจะมีเสียงนินทาจากกลุ่มลูกค้า ทำให้สุดท้ายแล้วไม่สามารถยืนหยัดในสังคมได้นาน ดังนั้นแล้ว ถ้าใครคิดอยากจะทำธุรกิจ หรืออยากเริ่มเป็นนายตัวเอง ลองตั้งคำถามกับสิ่งที่กำลังจะทำดูซิครับว่า “สิ่งที่ทำอยู่ให้คุณค่าอะไรกับสังคมบ้าง?”

ถ้าให้ลองนึกถึงคำสอนต่างๆ ที่รัชกาลที่ 9 ทรงตรัสไว้ จะรู้เลยว่าคำสอนของท่านมีมากมายจนไม่สามารถนับได้ และทั้งหมดถูกจารึกไว้ในหนังสือ สื่อต่างๆ ค้นเจอได้ไม่ยาก เพราะสิ่งที่ท่านทรงมอบให้แก่คนไทยทั้งชาติ ไม่เพียงแค่ความเป็นอยู่ที่ดี

แต่ยังมีคำสอนของพระราชา หรือ “พ่อ” ของคนไทยทั้งประเทศยังคงจารึกไว้ตามหนังสือ หรือสื่อต่างๆอีกมากมาย เพราะทุกคำสอนของท่านถูกกลั่นกรองมาจากความคิดและประสบการณ์ที่ทรงประสบพบเจอมา เราสามารถน้อมนำมาปรับใช้ได้เสมอ ทุกช่วง..ทุกวัย..และทุกเวลา