กระแสเงินสด มันคืออะไร

แล้วมันนำอิสรภาพทางการเงินมาให้เราได้ยังไง?

มาค่ะ.. มาดามฟินนี่ขออาสาเคลียร์ ให้เห็นภาพ เข้าใจ ในภาษาแบบง่ายๆกัน

คืองี้.. วันก่อนมาดามไปเล่นเกมส์กระแสเงินสดที่จัดโดยมันนี่โค้ชมา

มันคล้ายเกมเศรษฐีที่เราเคยเล่นสมัยเด็กๆ แหละ แต่ล้ำลึกกว่า..

ได้ไอเดียมาเยอะแยะ แต่อยากมาแชร์แค่เรื่องนี้ก่อน

“กระแสเงินสด” คืออะไร?

กระแสเงินสดมันคือ... ตัวเงินจริงๆ ที่เหลือในก้นกระเป๋าเรา

สูตรอย่างง่าย

รายรับ ลบ รายจ่าย = กระแสเงินสด

ดูธรรมดาใช่มั้ย... อย่าค่ะ อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน

มาดามฟินนี่ได้แอบไปรู้อะไรบางอย่างมาล่ะเธอ!!

อ่านเงียบๆนะ อย่าเอ็ดไป นี่คือธาตุแท้ของกระแสเงินสดที่มาดามฟินนี่ไปรู้มา

1. รายรับสูง ไม่จำเป็นว่ากระแสเงินสดจะสูงเสมอไป

เคยได้ยินมั้ย? “ได้เท่าไหร่ไม่สำคัญเท่ากับว่า..เหลือเท่าไหร่”

คนอาชีพเงินเดือนสูง ค่าใช้จ่ายอาจสูงตาม มันวัดกันที่ “บรรทัดสุดท้าย”

>> ที่ควรจดจำใส่แก่นสมอง.. คือ

“จงให้ความสนใจรายจ่าย คนเราวัดกันที่บรรทัดสุดท้าย”

ลองมาดูตัวอย่างสมมติกัน เธอจะเห็นได้ว่า รายได้ต่างกัน แต่บางทีบรรทัดสุดท้าย

หรือกระแสเงินสด อาจจะต่างกันไม่มากก็ได้นะ รายจ่ายจึงสำคัญ..ไม่ควรมองข้าม

หมายเหตุ: นี่ตัวเลขและอาชีพที่สมมติขึ้นเป็นตัวละครนะคะ อย่าซีเรียส

2. กระแสเงินสด ช่วยบอกได้..ว่าเราจะรวยขึ้นหรือจนลง?

กระแสเงินสด ถ้ามีเหลือ....เอาไปออม เอาไป “ลงทุน” ต่อยอดได้

แต่ถ้ามันติดลบ นั่นคือที่มาของ “หนี้”

โลกปัจจุบันของล่อตาล่อใจมันเยอะ แถมเป็นหนี้ก็แสนจะง่าย

สมัยก่อนเหรอ.. ไม่มีเงิน ก็ต้องทำใจ ไม่มีไม่ใช้ อยากได้อะไร..ต้องเก็บเงิน

สมัยใหม่.. ไม่มีเงินเหรอ รูดสิ ผ่อนสิ ผ่อนตั้งแต่ทีวี มือถือ จนยันมื้ออาหารแล้วนะเธอเดี๋ยวนี้!!

ลองดูตัวอย่างว่ากระแสเงินสดติดลบหน้าตาเป็นยังไง

อีกอย่างที่อันตราย หลายคนรายได้เพิ่มแต่รายจ่ายเพิ่มแบบแรงกว่า

ถ้าเป็นงี้ต่อไป ชีวิตจะติดขัดมากขึ้นเรื่อยๆ

นี่คือคำตอบว่าทำไม หาเงินได้มากขึ้น แต่ไม่รวยซักที

ที่โดนกันเป็นประจำตามวัยก็คือ ค่าเทอมลูก เปลี่ยนรถ กินอยู่หรู คอยจับตาดูด้วยนะยะ

มาดูกันว่าตัวอย่างของรายจ่ายโตไวกว่ารายได้เป็นยังไง

>> ที่ควรจดจำใส่แก่นสมอง.. คือ

“จงอย่าใช้จ่ายเกินตัว และคอยจับตาดูความเติบโตของรายจ่าย”

3. รายรับอาจหายไปได้ทุกเมื่อ แต่รายจ่าย (โค-ตระ) ยั้งยืนยง

ในเกมส์..อยู่ดีๆ เราอาจทอยลูกเต๋าได้ช่องตกงาน

รายได้ไม่มี แต่รายจ่ายยังคงเดินต่อค่ะ

ในชีวิตจริงก็เช่นกัน.. คนเรามีค่าใช้จ่ายตั้งแต่เกิดจนตายนะ คิดดีๆ

เกิด โต มีลูก แก่ เจ็บ ตาย ทุกระยะมีค่าใช้จ่าย

เราจะทำยังไง..ถ้าวันนึงเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้ขาดรายได้มันเกิดกับเรา

>> ที่ควรจดจำใส่แก่นสมอง.. คือ

“จงมีเงินสำรองเท่ากับรายจ่าย 3-6 เดือน เพราะเราไม่รู้ว่าวันไหนจะขาดรายได้”

(บางตำราไปถึง 8 ไปถึงเป็นปี มาดามฟินนี่ว่าเอา 3-6 ให้รอดก่อน)

4. รายได้มี 2 แบบ รายจ่ายก็มี 2 แบบ

รายได้

1) ต้องทำ..ถึงได้ (Active income) บริการหรือสินค้าทั่วไป หยุดทำ เงินก็หยุด

2) ไม่ต้องทำ..ก็ยังได้ (Passive income) มาดามฟินนี่ขอเรียกง่ายๆ ว่าคือ รายได้แบบ “เสือนอนกิน” พวกนี้มาจากการลงทุน หรือ ธุรกิจที่มันดำเนินได้โดยไม่ต้องมีเราอยู่ทุกวัน ตัวนี้จะมาได้ก็ต่อเมื่อเรา “สร้างทรัพย์สินหรือธุรกิจ”  ตัวอย่างเช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าลิขสิทธิ์ เป็นต้น

การมีกระแสเงินสดเป็นบวกไว้มากๆ คือตัวช่วยเหยียบคันเร่งสู่การสร้างรายได้ Passive เพราะเราจะมีเงินเหลือไปลงทุน

ส่วนรายจ่าย แยกมองได้ 2 มุม

1) แบบลดไม่ได้ กับลดได้ – ลดไม่ได้คือปัจจัยสี่ที่ต้องกินและมีที่ซุกหัวนอน ภาษีที่ประหยัดแล้วก็ยังต้องเสีย เงินเลี้ยงลูกฯลฯ ส่วนรายจ่ายที่ลดได้คืออะไรที่เกินจำเป็นและตัดได้เช่นกินหรูอยู่สบายเกินระดับรายได้ รถหรูคันใหม่

2) แบบดีกับแบบเลว – แบบดีคือจ่ายแล้วได้คืน เช่น ดอกเบี้ยของเงินที่กู้มาลงทุน ส่วนแบบเลว คือ จ่ายแล้วไปแล้วไปลับโดยเฉพาะไอ้ที่ไม่จำเป็น

>> ที่ควรจดจำใส่แก่นสมอง.. คือ

“จงขยันลงทุนต่อยอดเพื่อเพิ่มรายได้ Passive และลดรายจ่ายเลวที่ลดได้"

เอาล่ะ...มาถึงพระเอกนางเอกที่หลายคนรอคอย

“อิสรภาพทางการเงิน”

คำในฝัน สวยๆ นี้จะมาหาเราก็ต่อเมื่อ..

วันที่รายได้เสือนอนกิน Passive ของเรามีมากกว่ารายจ่าย

เมื่อนั้นเราจะมีทางเลือกว่าเราจะทำงานที่ให้รายได้ Active ต่อไปหรือไม่ก็ได้

เนี่ยแหละ... เค้าถึงเรียก “อิสระ” เพราะว่าเรา “มีสิทธิ์เลือก” เข้าใจยัง?