ขึ้นชื่อว่าอาชีพข้าราชการแล้ว ในสายตาของคนทั่วไป นอกจากจะเป็นอาชีพที่ดูมั่นคง ในหน้าที่การงาน และมีสวัสดิการที่ดีแล้ว ยังเป็นอาชีพที่ไม่ต้องพบเจอกับความเสี่ยงอย่างการถูกจ้างออกเหมือนกับเหล่าพนักงานบริษัทเอกชนอีกด้วย และด้วยความมั่นคงแบบนี้นี่เอง ทำให้หลายคนประมาทในการใช้เงิน จนกลายเป็นคุณป้าคุณลุงวัย " เกษียณ" ที่ไม่มีเงินใช้ และถ้าเราไม่อยากมีชีวิตแบบนั้นล่ะ เราควรต้องทำอย่างไร?

วันนี้ บ.ก.aomMONEY ไม่รอช้าที่จะรวบรวม 4 เทคนิคเกษียณ ฉบับข้าราชการ "อยู่สบาย-มีเงินใช้ตลอด" ที่สามารถนำไปปรับใช้ วางแผนและกำหนดทิศทางของตัวเอง มาฝากเพื่อนๆ กันครับ

1. "ออมเงินเกษียณ" กับ "กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)"

กบข.หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ถือเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติ กบข. ซึ่งเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการ เมื่อออกจากราชการ โดยกองทุนดังกล่าวเข้ามาสนับสนุนให้ข้าราชการออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณผ่านการ ส่งเงินสะสมขั้นต่ำ 3% ของเงินเดือน ซึ่งสมาชิกสามารถออมเพิ่มได้นะ แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินเดือน

ขณะเดียวกันรัฐบาลจะให้เงินสมทบอีก 3% ของเงินเดือน โดยเงินสมทบดังกล่าวเพื่อนๆ ข้าราชการสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งสูงสุดถึง 500,000 บาท

สำหรับบำเหน็จบำนาญ กรณีที่เกษียณอายุราชการแล้ว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน อยู่ที่ผู้เกษียณจะเลือกว่าเลือกบริหารเงินในรูปแบบไหน

1. เงินบำเหน็จ

=  จ่ายครั้งเดียว โดยคิดจาก เงินเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้าย x อายุราชการ (ปี) เช่น ทำงานมา20ปี เงินเดือนก้อนสุดท้ายคือ 50,000บาท เงินบำเหน็จที่จะได้รับคือ 1,000,000 บาท

2. เงินบำนาญ

= เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ (ปี) จากนั้นนำมาหารด้วย 50 ก็จะเป็นเงินที่ได้รับเป็นรายเดือนต่อไปจนเสียชีวิต

ฉะนั้นแล้ว การเลือกออมเงินกับ กบข.นอกจากได้เงินสะสมและเงินสมทบยังได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ในปัจจุบันเพื่อนๆ ทุกคนสามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอปของ กบข.ได้แล้ว ในชื่อ My GPF

หรือ เข้าไปลองเข้าไปคำนวณเงินเพื่อวัยเกษียณผ่าน www3.gpf.or.th/thai2013/member/savingplan.asp อีกหนึ่งทางเลือกที่เยี่ยมเลยทีเดียวในแง่ของการออมเงินในสมัยนี้

2. "ออมเงินเกษียณ" กับ "หุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์"

อีกหนึ่งการลงทุนที่คุ้มค่า ไม่เสี่ยง แถมยังถูกกฎหมาย คือ หุ้นจากสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ คือ สถาบันการเงินที่มีสมาชิกเป็นบุคคล ซึ่งมีอาชีพเดียวกันหรืออาจอาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน มีวัตถุประสงค์หลักในแง่ของการส่งเสริมการออมทรัพย์ โดยเพื่อนๆข้าราชการสามารถซื้อหุ้นผ่านการหักจากเงินเดือนได้เลย โดยในส่วนนี้อยากให้คำนึงถึงความพร้อม ค่อยๆสะสม สำหรับผลตอบแทนที่ได้รับ คือ เงินปันผลค่าหุ้นให้แก่สมาชิกตามจำนวนที่เพื่อนๆตุนหุ้นไว้นั้นเอง

จุดเด่นที่เรียกได้ว่าดีมากๆของ หุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์ คือ ดอกเบี้ยที่ดี อีกทั้งยังมีบริการเงินกู้ เรียกได้ว่า ตอบทั้งโจทย์ของการลงทุนที่เสี่ยงน้อย ได้คุ้ม มีดอกเบี้ย และยังกู้เงินมาหมุนได้อีกด้วย ซึ่งไม่ต้องไปกู้นอกระบบให้ปวดหัว

3. "ออมเงินเกษียณ" กับ "ประกันชีวิตสะสมทรัพย์"

อีกหนึ่งวิธีการออมที่แสนง่าย คุ้มค่า เรียกได้ว่า ยิงหนึ่งได้สองประโยชน์ คือ ประกันชีวิตสะสมทรัพย์

ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ คือ ประกันที่ออกแบบมาให้ผู้ถือกรมธรรม์ออมเงิน ควบคู่ไปกับการมีความคุ้มครอง โดยการออมเงินนั้นจะจ่ายเงินคืนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา มีทั้งแบบรายงวด เป็นก้อนใหญ่ ทั้งนี้ประกันในแบบดังกล่าวใช่ว่าจะต้องออมไปทั้งชีวิต เพราะเราสามารถเลือกได้ว่า จะออมกี่ปีดี เช่น ขั้นต่ำอาจ 5 ปี หรือเลือกยาวๆไปจนถึง 20 ปี

ฉะนั้นการซื้อประกันออมทรัพย์ก็เหมือนเราได้ออมแถมมีความคุ้มครองเพิ่มความเข้ามา ซึ่งจะทำให้เพื่อนๆข้าราชการมีความมั่นคงทางด้านการเงินเพิ่มเข้าไปอีก

4. "ออมเงินเกษียณ" กับ "กองทุน RMF"

และอีกหนึ่งการออมที่ดูแล้วเหมาะสมแก่การวางแผนเงินก่อนการเกษียณคือการลงทุนใน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF โดยกองทุน RMF ย่อมาจาก Retirement Mutual Fund หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ถือเป็น  กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้คนไทยเก็บออมระยะยาวเพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณ โดยความต่างระหว่างกองทุน RMF กับกองทุนอื่น คือ

  • เพื่อนๆข้าราชการต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นเงินเกษียณ โดยต้องซื้อหน่วยลงทุนทุกปี
  • ลงทุนขั้นต่ำที่ 3% ของเงินเดือน
  • การขายคืน เพื่อนๆข้าราชการจะขายได้ก็ต่อเมื่อ ผู้ลงทุนมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี หรือลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนแรก

ที่สำคัญกองทุน RMF ไม่มีปันผลนะทุกคน โดยกองทุนจะนำเงินที่ปันผลเอาไปลงทุนต่อเพื่อให้เกิดดอกเบี้ยทบต้น อย่างไรก็ตามแม้ RMF จะดูมีข้อจำกัดกว่า กองทุน LTF แต่ก็ทำขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เรา “ออม” ในระยะยาว ฉะนั้นถือเป็นทางเลือกที่ดูเหมือนกึ่งบังคับและไม่เห็นผลในระยะสั้นแต่เชื่อว่ายาม "เกษียณ" คุณจะสุขใจ อยู่แบบสบายๆ อีกทั้งยังเป็นการฝึกการออมที่สามารถนำเอาไปลดภาษีได้อีกด้วยนะ

คำแนะนำจาก บ.ก.aomMONEY

เรื่องของการออมเงินเกษียณที่เพียงพอนั้น ควรมีเงินออมคิดเป็น 80% ของเงินเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

เพื่อนๆ ควรมองหาการ “ออมเพิ่ม” และ “เลือกแผนลงทุน” ให้เหมาะสม โดยควรเริ่มตั้งวันนี้ จะได้มีชีวิตหลังเกษียณที่อยู่สบาย มีเงินใช้ ไม่เดือดร้อนลูกหลาน และอยู่แบบคูลๆ ในสังคมผู้สูงวัยได้อย่างมีความสุข

ก็หวังว่าสุดท้ายแล้ว...การวางแผนเงินเกษียณในวันนี้ จะช่วยกันจบวัฏจักรความจนจากรุ่นสุ่รุ่น ลูกหลานได้มีชีวิตที่ดีกว่า แทนที่จะต้องมาแบกเราเป็นภาระนะครับ

ขอบคุณครับ

บ.ก.aomMONEY


ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : aommoney.rabbitstaging.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/


ขอบคุณข้อมูลจาก

  1. https://www.set.or.th/set/education/html.do?name=preretire_isp_preretire-14&innerMenuId=48&fbclid=IwAR2BYRYTLupd3UcAeKogsnzce0xZnyIcS6igjuyo65rCzNeDX52m0r6AKU8
  2. https://www.opendurian.com/news/korporgraduate1/
  3. http://www.fpo.go.th/main/General-information-public-service/FAQ/2803/2869.aspx
  4. https://cpd.upbean.co.th/page.php?pid=49
  5. https://www.krungsri.com/bank/th/planyourmoney/must-stories/investment-plan/is-saving-insurance-good-for-you.html