ในช่วงเวลานี้มองไปทางไหนก็มีแต่คนอยากรวย อยากมีเงินเยอะๆ อยากเล่นหุ้นจะได้รวยๆ อยากมีอิสรภาพทางการเงิน อยากลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัวที่ทำเงิน มากกว่างานประจำ

สรุปได้ว่าเทรนด์ความคิดของสังคมเราคือ อยากมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เมื่อเรามีรายได้มากขึ้น เราจะมีความสุขมากขึ้น เพราะเราสามารถจับจ่ายใช้สอยได้อย่างไม่ต้องกังวล เรารู้สึกสะดวกสบายมากขึ้นที่ได้อยู่ที่พักดีๆ มีรถดีๆ ขับกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย มีอาหารดีๆ กิน แต่ความสุขจะอยู่กับเราเพียงแค่ช่วงแรกๆ ที่เราหาเงินเพิ่มได้เท่านั้น

หลังจากที่เรามีเงินเยอะมากขึ้น เราจะยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามมา เราจะมีต้นทุนในชีวิตเพิ่มขึ้น เราอาจจะใฝ่หาสิ่งของที่ทำให้เราดูดีขึ้น เราอาจจะอยากอัพเกรดซื้อบ้านคอนโดหรูขึ้น ซื้อรถใหม่ราคาสูงขึ้น เราอยากลงทุนเพื่อให้มีกำไรมากขึ้น เราอยากทำธุรกิจเพิ่ม หางานเสริมทำเพิ่มเพื่อมีเงินเพิ่ม แล้วหวังว่าชีวิตจะสุขมากขึ้นตามจำนวนเงินที่เพิ่มในบัญชี เราจึงทำงานไปเรื่อยๆ เพื่อหาเงิน หาเงิน และหาเงิน แต่จนถึงวันนี้ชีวิตเราก็ยังไม่เป็นสุขสักที...ทำไม? หรือว่าการมีเงินเพิ่มอาจไม่ใช่หนทางไปสู่ความสุข

แล้วอะไรละ คือสิ่งสำคัญในการหาความสุขมากกว่าการหาเงินเพิ่ม Elizabeth Dunn และ Michael Norton ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Happy Money เสนอว่า การหาเงินเพิ่ม (Earning) ไม่ได้สร้างความสุขเพิ่ม แต่การใช้เงิน (Spending) อย่างถูกวิธี ต่างหากที่ช่วยเพิ่มความสุขให้กับชีวิตเรา แถมยังใช้เงินจำนวนน้อยลงอีก ด้วยหลัก 5 ประการในการใช้เงินเพิ่มสุข ได้แก่

1. ใช้เงินซื้อประสบการณ์ การซื้อสิ่งของ

เช่น เสื้อผ้า บ้าน คอนโด รถยนต์ นาฬิกา นั้นให้ความสุขน้อยกว่าการซื้อหาประสบการณ์ อย่างเช่น ซื้อทัวร์ไปท่องเที่ยว ตั๋วดูคอนเสิร์ต อาหารมื้อสุดพิเศษ เช่ารถไปเที่ยวกับแฟน การซื้อรถใหม่ราคาหลักแสนหลักล้านมาขับนั้นทำให้เรามีความสุขแค่เวลาหลัง ซื้อไม่นานเท่านั้น แต่ถ้าเราซื้อตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวทะเลราคาหลักหมื่น ถึงแม้จะเที่ยวจบไปนานแล้ว แต่ความทรงจำ บรรยากาศ หาดทรายสายลมจะยังตราตรึงอยู่ในหัวใจเราเสมอ เมื่อนึกถึงทีไรก็มีความสุขทุกครั้ง

2. ตั้งข้อสัญญาก่อนซื้อสิ่งนั้น

ให้ลองกำหนดกฎเกณฑ์กับสิ่งที่เราชอบมากๆ สักหน่อยก่อนซื้อมัน จะทำให้เรารู้สึก ซาบซึ้ง มีความสุข สนุก กับสิ่งนั้นมากขึ้น เช่น ถ้าเราชอบดูหนัง อย่าซื้อตั๋วดูหนังทุกครั้งที่เราอยากดู แต่อาจจะลองตั้งกฎส่วนตัวขึ้นมาว่า ทุกครั้งที่ทำงานเสร็จได้ดี จะให้รางวัลตัวเองเป็นตั๋วหนัง หรือตั้งกฎว่าทุกวันเสาร์เราจะโยนเหรียญเสี่ยงทายว่าสัปดาห์นี้จะได้ไปดูหนังหรือไม่ เป็นต้น

3. ใช้เงินซื้อเวลา

บางทีเราก็ควรจะเอาท์ซอร์สให้คนอื่นทำภารกิจบางอย่างในชีวิตแทนเราบ้าง เงินสามารถเพิ่มเวลาส่วนตัวให้เราเอาเวลาไปทำสิ่งที่อยากทำจริงๆ ได้แทนที่เราจะต้องมานั่งรีดผ้าซักผ้าเองในสัปดาห์นี้ ทำไมไม่ลองจ้างให้คนอื่นมาทำแทนแล้วเราก็ออกไปเที่ยวกับครอบครัวดูละ

4. จ่ายเงินก่อน แล้วค่อยใช้บริการทีหลัง

ส่วนใหญ่เรามักจะซื้อปุ๊บแล้วใช้ปั๊บทันที เราจะมีความสุขปั๊บ แต่ไม่นานสุขก็หายไปเพราะเบื่อ ชินชาไปแล้ว แต่ถ้าเราลองยืดเวลาในการใช้ของหรือใช้บริการที่เราเพิ่งซื้อไปก่อน จะช่วยให้เราสนุกกับการรอคอย การคาดหวัง จะทำให้เรารู้สึกเหมือนคอยลุ้นตื่นเต้นทุกทีที่นึกถึงวันหยุดยาวไปเที่ยวแสนหรรษาอะไรอย่างนั้นเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นคราวหลังถ้าซื้อโทรศัพท์ใหม่ อย่าเพิ่งใช้ ลองเก็บใส่กล่องไว้ก่อนสัก1เดือนแล้วค่อยหยิบมาใช้ดีกว่า

5. ใช้เงินลงทุนกับคนอื่นๆ งานวิจัยใหม่ๆ

พบว่าการใช้จ่ายเงินให้กับคนอื่นนั้นทำให้เรามีความสุขมากกว่าการใช้เงิน เพื่อตัวเราเอง ข้อนี้เป็นหลักการเดียวกับที่พ่อแม่มักจะมีความสุขทุกครั้งที่ได้ซื้อของดีๆเพื่อลูกที่พวกเขารัก หรือเราบริจาคทานต่างๆเพื่ออุทิศให้กับศาสนาและองค์กรการกุศล นอกจากนี้ยังมีวิธีใหม่ๆ เช่น ลองให้เงินทุนกับผู้มีรายได้น้อยด้อยโอกาสแต่อยากทำงานตั้งตัวดูสิ เงินของเราอาจเปลี่ยนชีวิตคนหนึ่งคนได้เลย ถ้าชีวิตเขาดีขึ้น เราคงจะภาคภูมิใจไปอีกนานแสนนานเลยทีเดียว

ทั้ง 5 หลักการทั้งหมดนี้อย่าเพิ่งเชื่อ เราลองนำไปประยุกต์ใช้สักข้อสองข้อ ผลเป็นอย่างไรลองมาแชร์ให้อ่านดูได้ ขอให้ทุกคนที่อ่านลอง "ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้เงิน" ให้ตรงตามหลักการ 5 ข้อข้างบน และขอให้มีความสุขกับเงินและอย่าเป็นทุกข์เพราะมีเงิน "เงินมีเยอะได้ แต่ต้องใช้ให้เป็น ถึงจะไม่ทุกข์"

ที่มา: http://www.actionablebooks.com/summaries/happy-money-the-science-of-smarter-spending/