ในช่วงปลายปีแบบนี้ พรี่หนอมมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะมาสรุปข้อคิดเรื่องการจัดการภาษีที่ตัวผมเองได้เรียนรู้ตลอดทั้งปีผ่านการทำงานผ่านการเขียน อ่าน บรรยาย ไปจนถึงการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหลายๆท่านมาครับ
สำหรับเรื่องของภาษี ปีนี้มีอะไรหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น แน่นอนว่าหนึ่งในนั้น คือ เรื่องของข้อกฎหมายใหม่ๆ ที่ออกมามากมาย ซึ่งทำให้ใครปวดหัวคล้ายจะเป็นลม
แต่ลองมาดูกันดีกว่าครับว่า ข้อคิดเรื่องการจัดการภาษีที่ผมอยากบอกทุกคนนั้น มันจะช่วยให้เรารับมือถึงเรื่องพวกนี้ได้ไหม และเราจะจัดการเรื่องนี้เพื่อเตรียมตัวต้อนรับอนาคตได้อย่างไรบ้าง
1. ภาษีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราไม่ควรทำให้มันยากขึ้น
ตั้งแต่เริ่มต้นทำเพจ TAXBugnoms ในช่วงแรก ผมมีความคิดว่าจะทำให้ภาษีเป็นเรื่องง่ายที่ใครๆก็เข้าใจได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว ยิ่งได้ค้นคว้าหาความรู้ จัดการเรื่องราวภาษีต่างๆ ผมกลับพบว่า ภาษีเป็นเรื่องยาก และไม่มีทางที่เราจะทำให้มันเป็นเรื่องง่ายอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่เราสามารถทำให้มันไม่ยากขึ้นได้ โดยการศึกษาหาความรู้เรื่องภาษีที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นธุรกิจ หรือทำงานอะไรก็ตาม เราควรคิดถึงเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องไปด้วย เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ง่ายที่สุดที่เราจะเรียนรู้ หากเรารอจนกว่าธุรกิจไปไหว หรือ มีรายได้สูงๆพออยู่ได้แล้วค่อยคิดเรื่องภาษี บางทีมันจะกลายเป็นเรื่องยากที่จะเรียนรู้ไปเสียแล้ว
ผมดีใจที่เด็กรุ่นใหม่หลายคนที่ผมได้รู้จักในปีนี้ เริ่มต้นสนใจเรื่องภาษีตั้งแต่ทำธุรกิจในวันแรกๆ เพราะมันจะทำให้พวกเขามีความเข้าใจที่ดี และช่วยป้องกันเรื่องการโดนภาษีย้อนหลังได้ง่ายขึ้นครับ
2. อย่าเชื่อกูรูภาษีทั้งหลาย (รวมถึงตัวผมด้วย)
แหม่... เขียนหัวข้อเหมือนด่าตัวเองใช่ไหมครับ แต่มันคือความจริงครับ เพราะผมมองว่าภาษากฎหมายบ้านเรานั้นขึ้นอยู่กับการตีความในหลายๆมุมมองเป็นหลัก และตัวผมเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสแสดงมุมมองเหล่านี้เท่านั้นเอง
เนื่องจากทุกวันนี้เทคโนโลยีมีความแพร่หลาย คนทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้หมด มันจึงไม่แปลกที่หลายๆคนสามารถเป็นกูรูด้านภาษีได้ (ทั้งๆที่ปีก่อนหน้านั้นบอกว่าตัวเองไม่รู้เรื่องภาษี.. อุ๊บส์) เพียงแต่ว่าเราจะรู้ได้ยังไงว่าคนไหนเป็นตัวจริงได้อย่างไรกันล่ะ
คำตอบในมุมมองของผม คือ เราไม่จำเป็นต้องสนใจเลยครับว่าใครคือตัวจริง แต่เราควรสร้างสรรค์ความสามารถในการตีความ (จากมุมมองของคนที่เรียกว่ากูรูเหล่านั้น) และคัดกรองความรู้ที่จำเป็นกับชีวิตเราขึ้นมา เพื่อที่มันจะทำให้เราเข้าใจจริงๆว่า เราต้องทำอะไรบ้างในเรื่องภาษี เพราะเราไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องภาษีที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา
ดังนั้น ประเด็นมันอยู่ที่ว่า
เราต้องไม่ควรกลัวที่จะเป็นคนที่ไม่รู้
แต่ควรกลัวว่าความรู้ที่เรารู้นั้นมันถูกต้องจริงหรือเปล่า
3. ข้อมูลบัญชีที่ดีและถูกต้อง ช่วยจัดการภาษีได้
สิ่งสำคัญสำหรับการจัดการการภาษีในโลกยุคนี้และอนาคต ไม่ใช่เรื่องของการวางแผนหรือจัดการภาษีครับ แต่เป็นการรู้ตัวเองก่อนว่าเรามีข้อมูลอะไร แบบไหน เพราะข้อมูลที่ดีจะทำให้เราไปต่อได้ง่าย และวางแผนได้ดีขึ้น ทั้งในเรื่องการจัดการการเงินและภาษี
เชื่อไหมครับว่า ผมเคยเจอคนที่มีรายได้หลักสิบล้าน แต่ไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีรายได้ ต้นทุน ค่าใช้จ่ายเท่าไรอะไรบ้าง บอกได้แค่ตัวเลขในการประมาณการเฉยๆ หรือ คนที่ตั้งคำถามว่า ยอดแค่ไหนควรจะจดบริษัท กำไร 1 ล้านบาทควรจดบริษัทไหม แล้วต้องการคำตอบที่ฟันธงถูกต้องอย่างใจ
ถ้าเจอหน้ากัน ผมมักจะตอบคร่าวๆให้จากข้อมูลที่มี แต่ถ้าเป็นคำถามลอยๆแบบนี้ ลองมาคิดกันต่อสิครับ ไอ้คำพูดที่บอกว่ากำไร 1 ล้านบาทควรจดบริษัทไหม อาจจะเป็นคำถามที่เราต้องเช็คตัวเองต่อไปอีกเยอะเลยครับ เช่น
- กำไร 1 ล้านบาทปีนี้ แล้วปีหน้าจะเป็นเท่าไร (ถ้าเติบโตไปเป็นหลัก 10 ล้านก็ควรจดบริษัท)
- กำไร 1 ล้านบาทปีนี้ แล้วรายได้เท่าไร (รายได้หลักสิบ หลักร้อยล้าน กำไรล้านเดียวก็มี ไม่ควรจดบริษัทเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือเหรอ?)
- กำไร 1 ล้านบาท แล้วมีหลักฐานค่าใช้จ่ายอะไรไหม? เพราะถ้าจดบริษัทก็ต้องใช้หลักฐานจริงนะ (หรือว่ามันผิดที่ธุรกิจกันแน่)
- กำไร 1 ล้านบาท ตัวเลขนี้ ใช่ตัวเลขจริงหรือเปล่า? (ถ้าเป็นตัวเลขประมาณการ ไม่ควรตอบ)
เห็นไหมครับว่า แค่คำถามเดียวแต่ถ้าลงลึกไปแล้วจะได้คำตอบที่แตกต่างกันออกไป อย่าไปเชื่ออะไรง่ายๆ สั้นๆ แล้วบอกว่าเราควรทำแบบนั้นเลยครับ เพราะสิ่งที่ต้องเชื่อที่สุด คือ ตัวเลขบัญชีที่เรามี และการมองเรื่องของค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องภาษีครับ
4. รู้ตัวว่าเมื่อไรควรจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี
หลายคนชอบแนะนำว่า ภาษีวางแผนจัดการเองได้ ผมเองก็เชื่อแบบนั้นครับ แต่ถ้าหากมาถึงจุดหนึ่งแล้ว การใช้ผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อถือได้มาช่วยเหลือนั้นจะเป็นการประหยัดเวลามากกว่า ดังนั้นตรงนี้ลองคิดดูดีๆว่า เรามีความรู้แค่ไหน ควรจะขยับขยายไปอย่างไร และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเหล่านี้เขามาช่วยอะไรเราได้บ้าง ถ้าเราตอบคำถามและเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ดี เราจะรู้ว่าเมื่อไรเราควรใช้ไม่ควรใช้ และมันจะทำให้เรามีเวลามากขึ้นครับ
ถึงแม้ว่าข้อ 2 ผมบอกไว้ว่าอย่าเชื่อกูรู แต่ข้อนี้ผมกลับบอกว่าให้รู้ตัวว่าต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญเมื่อไร นั่น เหตุผลเป็นเพราะว่าบางทีแล้วคุณอาจจะต้องการคำแนะนำเฉพาะด้านที่เอาไปใช้ตัดสินใจ ไปจนถึงข้อมูลในการตัดสินใจเพื่อให้ประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและภาษี ซึ่งถ้าหากคุณไม่เชื่อกูรูแบบง่ายๆอยู่แล้ว มันจะช่วยให้คุณตรวจสอบผู้เชี่ยวชาญได้เช่นเดียวกันครับว่า พวกเขาเป็นมืออาชีพตัวจริงที่คุณควรเลือกใช้หรือเปล่า?
อันนี้ผมพูดกันแบบแฟร์ๆ นะครับ เพราะถ้าบอกว่าทุกอย่างทำเองได้ ก็คงไม่ต้องมีวิชาชีพอะไรทั้งนั้นแหละครับ ธุรกิจก็ทำบัญชีเองได้เลยเพราะนักบัญชีไม่จำเป็น ฟังแล้วมันก็แปลกๆเหมือนกันนะครับ ฮ่าๆ
5. การไม่เริ่มต้นจัดการภาษี คือ ความเสี่ยง
ข้อกฎหมายต่างๆ เรื่องการส่งข้อมูลบัญชีจากธนาคารให้กับกรมสรรพากรเอย หรือ การตรวจสอบแบบ Big Data หรือสังคมไร้เงินสดที่โผล่มาในช่วง 2-3 ปีนี้ ทำให้หลายคนเริ่มกลัวเรื่องภาษีมากขึ้น แต่การจัดการความกลัวนั้นส่วนใหญ่จะตามมาด้วยการหาทางหลบเลี่ยงต่อ ทั้งๆที่ก็รู้ดีนะครับว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นแค่เรื่องชั่วคราว สุดท้ายถ้าถูกตรวจสอบมันก็จะหนักมากกว่าเก่า
บางคนชอบตั้งคำถามว่า
ถ้ายื่นภาษีตอนนี้จะถูกตรวจสอบย้อนหลังไหม
แต่ไม่เคยถามกลับไปว่า
ถ้าไม่ยื่นภาษีตอนนี้ จะโดนอะไรบ้าง?ถ้าถูกตรวจพบ
ดังนั้น ต่อให้คนที่ไม่เคยยื่นภาษีก็ควรยื่นภาษีครับ ทำให้มันถูกต้องไปตั้งแต่ตอนนี้ ยังไงโทษก็บางเบากว่าแน่นอนครับ และขอบอกตรงๆอีกอย่างว่า ถ้าเราดูนโยบายของกรมสรรพากรหรือแนวทางต่างๆที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มักจะเน้นในการเข้าระบบให้ถูกต้องมากกว่า นั่นย่อมแปลว่า การทำถูกต้องไปเลยย่อมดีกว่าการทำผิดแล้วมัวแต่กลัวแน่นอนครับ
เอาล่ะครับ... แนวคิด 5 ข้อทั้งหมดที่เล่ามานี้ เป็นสิ่งที่ผมเจอกับตัวเองจากการทำเพจในปี 2018 เลยถือโอกาสนำมาฝากและเล่าสู่กันฟังครับ เพื่อเป็นแนวคิดในการจัดการภาษีของคนทุกคนเพื่อเตรียมตัวรับปี 2019 ที่กำลังจะมาในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ครับ
สุดท้ายแล้ว ผมหวังว่าข้อคิดพวกนี้จะทำให้ทุกคนมองภาพรวมของภาษีดีขึ้น และมองเห็นแนวทางในการจัดการภาษีของตัวเองดีขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ
...แล้วพบกันใหม่ปีหน้า สวัสดีครับ :)