aom01-01

 

กลับมาอีกครั้ง!! หลังจากบทความ 3 ข้อควรรู้ก่อนเลือกรูปแบบธุรกิจ ของ ภาษีธุรกิจ 101 โดย @TAXBugnoms สำหรับตอนนี้เราจะมาดูกันต่อครับว่า ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเนื่องจากธุรกิจที่ไม่ใส่ใจเรื่องการทำบัญชีนั้น มีอะไรบ้าง

 

ข้อแรก : ใส่ใจเรื่องของการเสียภาษีมากเกินไป

ปัญหาแรกของการวางแผนภาษี คือ การใส่ใจในเรื่องของการเสียภาษีมากเกินไป คำพูดนี้ไม่ได้หมายถึงการมุ่งมั่นตั้งใจเสียภาษีของเจ้าของกิจการนะครับ แต่เป็นการใส่ใจวิธีการหลบหลีกหลีกเลี่ยงและหลีกหนีภาษี รวมถึงสารพัดวิธีที่จะทำให้ตัวเองประหยัดภาษีได้มากที่สุด จนทำให้ลืมคิดไปว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญของธุรกิจ คือ การทำบัญชีที่ถูกต้องต่างหาก

 

อ่านรายละเอียดเรื่องการหนีภาษี เลี่ยงภาษี และวางแผนภาษี
หยุดใช้คำพูดแบบผิดๆ หากคุณคิดจะลดภาษี!

 

ข้อสอง : ไม่เห็นคุณค่าของการทำบัญชี

ปัญหาถัดมา คือ การที่เจ้าของธุรกิจมักจะมองไม่เห็นคุณค่าของการทำบัญชี เพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ของผู้ทำบัญชีหรือสำนักงานบัญชี แต่ที่จริงแล้ว ผมอยากบอกว่านั่นคือหน้าที่ที่เจ้าของธุรกิจที่ต้องรู้นะครับ!!! เพราะการที่รู้เรื่องของบัญชีนั้นจะทำให้ธุรกิจของคุณสามารถไปได้ไวขึ้น และเติบโตได้มากยิ่งขึ้นจากความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง 

 

เจ้าของธุรกิจหลายๆคนมักจะบอกว่า การทำบัญชีไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ผมกลับมองว่าว่ามันสำคัญมาก เพราะมันจะทำให้คุณรู้ว่าธุรกิจของคุณมีจุดบกพร่องและรั่วไหลตรงไหนบ้าง และที่สำคัญที่สุด การรู้บัญชีทำให้คุณสามารถจัดการปัญหาการเงินของธุรกิจได้ดีขึ้นอย่างแน่นอนครับ

 

ดังนั้น.. อย่าให้คนทำบัญชีต้องบ่นเลยครับว่า มัวแต่ไปเน้นที่ยอดขาย บางครั้งยอดขายตก แต่ยอดขายจะเป็นยังไงก็ตาม แผนกบัญชีไม่เคยว่าง เพราะต้องจัดการงานให้ตลอด

 

ข้อสาม : ไม่สนใจคุณภาพของงานบัญชี

เมื่อไม่เห็นคุณค่าของการทำบัญชีจากข้อสองแล้ว ข้อผิดพลาดต่อมาที่เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่เลือกทำคือ การไม่สนใจคุณภาพของงานบัญชี จะดีไม่ดีไม่สน ขอให้ค่าทำบัญชีถูกและประหยัดที่สุดเป็นพอ เพราะไหนๆก็ไม่รู้เรื่องบัญชีอยู่แล้ว จ่ายไปอย่างเดียวก็จบทันที

 

แต่พี่ๆเจ้าของธุรกิจทั้งหลายเคยนึกไหมครับว่า ถ้าเรายอมจ่ายเพิ่มขึ้นอีกสักนิด เพื่อแลกกับงานบัญชีที่มีคุณภาพ มันอาจจะช่วยวางแผนให้เราประหยัดภาษีได้มากขึ้น ควบคุมปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นของธุรกิจได้ รวมถึงป้องกันอันตรายจากการตรวจสอบของพี่สรรพากรได้อีกด้วย

 

ถ้าทุกคนพร้อมใจกันทำแบบนี้
แล้วสำนักงานบัญชีที่มีคุณภาพจะอยู่ได้อย่างไรกันล่ะคร้าบบ

 

ข้อสี่ : ทำบัญชีสองชุด

อีกหนึ่งข้อผิดพลาดที่ร้ายแรงกว่าข้อ 2 และ 3 นั่นคือ การที่เจ้าของธุรกิจหลายๆคนมีแผนสุดเจ๋งว่า อะฮ้า เราก็ทำบัญชีไว้ 2 ชุดซะเลยสิ ชุดนึงไว้ส่งสรรพากรและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดการตกแต่งให้สวยงามไม่มีรายการผิดปกติ จะได้เสียภาษีน้อยๆ  ส่วนอีกชุดนั้นทำตามจริง เอาไว้ใช้ตรวจสอบดูทุกอย่างของกิจการ แบบนี้ก็ดีไหมน้อ

 

แต่ช้าก่อนครับ!!! อย่าลืมนะครับว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันคือสิ่งที่ผิดกฎหมาย และถ้าเรารังเกียจการคดโกงของท่านผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายในประเทศนี้ ก็อย่าทำตัวเป็นเหมือนท่านๆซะเองนะครับ เพราะถ้าเมือ่ไรโดนพี่สรรพากรจับได้ขึ้น โอกาสที่จะเสียภาษีจะเพิ่มเป็นหลายๆเท่า แล้วทีนี้จะมาร้องว่าจะแก้ไขก็คงไม่ทันแล้วนะคร้าบบบ

 

และถ้าหากใครอ่านบทความนี้แล้วคิดจะกลับตัวกลับใจ ผมแนะนำให้รีบทำเลยครับ เพราะเร็วๆนี้ทางกรมสรรพากรจะเสนอทาง ครม.ให้พิจารณาให้มี โปรโมชั่น 'ไม่สอบภาษีย้อนหลัง' จูงใจต้อนรับ 'เอสเอ็มอี' ที่เคยหนีภาษีเข้าระบบให้ถูกต้อง โดยกระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี รับทราบโครงการชื่อว่า ก้าวเดินไปด้วยกันระหว่างกรมสรรพากรกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หากมีการลงบัญชีทางด้านรายรับและรายจ่ายของเอสเอ็มอี โดยมีสมุดบัญชีเพียงเล่มเดียวคือ เล่มที่ยื่นเสียภาษีให้แก่กรมสรรพากร โดยกรมสรรพากรจะขอกระทรวงการคลังและ ครม.ไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังสำหรับกรณีนี้ครับ

 

บางครั้งการทำบัญชีชุดเดียว
เสียภาษีให้ถูกต้องมันง่ายกว่าเยอะครับ!!

 

ข้อห้า : สนใจเรื่องกระแสเงินสดมากกว่าวิเคราะห์การผลดำเนินการ

ข้อสุดท้าย คือ เรื่องการบริหารกระแสเงินสดมากกว่าผลดำเนินการครับ จริงอยู่ที่ว่ากระแสเงินสดนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆในการทำธุรกิจครับ บางธุรกิจขายดีแต่จัดการกระแสเงินสดไม่ดีก็อาจจะพังจนเลิกกิจการได้เลย แต่สำหรับเรื่องของภาษีธุรกิจแล้ว เราต้องไม่ลืมสนใจเรื่องของผลการดำเนินกิจการด้วยครับ เพราะผลดำเนินกิจการที่ถูกต้องนั้นจะบอกว่าเรากำลังได้ “กำไร” หรือ “ขาดทุน” เพื่อให้เราได้ “ปรับปรุง” และ “แก้ไข” ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำๆ เพราะนอกจากธุรกิจที่ขายดีจนเจ็งแล้ว ก็มีธุรกิจที่มีเงินสดหมุนตลอดเวลาแต่ขาดทุนอยู่เหมือนกันครับ!!!

 

แถมบางครั้งถ้าขาดทุนแล้วยังต้องเสียภาษีอีกด้วย เพราะว่าขาดทุนทางบัญชีที่เรารู้จักกันดี เมื่อมาคำนวณตามหลักเกณฑ์ด้านภาษีแล้วอาจจะกลายเป็นกำไรของธุรกิจแทนก็ได้ครับ (สำหรับเรื่องนี้จะเล่าให้ฟังในโอกาสต่อๆไปนะครับ)

 

ดังนั้นบริหารจัดการให้พอดี อย่ามัวแต่ขายดีจนเจ็ง
หรือนับเงินแล้วต้องเซ็งเพราะขาดทุนนะคร้าบบบ

 

สุดท้ายแล้ว.. @TAXBugnoms อยากฝากข้อคิดไว้คือ ไม่ว่าคุณจะวางแผนภาษีธุรกิจอย่างไรก็ตาม กรุณาเห็นความสำคัญของงานบัญชีให้มากขึ้นนะครับ เพราะถ้าจัดการงานด้านบัญชีดีๆ ปัญหาของธุรกิจก็จะน้อยลง และชีวิตเจ้าของธุรกิจก็จะง่ายขึ้นเยอะเลยคร้าบบบ :)

 

aom01-02