หลายคนคงรู้จักกับเจ้า "ปีศาจเงินเฟ้อ" ตัวนี้ดี ทุกปีมันมักจะมาขโมยมูลค่าเงินของเราตลอด เก็บเงินอยู่เฉยๆ แท้ๆ กลับโดนเงินเฟ้อทำให้มูลค่าลดลงซะได้

ในเมื่อมันมาขโมยมูลค่าเงินของเรา เราก็ต้องสู้กับมัน ว่าแต่จะมีอาวุธอะไรบ้างนะ ที่จะพอสู้กับเจ้าเงินเฟ้อได้บ้าง ถ้าเป็นไปได้เอาชนะมันได้ขาดลอยเลยน่าจะดี ไปดูอาวุธชิ้นแรกของถุงเงินกันเลยดีกว่าาา


"ฝากออมทรัพย์"

ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 0.3775%

ผลตอบแทนอันน้อยนิด ถ้าเทียบเป็นอาวุธก็คงจะเทียบได้กับมีดพกสั้น ดูท่าแล้วจะสู้กับเจ้าเงินเฟ้อไม่ค่อยไหวแหะ ก็แน่ล่ะ เพราะในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยออกทรัพย์เฉลี่ยอยู่เพียง 0.4% เท่านั้น ถึงแม้จะมีข้อดีที่ความเสี่ยงของการลงทุนต่ำมากๆ จนแทบเป็นศูนย์ แต่ผลตอบแทนที่เป็นเพียงแค่ดอกเบี้ยอย่างเดียว คงไม่แข็งแกร่งพอจะที่เอาชนะเงินเฟ้อได้แน่ๆ

แล้วอาวุธชิ้นไหนถึงจะพอสู้กับเจ้าเงินเฟ้อได้สูสีบ้างน้า


"ทองคำ"

ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี ประมาณ 6.3%

อัพเกรดขึ้นมาหน่อยกับดาบทองคำ ถือเป็นสินทรัพย์มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ เนื่องจากว่าเป็นทรัพย์สินที่ทั่วโลกต่างยอมรับในมูลค่าของทองคำ

ทองคำนี่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าในตัวเอง ส่วนใหญ่แล้วราคาทองคำจะมีมูลค่าผกผันกับภาวะทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเมื่อภาวะที่เศรษฐกิจไม่ค่อยสู้ดีนัก ไม่รู้ว่าราคาสินค้าจะแพงหรือลดลงเมื่อไหร่ ค่าเงินต่างๆ ก็ไม่ค่อยคงที่นัก การที่เราเก็บทองคำไว้ จึงเป็นอะไรที่ปลอดภัยที่สุด

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ราคาทองคำอยู่ที่ 11,400 บาท เทียบกับในปัจจุบัน ปี 2560 ราคาทองคำอยู่ที่ 21,000 บาท คำนวนด้วยสูตรการลงทุนแล้ว ก็จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 6.3 %

อาวุธอันนี้ดูดี ท่าทางจะสู้กับเจ้าเงินเฟ้อได้สบายๆ


"ที่ดิน"

ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 6.93%

การต่อสู้กับเจ้าเงินเฟ้อ ด้วยการลงทุนในที่ดินนั้นคล้ายๆ กับดาบทองคำ มีผลตอบแทนและความเสี่ยงปานกลาง ไม่มากไม่น้อยเกินไป ถือว่าพอจะสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ในระดับนึง แต่ข้อจำกัดหลักของการลงทุนในที่ดินก็คือราคาที่สูงมาก เพราะฉะนั้นถ้าคิดจะลงทุนในที่ดิน ก็จำเป็นต้องมีทุนมากพอสมควรเลยล่ะ

จากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินของกรมธนารักษ์พบว่าในปี2558 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นจากราคาที่ดินในปี 2554 เฉลี่ยทั้งประเทศได้ประมาณ 27.72 % ในช่วงเวลา 4 ปี เมื่อหารเฉลี่ยแบบง่ายๆแล้ว การลงทุนในที่ดินจะถือว่ามีผลตอบแทน 6.93 % ต่อปี

สูสีกับเจ้าดาบทองคำเลย


"เล่นหุ้น"

ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี ประมาณ 15.6%

ถ้าพูดถึงการเล่นหุ้น เป็นที่ทราบกันดีในเรื่องของความเสี่ยงที่สูงปรี๊ดดด แต่ถ้าเรามีความรู้ในตลาดหุ้นดีแล้วล่ะก็ ผลตอบแทนที่สูงเช่นกันนั้นก็น่าจูงใจเข้าไปลงทุนมากๆ เลยล่ะ

ถ้าลองมองย้อนหลังไปตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2518 SET Index (เป็นตัวแทนของหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์) อยู่ที่ 100 จุด มาในปัจจุบัน ปี 2560 ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1600 จุด คิดเป็นผลตอบแทนได้ประมาณ 11.3 % แต่นั่นเป็นเพียงแค่มูลค่าของทรัพย์สินที่เราถือครองเท่านั้น เพราะหุ้นยังมีเงินปันผลของผลกำไรอีก โดยเฉลี่ยประมาณ 4.5 % รวมเป็น 15.6 % ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ

ดาบเลเซอร์เล่มนี้จึงชนะเงินเฟ้อได้แบบสบายๆ เลยแหละเจ้ามะนูดดดด


"ลงทุนทำธุรกิจ"

ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 100%

มาถึงอาวุธสุดท้ายในการสู้กับเจ้าปีศาจเงินเฟ้อ การลงทุนทำธุรกิจสักอย่างคงจะเป็นอาวุธที่ดูมีพลังและทรงประสิทธิภาพมากๆ แต่ก็นั้นแหละ ความที่มันมีพลังมาก ความเสี่ยงก็สูงมากขึ้นด้วยเช่นกัน แถมยังต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่ ความรู้ความสามารถอีกมากมาย ถึงจะใช้มันได้อย่างคล่องแคล่ว

คงจะเป็นไปได้ยากนะครับที่จะคำนวนผลตอบแทนของธุรกิจ เพราะว่าธุรกิจในโลกนี้นั้นก็มีมากมายหลากหลายรูปแบบเหลือเกิน ถุงเงินเลยลองคิดแบบง่ายๆ ด้วยการสอบถามร้านอาหารทั่วไป ซึ่งก็เป็นการลงทุนในธุรกิจรูปแบบหนึ่ง พบว่าราคาขายกับต้นทุน ต่างกันถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ถ้าเราลงทุนวัตถุดิบ 20 บาท เราก็จะขายได้ในราคา 40 บาท คิดเป็นอัตราส่วนก็ประมาณ 100% เลยเชียว

ดูเหมือนคทาเวทชนะเงินเฟ้อขาดลอย แต่ถ้าเราไม่ใช้มันอย่างรอบคอบ มันก็อาจจะกลับมาทำลายเราจนหมดตัวกันได้เลยนะครับ


เจ้าปีศาจเงินเฟ้อนี่ น่ากลัวกว่าที่เราคิดนะ ปีๆ หนึ่งก็ประมาณ 3-4% เลยทีเดียว ถ้าเงินที่เราเก็บไว้ ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่านั้น เรียกง่ายๆ ว่าเงินเราถูกเจ้าเงินเฟ้อขโมยไปซะแล้ววว

ดังนั้นเจ้ามะนุดควรรู้จักการลงทุนนะ อาจจะเริ่มต้นจากอะไรง่ายๆ ก่อน เช่นการลงทุนในกองทุนรวม หรือ การลงทุนในตลาดหุ้นแบบ DCA ก็ดี ยังไงก็แล้วแต่ศึกษาให้มาก เพราะความรู้จะช่วยลดความเสี่ยงได้

สู้ๆ นะเจ้ามะนุดทุกคน ถุงเงินเป็นจะกำลังใจให้ในการต่อสู้กับเงินเฟ้อนะ



อยากอ่านเรื่องราวทางการเงินดีๆ อีกมากมาย กดตุ่มติดตามเฟสบุคของถุงเงินไว้สิ่

https://www.facebook.com/moneyideasth/



_________________________________
สูตรการลงทุน FV = PV (1+i)^t
FV หรือ Future Value หมายถึงมูลค่าในอนาคตของสินทรัพย์
PV หรือ Present Value หมายถึงมูลค่าปัจจุบันของสินทรัพย์
i หรือ Interest Rate หมายถึงอัตราดอกเบี้ยแบบทบต้น
t หรือ Time หมายถึงจำนวนงวด