วันที่ 26 มี.ค. อภินิหารเงินออมมีโอกาสได้เข้าร่วมงานวันสถาปนาจุฬาฯ ครบรอบ 102 ปี จัดที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ อยู่บริเวณคูเมือง ถ.บุญเรืองฤทธิ์ (ถ้าใครเป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ มาเจอกันที่นี่ได้นะจ๊ะ)
ผู้เข้าร่วมงานร้อยละ 90% เป็นผู้ที่มีชั่วโมงบินสูงม๊าก ผ่านร้อน ผ่านหนาวมามากกว่า 60 ปี เราก็อยากรู้ว่าแต่ละท่านมีวิธีจัดการเงินอย่างไรเพื่อให้มีเหลือกินเหลือใช้ในวัยเกษียณ มีเวลาสัมภาษณ์น้อย เราก็เลือกที่จะถามสั้นๆว่า “ข้อคิดเรื่องการเงิน 1 ข้อ ที่ต้องการบอกเด็กรุ่นใหม่” รวบรวมได้ 5 ท่าน สรุปออกมาสั้นๆในเครื่องหมาย “....” พร้อมกับความคิดเห็นส่วนตัวของอภินิหารเงินออมที่ด้านล่างนะจ๊ะ
5 เรื่องการเงินที่คนรุ่นใหม่ควรทำ
เรื่องที่ 1 การแบ่งเงิน
“ควรแบ่งเงินออกเป็น 4 ส่วน คือ ออมเงิน ค่าใช้จ่ายส่วนตัว
ให้พ่อแม่และการออกสังคม (เช่น การบริจาค การไปงานต่างๆ)
จะแบ่งส่วนละกี่ % ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละคน”
ความคิดเห็นส่วนตัว
ร่างกายแต่ละส่วนของเรามีหน้าที่ของตัวเอง เช่น ตามองเห็นอาหาร มือมีหน้าที่หยิบอาหารเข้าปาก ลำไส้มีหน้าที่บดอาหาร ของเหลือก็ออกมาทางทวารหนัก เรื่องการเงินก็เช่นกัน เงินแต่ละก้อนก็มีหน้าที่ของตัวเอง วิธีทำ คือ ได้รับเงินมาแล้วแบ่งออกมาว่าจะใช้เงินก้อนนี้ทำอะไรบ้าง เพราะการแยกเงินออกเป็นส่วนๆ ทำให้เรารู้ว่าแต่ละเดือนเหลือใช้จ่ายจริงๆได้เท่าไหร่นะจ๊ะ
เรื่องที่ 2 วินัยเรื่องการใช้จ่าย
“รายจ่ายสำคัญกว่ารายได้ เพราะปัจจุบันรายได้หาง่าย มีหลายช่องทาง
ถ้าเราไม่มีวินัยใช้จ่าย แม้ว่าหาเงินได้มากแค่ไหน แต่เก็บเงินไว้ไม่ได้ ชีวิตจะลำบาก
เพราะไม่มีใครดูแลเราได้ไปตลอดชีวิต สุดท้ายเราก็ต้องดูแลตัวเอง ”
ความคิดเห็นส่วนตัว
ถ้าเราเทน้ำใส่โอ่งที่มีรอยร้าว น้ำซึมออกตลอดเวลา ขยันเทลงไปเท่าไหร่ น้ำก็ไม่เต็มโอ่งสักที โอ่งที่รั่วก็เหมือนการใช้จ่ายแบบไม่มีวินัย แต่ถ้าเราปิดรอยรั่วของโอ่ง โดยการปรับนิสัยการใช้จ่าย เข้มงวดกับเงินที่ออกจากระเป๋าก็จะทำให้เรามีเงินเหลือเก็บมากขึ้นนะจ๊ะ
เรื่องที่ 3 สอนเรื่องการเงิน
“เรื่องการเงินควรสอนตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเรื่องการออมเงินที่พ่อแม่ควรทำเป็นตัวอย่าง
เมื่อลูกโตขึ้นก็สอนเรื่องการใช้เงินว่าควรแบ่งเก็บ แบ่งใช้อย่างไร”
ความคิดเห็นส่วนตัว
ในอนาคตสื่อรอบตัวจะมีแต่เรื่องที่ทำให้เราต้องเสียเงิน พยายามทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างล้วนจำเป็นกับชีวิตของเรา แต่ถ้าถึงจุดที่รายจ่ายวิ่งแซงรายได้ ใช้เงินแบบขาดสติก็จะทำให้ชีวิตพังได้ การสอนและปลูกฝังแนวคิดเรื่องการเงินที่ถูกต้องตั้งแต่เด็ก เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักวิธีใช้เงิน
เรื่องที่ 4 การออมเงิน
“การออมเงินสำคัญมาก เพราะอนาคตมีเรื่องที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นเยอะ
ถ้ามีเงินออมเก็บไว้จิตใจจะได้ไม่ว้าวุ่น แล้วถ้ามีโอกาสการลงทุนอะไรผ่านเข้ามา
เราจะได้นำเงินออมก้อนนี้ไปลงทุนได้ทันเวลา”
ความคิดเห็นส่วนตัว
ชีวิตเรามีแต่ความไม่แน่นอน เช่น การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ เสียชีวิต ธุรกิจพังเพราะไฟไหม้ ฯลฯ เมื่อไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเราบ้าง การมีเงินออมเก็บไว้อุ่นใจที่สุด เพราะจิตใจเราสงบ ไม่เครียดและมีเวลาคิดว่าจะทำอะไรต่อไป หรือถ้ามีโอกาสดีๆผ่านเข้ามาจะได้รีบคว้าไว้ เช่น ที่ดินที่เคยเล็งไว้ ตอนนี้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนเรื่องเงิน รีบปล่อยขาย เรามีเงินออมเก็บไว้ได้จังหวะก็เข้าซื้อทันที
เรื่องที่ 5 ลงมือทำทันที
“รายได้เข้ามาแล้วออมเงินทันที 10 - 20% ของรายได้”
ความคิดเห็นส่วนตัว
การลงมือทำสำคัญที่สุด เราจะออมเงินเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับภาระของแต่ละคน ถ้ามีภาระรายจ่ายมาก มีหนี้สินเยอะ อาจจะออมเงินได้น้อย (เช่น วันละ 20 บาทหรือหยอดกระปุกออมสิน) แต่ถ้ามีภาระรายจ่ายน้อย ส่วนใหญ่กินอยู่กับที่บ้าน เป็นโอกาสดีที่ทำให้เราเก็บเงินไปตั้งตัวได้มากขึ้น ซึ่งบางคนออมได้ 50% ของรายได้ ไม่ว่าจะมีเงินมากหรือน้อยก็ต้องออมเงินนะจ๊ะ
ถ้าหิวก็ต้องกิน ถ้าป่วยก็ต้องนอนพักผ่อน ทุกอย่างอยู่ที่การลงมือทำ เรื่องการเงินก็เช่นกัน แนวคิดที่ดีต้องลงมือทำ มันถึงจะได้ผล อภินิหารเงินออมหวังว่าแนวคิดเหล่านี้ผู้อ่านจะนำไปปรับใช้กับตัวเองได้เยอะมากเลยนะจ๊ะ ได้ผลยังไงอัพเดทให้ฟังกันที่เพจอภินิหารเงินออมบ้างนะจ๊ะ
สุดท้ายนี้กราบขอพระขอบคุณแนวคิดของผู้ใหญ่ใจดี 5 ท่าน ที่สละเวลามาให้สัมภาษณ์นะคะ ^^
รศ.สมพร ภูติยานันท์ อายุ 75 ปี
คุณธนานต์ บุญเสรฐ อายุ 72 ปี
คุณสุริโย ประสาทบัณฑิตย์ อายุ 62 ปี
คุณโช้ต อายุ 67 ปี
คุณเปี่ยมสุข จันทรัตน์ อายุ 74 ปี