หลังจากที่ผมเขียนบทความเรื่อง 5 เทคนิค ขอคืนภาษีปี 2560 ให้ไวแบบสุดๆ ไปเรียบร้อยแล้ว ก็มีคนถามเข้ามาเรื่อยๆ เกี่ยวกับการยื่นภาษีครับ มีทั้งประเด็นเรื่องพร้อมเพย์ การกรอกแบบแสดงรายการต่างๆ ผ่านแฟนเพจ TAXBugnoms Line@ หรือแม้แต่ Youtube Channel ซึ่งผมก็ตอบไปตามระเบียบครับว่า ต้องทำอะไรยังไงบ้าง
แต่พอตอบไปสักพัก ลองมานั่งคิดๆดู เอ๊ะ.. แล้วทำไมเราไม่เขียนบทความสรุปมาเลยล่ะ จะได้อ่านกันง่ายๆเวลาตอบคำถาม แถมยังได้แชร์ประสบการณ์ แบ่งปันข้อมูลให้กับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่กำลังจะยื่นภาษีในปีนี้ไปพร้อมๆกันเลย โดยผมได้รวบรวมออกมาเป็น 5 ข้อที่ต้องเช็คก่อนจะยื่นภาษีปี 2559 ให้อ่านกันนี่แหละครับ ออกมาเป็น 5 ข้อสั้นๆง่ายๆในสไตล์ #TAXBugnoms เหมือนเคย เรามาดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
1. เช็คว่าเราสมัครพร้อมเพย์หรือยัง?
สิ่งแรกที่ต้องรู้ไว้และเข้าใจก่อนว่า สำหรับการยื่นภาษีปีนี้ การสมัครพร้อมเพย์จะทำให้เราได้คืนภาษีเร็วกว่า เพราะข่าวตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมาน่าจะเห็นได้ชัดแล้วครับว่า กรมสรรพากรสนับสนุนการคืนภาษีแบบพร้อมเพย์มากกว่าแบบเช็ค (อ้างอิงจาก มีเงินคืนภาษีแต่ไม่มีพร้อมเพย์ได้รับเช็คใน 45 วัน จากเดิม 7 วัน) ซึ่งถ้าใครไม่ได้สมัครก็ต้องยอมรับครับว่าอาจจะได้คืนช้ากว่าปกติ แต่สำหรับคนที่ต้องเสียภาษีเพิ่มนั้น ไม่ว่าจะสมัครหรือไม่สมัครก็ไม่มีผลอะไรกับเราครับ สบายใจได้
ผมเขียนบทความสรุปเรื่องรายละเอียดพร้อมเพย์ไว้ชัดเจนที่นี่ครับ สรุปครบทุกประเด็น พร้อมเพย์กับการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ
2. เช็ครายได้เราว่ายื่นครบไหม?
เรื่องต่อมา ก่อนจะยื่นภาษีนั้น เราต้องรู้ครับว่ารายได้ของเรามีอะไรบ้าง ซึ่งผมขอเน้นอีกครั้งครับว่า ส่วนใหญ่แล้วทุกอย่างที่เราได้มานั้น จะเป็นรายได้ของเราทั้งหมดไม่ว่าจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้หรือไม่ก็ตาม ดังนั้นต้องเช็คก่อนให้แน่ใจครับว่า เราได้เอารายได้ทั้งหมดมายื่นครบถ้วนแล้ว โดยผมให้ข้อมูลตรวจสอบเพิ่มเติมตามนี้ครับ
2.1 เราต้องยื่นภาษีไหม?
กรณีคนโสด รายได้ต่อปีมากกว่า 50,000 บาท กรณีเป็นมนุษย์เงินเดือน และมากกว่า 30,000 บาทต่อปีกรณีไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน
กรณีคนมีคู่ รายได้ต่อปีมากกว่า 100,000 บาท กรณีเป็นมนุษย์เงินเดือน และมากกว่า 60,000 บาทต่อปีกรณีไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน
2.2 เราต้องยื่นรายได้อะไรบ้าง?
รายได้ที่ถูกหักภาษีไว้ รายได้ทุกประเภทที่ถูกหักภาษีไว้นั้น แปลว่า ถือเป็นรายได้ของเรา โดยมีรายได้บางรายการที่เรียกว่า Final Tax ไม่ต้องนำมายื่นภาษี เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล หรือ การขายอสังหาริมทรัพย์ (ที่เสียภาษี ณ กรมที่ดิน) ซึ่งตรงนี้จะอธิบายอีกทีในข้อ 4 ครับ
รายได้ที่ไม่ถูกหักภาษีไว้ จริงๆแล้วถือว่าเป็นรายได้ของเราเหมือนกันและต้องเสียภาษีเช่นเดียวกัน เว้นแต่ว่าจะเป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นตามหัวข้อต่อไปครับ
รายได้ที่ยกเว้นภาษี ปกติแล้ว รายได้ที่ยกเว้นภาษีจะไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้อยู่แล้ว แต่บางรายการ เช่น กำไรจากการขาย LTF,RMF ต้องเอามายื่นรวมด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการเปิดเผยข้อมูลแต่ไม่ต้องเสียภาษีครับ
3. เช็คเอกสารประกอบการยื่นภาษี
สำหรับเอกสารหลักฐานนั้น จะต้องมีครบทั้ง 3 ส่วนครับ นั่นคือ
เอกสารหลักฐานการภาษี หัก ณ ที่จ่าย เป็นใบแสดงว่าเราถูกหักภาษีไว้เท่าไรและมีรายได้เท่าไร เช่น ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย 50 ทวิ ของเงินเดือนทั้งปี หรือฟรีแลนซ์ที่ได้รับทุกครั้งหลังจากจ่ายค่าจ้างงาน หนังสือหัก ณ ที่จ่ายที่ได้รับรางวัลจากการชิงโชค เงินปันผล ดอกเบี้ย และอื่นๆที่มี เก็บพวกนี้มาให้ครบครับ
เอกสารหลักฐานการหักค่าใช้จ่าย ในกรณีที่เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง (ตามจำเป็นและสมควร) ต้องเตรียมเอกสารหลักฐานตรงนี้ไว้ด้วยครับ แต่ถ้าหากเป็นคนที่เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ตรงนี้ผ่านได้เลยครับผม
เอกสารหลักฐานการลดหย่อนภาษี เรื่องนี้พูดไปแล้วในบทความ 5 เทคนิค ขอคืนภาษีปี 2560 ให้ไวแบบสุดๆ แต่อยากจะพูดย้ำอีกทีว่าควรเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนด้วยครับ ไม่ว่าจะเป็น หลักฐานการซื้อ LTF RMF ประกันชีวิต ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ชอปปิ้ง OTOP สงกรานต์ ท่องเที่ยวที่พัก อะไรที่มีต้องจัดชุดใหญ่ไฟกระพิบไว้ล่วงหน้า เพราะเราไม่รู้หรอกครับว่าพี่สรรพากรจะขอดูเมื่อไรครับ
4. เช็ครายการพิเศษที่อาจจะช่วยประหยัดภาษีได้
รายการบางรายจะช่วยประหยัดภาษีให้กับเราได้ครับ เช่น เรื่องของภาษีหัก ณ ที่จ่ายแบบ Final TAX เรื่องของเครดิตภาษีเงินปันผล การขายอสังหาริมทรัพย์ และการลาออกจากงานระหว่างปี โดยผมให้เทคนิคไว้สำหรับเรื่องนี้่ดังนี้ครับ
เช็คว่าภาษีเสียในอัตราที่เกิน % ที่ถูกหักไว้หรือเปล่า (เงินได้สุทธิเกินกว่าฐานภาษีที่ถูกหักไว้) เช่น กรณีของกองทุนรวม คือ 500,000 บาท (อัตรา 10%) ส่วนกรณีของดอกเบี้ยคือ 750,000 บาท (อัตรา 15%) ซึ่งถ้าหากเงินได้สุทธิเกินกว่านี้แล้ว แนะนำว่าไม่ต้องเอามารวมคำนวณภาษีเลยครับ
เอาเงินปันผลจากหุ้นมาลองรวมคำนวณก่อน เผื่อว่าจะได้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผลครับ นั่นคือให้สรุปรายการเงินปันผลจากหุ้นทั้งหมดมายื่นเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 (มาตรา 40(4)(ข)) ดูก่อนครับ แล้วเปรียบเทียบกันดูว่าเราจะได้ภาษีคืนหรือเสียภาษีน้อยลงหรือเปล่า เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีไม่ยื่นครับ
กรณีมีการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไข โดยปกติการไม่นำมารวมคำนวณภาษีตอนปลายปีและเลือกให้หักภาษี ณ ที่จ่ายที่กรมที่ดิน ถือว่าคุ้มค่าที่สุดครับ
กรณีมีการออกจากงานระหว่างปี ให้เช็คด้วยว่าเราทำงานเกิน 5 ปีแล้วหรือยัง เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสิทá