สืบเนื่องจากผมเมื่อวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาผม Insuranger และพรี่หนอม TAXBugnoms ได้รับเชิญจากทาง Cigna ที่จัดสัมมนาให้ความรู้กับลูกค้าของ ซิกน่า ประกันภัย และ แฟนๆออมมันนี่ ในหัวข้อ เคล็ดลับวางแผนประกันสุขภาพให้โดนใจ ง่ายและคุ้ม แบบเจาะลึกทุกประเด็นเกี่ยวกับความสำคัญของการวางแผนประกันสุขภาพ เคล็ดลับการเลือกประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับตนเอง รวมไปถึงผลพลอยได้ด้านภาษีและเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีเมื่อซื้อประกันสุขภาพ  ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรม  ดิโอคุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ กันไปแล้ว
(สำหรับใครที่พลาดไปสามารถดูคลิป Live ย้อนหลังได้ที่นี่เลยครับ คลิก part 1 , part 2 )

วันนี้ผมจึงถือโอกาสมาแบ่งปันเคล็ดลับดีๆเกี่ยวกับ "การวางแผนรับมือค่ารักษาพยาบาล" กันเพิ่มอีกสักนิดครับ 

5 แนวทาง วางแผนรับมือค่ารักษาพยาบาลให้อยู่หมัด

โดยจากผลสำรวจคะแนนสุขภาพและความเป็นอยู่แบบ 360 องศา (Cigna 360’ Well-being Survey) ของ บมจ. ซิกน่า ประกันภัย เพื่อสอบถามถึงทัศนคติและการรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพร่างกาย ด้านสังคม ด้านครอบครัว ด้านการงาน และด้านการเงิน พบว่า...

ความกังวลที่สุดในการใช้ชีวิตของคนไทย ซึ่งเป็นปัญหาความกังวลเดิมๆมาตลอด นั่นก็คือ “ปัญหาทางการเงิน”

จากความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความมั่นคงทางการเงิน และอาจมีเงินไม่พอใช้ยามที่ต้องหยุดทำงานหรือเกษียณ ซึ่งค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เรารู้สึกว่าอาจจะมีเงินไม่พอ จนกลัวว่าจะไม่มีความมั่นคงทางการเงิน นั่นก็คือ “ค่ารักษาพยาบาล” นั่นเอง

สาเหตุก็เพราะ ค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันนั้น มีราคาแพงมาก ค่าห้องเดี่ยวมาตรฐาน + ค่าอาหารในโรงพยาบาลเอกชนทั่วไปใน กทม. ตอนนี้ก็เฉลี่ยเริ่มต้นที่ 4,000-5,000 บาทแล้ว / ค่ารักษาโรคทั่วไปอยู่ที่หลักหมื่นกลางๆ ถึงหลักแสนต้นๆ / ค่ารักษาโรคร้ายแรง อยู่ที่หลักแสนปลายๆ จนถึงหลักล้าน แล้วแต่โรงพยาบาล (ที่มา เว็บไซต์โรงพยาบาลกรุงธนบุรี 2 goo.gl/Asb8jW และโรงพยาบาลกรุงเทพ goo.gl/tbDeZi)

และมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุคนไข้และภาวะเศรษฐกิจ (อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8% ต่อปี) ซึ่งในกรณีที่เราเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็อาจจะจำเป็นต้องใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้ก่อนโรงพยาบาลของรัฐ ที่มีข้อจำกัดในการให้บริการและระยะเวลารอคอยที่นานกว่า จนเป็นความกังวลใจทางการเงินของคนไทยส่วนใหญ่ ว่าอาจจะมีเงินไม่เพียงพอกับค่ารักษาที่เกิดขึ้น หรือถึงแม้จะมีเพียงพอ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเงินเก็บเพื่อเป้าหมายอื่นๆในชีวิตได้

ดังนั้น ในวันนี้ผมจึงขอมาแนะนำ "5 แนวทางการวางแผนเพื่อรับมือกับค่ารักษาพยาบาลให้อยู่หมัด" เพื่อให้เราสามารถหาทางลดความเสี่ยงที่ค่ารักษาจะมากระทบกับเงินในกระเป๋าของเรา ดังต่อไปนี้

5 แนวทาง วางแผนรับมือค่ารักษาพยาบาลให้อยู่หมัด


1. เลือกโรงพยาบาลให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง

โรงพยาบาลเอกชนก็มีหลายระดับหลายราคา แม้ว่าเราจะอยากได้รับการรักษาที่ดีที่สุด แต่หากมันราคาแพงเกินไป สุขภาพกายของเราอาจจะดีขึ้นจริงแต่สุขภาพการเงินของเราอาจจะแย่ลงไปแทน ดังนั้นเราก็ควรจะเลือกโรงพยาบาลที่มีค่ารักษาที่เหมาะสมกับฐานะความเป็นอยู่ของเราไว้ก่อน โดยค่าใช้จ่ายที่สามารถหาข้อมูลได้ส่วนใหญ่คือ ค่าห้อง หรือค่ารักษาโรคทั่วไปบางโรค คำแนะนำเบื้องต้นก็คือ ควรเลือกโรงพยาบาลที่มีอัตราค่าห้องและค่ารักษาพยาบาลที่ควรจะสอดคล้องกับรายได้ของเรา โดยค่าห้อง(รวมค่าบริการพยาบาลและค่าอาหาร) ต่อคืน ไม่ควรเกิน 10% ของเงินเดือนของเรา เช่น เงินเดือน 50,000 บาท ก็ควรเลือกโรงพยาบาลที่มีค่าห้องไม่เกิน 5,000 บาท ต่อคืน เป็นต้น 


2. ใช้ประโยชน์จากสวัสดิการรักษาพยาบาลที่มีอยู่จากที่ทำงาน

ลองสำรวจดูว่า บริษัทหรือที่ที่เราทำงานอยู่ มีสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมค่ารักษาอย่างไร และเท่าไหร่บ้าง เพื่อที่ว่าหากเราต้องเข้ารับการรักษาแล้ว เราจะสามารถเบิกค่ารักษาเรื่องไหนได้บ้างและได้เท่าไหร่ ขาดเหลืออีกเท่าไหร่ที่อาจจะต้องควักเงินจ่ายเพิ่มเพื่อจะได้เตรียมตัวได้ถูก ซึ่งโดยทั่วไป ถ้าเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ก็อาจจะมี “ประกันกลุ่ม” ที่คุ้มครองค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ (แต่วงเงินความคุ้มครองอาจจะไม่เพียงพอ) รวมถึงสิทธิ์ประกันสังคม ที่ชดเชยค่ารักษาในโรงพยาบาลรัฐ ส่วนคนที่ทำงานราชการ ก็จะมีสวัสดิการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐที่สามารถเบิกได้เกือบทั้งหมดเช่นกัน ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่สามารถเบิกค่ารักษาหากเข้าโรงพยาบาลเอกชนได้ แต่อย่างน้อย เมื่อถึงคราวจำเป็นและไม่มีตัวเลือกอื่น ก็ยังสามารถใช้สิทธิ์เบิกจ่ายในโรงพยาบาลของรัฐไปก่อนได้ อย่างไรก็ตามเราก็ควรวางแผนเตรียมเงินกรณีฉุกเฉินส่วนที่เกินจากสวัสดิการที่มี เผื่อกรณีฉุกเฉินที่เราจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลเอกชนจริงๆเอาไว้ด้วย


3. วางแผนทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม

หากเรามีเงินเหลือพอสมควร เราควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาทำประกันสุขภาพ กับบริษัทประกันชีวิต หรือวินาศภัย เพื่อสร้างความคุ้มครองส่วนตัว ข้อดีก็คือ ประกันสุขภาพสมัยนี้มีให้เลือกมากมายหลากหลายประเภท และแพ็กเกจ ตามความเหมาะสมของค่ารักษา และเงินในกระเป๋า ที่ช่วยให้มีโอกาสครอบคลุมค่ารักษาที่เกิดขึ้นของโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น ทั้งแบบเหมาจ่ายค่ารักษา หรือแบบแยกรายการความคุ้มครอง แต่โดยพื้นฐาน ก็ควรเลือกประกันสุขภาพที่เป็นความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลทั่วไป เช่น ค่าห้อง ค่าผ่าตัด เอาไว้ก่อน โดยเลือกแพ็กเกจที่วงเงินสอดคล้องกับค่ารักษาของโรงพยาบาลที่เราเลือกไว้ (ถ้าใครมีสวัสดิการค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนอยู่แล้ว ก็อาจจะทำเพิ่มเฉพาะส่วนที่ขาด) หากมีงบประมาณเหลือ ก็อาจเพิ่มความคุ้มครองกรณี โรคร้ายแรง หรืออุบัติเหตุเพิ่มเข้าไป เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงกรณีเราเป็นโรคร้ายแรง (เช่น มะเร็งหรือหลอดเลือดหัวใจ) หรือทุพพลภาพเอาไว้ด้วยก็ได้ แต่ต้องระวังไม่ให้ค่าเบี้ยทั้งหมดสูงเกินไปจนเราจ่ายไม่ไหวหรือรู้สึกเป็นภาระ โดยที่ โดยทั่วไป ค่าเบี้ยประกันไม่ควรเกินประมาณ 10% ของรายได้ทั้งปีของเรา

ข้อควรระวังคือ นอกจากเราจะดูค่าเบี้ยที่เหมาะสมกับปัจจุบันแล้ว เราก็ควรจะประเมินศักยภาพในการจ่ายเบี้ยในอนาคตของเราเอาไว้ด้วย เนื่องจากค่าเบี้ยประกันสุขภาพ มักจะปรับเพิ่มขึ้นตามอายุ ทำให้ค่าเบี้ยในช่วงที่เราเริ่มอายุมาก โดยเฉพาะในช่วงเกษียณอายุ จะมีค่าเบี้ยค่อนข้างสูง ดังนั้น เราจึงอาจจะต้องวางแผนลงทุน หรือเตรียมเงิน เพื่อไว้จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันช่วงหลังเกษียณเอาไว้ด้วย 

นอกเหนือจากนี้ อย่าลืมว่า "ค่ารักษาพยาบาลนั้นปรับเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ" ทำให้ประกันสุขภาพที่เราวางแผนทำไว้ อาจจะไม่ครอบคลุมค่ารักษาในอนาคตได้ เราจึงควรทบทวนกรมธรรม์ที่ทำไว้อยู่เสมอ ว่าความคุ้มครองที่ทำไว้ ยังเหมาะสมกับค่ารักษาอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ครอบคลุมแล้ว ก็อาจจะพิจารณาทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม หรือเลือกที่จะเตรียมเงินด้วยตัวเองอีกส่วนหนึ่ง เพื่อรองรับค่ารักษาส่วนที่ขาดไป เอาไว้ด้วยอีกทางหนึ่ง ส่วนจะเลือกวิธีไหน ก็ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมกับฐานะ และกำลังความสามารถในการเตรียมเงินหรือจ่ายเบี้ยประกันของเราเอาไว้ด้วย

 

4. อย่าลืมเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาล เมื่อคิดจะย้ายบริษัท

สำหรับใครที่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลจากบริษัทที่ทำงานอยู่ที่ดีมากๆ เช่น อาจจะให้เบิกค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด หรือเกือบหมด รวมถึงสวัสดิการด้านอื่นๆ แม้จะเป็นข้อได้เปรียบ แต่ก็อาจเป็นข้อจำกัดด้วยเช่นเดียวกัน เพราะถ้าหากวันหนึ่งเราเกิดพิจารณาอยากย้ายงานไปทำงานที่อื่น อย่าลืมว่า สวัสดิการที่เรามีอยู่ก็จะต้องเปลี่ยนไป หรือหายไปด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ ต้องดูดีๆว่าสวัสดิการเป็นอย่างไร หากสวัสดิการรักษาพยาบาลดีๆที่มีอยู่ต้องหายไป จะอาจจะจำเป็นต้องวางแผนเรื่องนี้ใหม่ ให้ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น จึงต้องพิจารณาดีๆ รวมถึงคนที่มีสวัสดิการค่ารักษาดีๆจากที่ทำงาน ที่กำลังใกล้จะเกษียณ อย่าลืมว่า ถ้าเกษียณแล้ว สวัสดิการที่มีอยู่ ก็จะหายไปด้วย ดังนั้น ก็ควรจะต้องเตรียมตัววางแผนเอาไว้ล่วงหน้า ว่าจะต้องเตรียมเงินสำหรับค่ารักษา หรือค่าเบี้ยประกันหลังเกษียณไว้เท่าไหร่จึงจะเหมาะสมเพียงพอเอาไว้ด้วย


5.ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสเจ็บป่วย

การเตรียมเงินค่ารักษา ใช้สวัสดิการ หรือทำประกันสุขภาพ เป็นการเตรียมตัว ณ ปลายเหตุ คือตอนที่เกิดการเจ็บป่วย และเกิดค่ารักษาขึ้นเรียบร้อยแล้ว แต่ทางที่ดีที่สุดคือ เราไม่ต้องเจ็บป่วย หรือลดโอกาสเจ็บป่วยลงให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้ดี ทั้งการทานอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่โหมใช้ร่างกายหนักจนเกินไป เพราะร่างกายของเราไม่ใช่เครื่องจักร คงไม่คุ้มกันแน่ ถ้าเราทำงานหนัก หาเงินได้เยอะ แต่กลับทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรมแล้วต้องนำเงินที่หามาได้มาใช้ในการรักษาพยาบาลตัวเองอีกรอบ ดังนั้น การเตรียมตัวรับมือค่ารักษา จึงควรจะทำควบคู่พร้อมกันไปกับการดูแลรักษาสุขภาพตัวเอง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยอีกแรงหนึ่ง

5 แนวทาง วางแผนรับมือค่ารักษาพยาบาลให้อยู่หมัด

หวังว่าทั้ง 5 แนวทางที่ได้แนะนำไป จะเป็นแนวทางที่มีประโยชน์ที่สามารถช่วยให้ทุกคนสามารถกลับไปวางแผนรองรับความเสี่ยงเรื่องการเจ็บป่วยและค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นได้นะครับ


เหนือสิ่งอื่นใด คือต้องไม่ลืมว่าอะไรก็เกิดขึ้นกับชีวิตของเราได้เสมอ ดังนั้น เราควรจะใช้ชีวิตด้วยความรอบคอบไม่ประมาท ด้วยการวางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะเรื่อง "การเงิน"

เพราะถ้าเรายิ่งเริ่มต้นได้เร็วเท่าไหร่ ภาระที่เราต้องเตรียมก็จะยิ่งลดน้อยลงมากขึ้นเท่าไหร่ เพื่อที่สุดแล้ว ความมั่นคงการเงิน จะได้ไม่เป็นเรื่องที่เราต้องกังวลอีกต่อไป

เพราะทั้งเรื่อง “สุขภาพ” และเรื่อง “การเงิน”
เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันมากกว่าที่เราคิดครับ


บทความนี้เป็น Advertorial