ในตอนที่แล้ว "5 กุญแจสำคัญที่ต้องรู้ ไขประตูอิสรภาพในวัยเกษียณฯ (ภาคแรก)" ผมได้พูดถึงกุณแจสองดอกแรกที่มีผลต่อแผนการเกษียณฯมากที่สุด นั่นก็คือ "เวลา" และ "เงินเฟ้อ" (ใครยังไม่ได้อ่านคลิกที่ภาคแรก ไปอ่านได้เลยนะครับ) และนั่นพอจะทำให้หลายๆคนตระหนักถึงแผนการเกษียณของตัวเองกันไปบ้างแล้ว

และในบทความสุดท้ายของซีรีส์นี้ (มีแค่สองตอน พูดเหมือนเยอะ) ผมขอกล่าวถึงปัจจัยที่จะทำให้แผนของทุกคนนั้นเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย !! 

กุญแจสำคัญดอกที่ 3: วางแผนเกษียณฯนะคุณ ต้องมีเงินลงทุนนะครับ!!

อย่างที่ได้บอกไปว่า"เงินเฟ้อ"จะทำให้มูลค่าในอนาคตของเงินจำนวนเท่ากันในปัจจุบันมีค่าน้อยลง

จริงอยู่ว่าการลงทุนมีความเสี่ยงที่เงินลงทุนเริ่มต้นอาจจะหายไปบางส่วน แต่ถ้าลองคิดดู จะฝากเงินทั้งชีวิตไว้ในออมทรัพย์เพื่อกินดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว มันดีแล้วหรอ!? เพราะผลตอบแทนสุทธิหลังจากหักเงินเฟ้อจะติดลบนะครับ !!!

กลายเป็นว่า การไม่ลงทุน มีความเสี่ยงยิ่งกว่า หากมองภาพในระยะยาว

ดังนั้นใครที่ยังไม่เริ่มลงทุน ผมขอร้องเหอะ ลองศึกษา แล้วลงทุน "ให้เร็วที่สุด" ถ้ารีรอหรือยังกล้าๆกลัวๆ เท่ากับคุณมีสิทธิ์เสียโอกาสที่จะได้รับเงินจำนวนมากในอนาคตก็ได้นะ

ถ้ายังไม่เห็นภาพ ผมมีตัวอย่างเรื่องการเสียโอกาสในการลงทุนของปู่วอเรนต์ บัฟเฟตต์ นักลงทุนเบอร์หนึ่งของโลก มาเล่าให้ฟัง

ในปี 2003 ปู่ได้เปิดเผยให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทฟัง เมื่อถูกถามถึงเคสการลงทุนที่แย่ที่สุดในหลายปีที่ผ่านมา ว่า..."การลงทุนที่แย่ที่สุดงั้นหรอ? อืมม...ปู่เคยคิดว่าจะซื้อหุ้น Walmart (หุ้นค้าปลีกชื่อดังของอเมริกา) ซัก 100 ล้านเหรียญฯ ตอนนั้นราคาหุ้นอยู่ที่ 23 เหรียญฯ ปู่เลยซื้อไปนิดๆหน่อยๆ พอซื้อปุ๊ปราคามันก็ขยับขึ้น!! ปู่ก็เสียดายไง รู้สึกว่าถ้าซื้ออีกเดี๋ยวจะซื้อแพง..อยากให้ราคาหุ้นมันลงมาต่ำกว่านี้อีกหน่อยแล้วค่อยซื้ออีกรอบ..

สรุป..ราคามันวิ่งขึ้นไปและไม่กลับลงมาให้ปู่ได้ซื้ออีกเลย..อดไปดิ ปู่พลาด ไม่ลงทุนไปตามแผนที่วางไว้ คิดดูแล้วมูลค่าความเสียหายเหล่านั้น ถ้าเทียบเป็นเงินในปัจจุบันก็ราวๆ 10,000ล้านเหรียญฯได้ !!!"

ขนาดนักลงทุนระดับโลกยังพลาดกันได้..แล้วโอกาสการลงทุนของคุณล่ะ? ถ้ายังไม่คิดจะเริ่ม เท่ากับคุณทิ้งเงินที่จะได้รับจากการลงทุนไปเท่าไหร่? คำตอบนี้ต้องลองหามันด้วยตัวเองแล้วแหละ!!!

ในการวางแผน เงินที่จะใช้ภายหลังเกษียณฯของแต่ละคนต่างกัน มูลค่ารวมของเงินที่ต้องใช้นั่นแหละ คือ "เป้าหมายของแผนการเงิน" (ของใคร มีมูลค่าเท่าไหร่ ก็ลองกรอกตัวเลขลงในตารางที่ผมเคยแจกไปดูนะ)

เมื่อได้เป้าหมายแล้ว สิ่งต่อมาคือ "วางแผนการลงทุน" เงินที่ควรจะใช้เริ่มต้นลงทุน (ในปัจจุบัน หรือ ปีที่ 0) ควรจะมีเท่าไหร่? หลังจากนี้ควรจะเก็บเงินให้ได้อย่างน้อยปีละเท่าไหร่? หรือ จะใส่เงินลงทุนเข้าพอร์ตสำหรับการเกษียณฯเท่าไหร่ และเมื่อไหร่บ้าง? สิ่งเหล่านี้เราสามารถกำหนดได้ด้วยตัวเอง

กุญแจสำคัญดอกที่ 4: อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน

และอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อการวางแผนการเกษียณฯ คือ "อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน" ซึ่งปัจจัยนี้มันไม่ค่อยแน่นอน เป็นเรื่องที่เรากำหนดได้ยาก เพราะเราไม่รู้ว่าเงินที่เราลงทุนไปจะได้ผลตอบแทนหรือขาดทุน อย่างมากก็ทำได้แค่ประมาณการผลตอบแทนโดยเฉลี่ยต่อปีเท่านั้น

ผลตอบแทนจากการลงทุน จะช่วยให้เงินลงทุนเติบโตยิ่งขึ้น บางครั้งผลตอบแทนก็มาในรูปแบบ Fixed Income คือ ดอกเบี้ย หรือเงินปันผลจากกองทุนรวมบางประเภท

ยิ่งได้ผลตอบแทนทบต้นที่สูง เงินลงทุนก็เติบโตได้ไว เหมือนกับปุ๋ย ที่เป็นตัวเร่งให้เงินลงทุนเจริญงอกงาม

งั้นลองมาดูผลตอบแทนที่คาดหวังจากสินทรัพย์ชนิดต่างๆกัน ผมเก็บข้อมูลย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2007-2017) พบว่า…

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 2.35% ต่อปี

อัตราดอกเบี้ยจากพันธบัตรรัฐบาล 1-3 ปี เฉลี่ยได้ผลตอบแทน 2.94% ต่อปี

หุ้นกู้ภาคเอกชน ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 6.24% ต่อปี

ทองคำ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 7.75% ต่อปี

ตลาดหุ้น ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 17% ต่อปี

จะเห็นได้ว่าสินทรัพย์แต่ละชนิดให้ผลตอบแทนที่ต่างกัน และมีความเสี่ยงที่ต่างกันด้วย ซึ่งความเสี่ยงนั้นมาจากความผันผวนของสินทรัพย์แต่ละชนิด

เช่น ในปี 2008 ในช่วงที่อเมริกาเกิด Hamburger Crisis ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ตลาดหุ้นไทย (SET) ได้รับอานิสงค์ ผลตอบแทนในปีนั้น ติดลบ 40% กว่า และปีต่อมาก็กลับมาทำกำไรให้นักลงทุนได้ถึง 60% แต่ในขณะเดียวกัน หุ้นกู้ภาคเอกชนกลับมีความผันผวนน้อยกว่า หุ้นกู้ทำผลตอบแทนให้นักลงทุนเป็นบวกอย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่ขาดทุน แต่ผลตอบแทนก็ไม่ได้เยอะเท่ากับตลาดหุ้น ในช่วงที่เป็นขาขึ้น

ถือเป็นเรื่องยาก ในการกำหนดผลตอบแทนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนมากๆ เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำ แล้ว..ถ้าอยากกำหนดผลตอบแทนโดยเฉลี่ยให้ใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้ล่ะ พอจะมีวิธีไหนบ้าง?

การลงทุนโดยจัดสัดส่วนสินทรัพย์ หรือ Asset Allocation เป็นวิธีลดความผันผวนในการลงทุน ด้วยการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ชนิดต่างๆ เพราะความเสี่ยงที่ต่างกัน เมื่อสินทรัพย์ชนิดหนึ่งให้ผลตอบแทนติดลบ แต่อีกชนิดหนึ่งจะสร้างผลกำไรให้ ทำให้พอร์ตฯการลงทุนไม่ติดลบมากจนเกินไป

เหมือนการวางไข่ไว้ในตระกร้าหลายๆใบ หากตระกร้าใบหนึ่งหล่น ไข่แตกเสียหาย เราก็ยังมีไข่จากตระกร้าใบอื่นๆเหลืออยู่ เพียงแต่ว่าเราเลือกที่จะวางไข่ลงในตระกร้าแต่ละใบด้วยสัดส่วนเท่าไหร่?

ถ้าไม่สามารถรับความเสี่ยงได้เยอะ ก็ให้ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท Fixed Income อย่าง พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ กองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เป็นสัดส่วนใหญ่ แต่ถ้าชอบผลตอบแทนเยอะๆ รับความเสี่ยงได้สูง ก็จัดสัดส่วนเงินลงทุนในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็น ซื้อกองทุนรวมในหุ้น หรือ ซื้อหุ้นเป็นรายตัวก็ได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคนแล้วล่ะครับ

อัตราผลตอบแทนของเงินลงทุน ควรจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะเวลา และความสามารถในการรับความเสี่ยง อย่างที่บอกไปในตอนแรก ฉะนั้น จัดพอร์ตฯให้เหมาะสมกับปัจจัยอื่นๆด้วยนะครับ

กุญแจสำคัญดอกสุดท้าย: ป้องกันความเสี่ยงในยามฉุกเฉิน ด้วยประกันสุขภาพ

ทั้งหมดที่กล่าวมาตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนนี้ ผมให้ความสำคัญกับเรื่องค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นหลัก เพราะมันเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด แต่ถ้าเงินก้อนนั้นมีโอกาสที่จะถูกรบกวนด้วยปัจจัยอื่นๆล่ะ !?

จากตัวอย่างในข้อแรก 

นายทุเรียนอายุ 40 ปี มีเงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท เงินออมเดือนละ 20,000 บาท มีค่าใช้จ่าย 20,000 บาทต่อเดือน และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่บนโลกจนถึง 90 ปี ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 7% ต่อปี อัตราเงินเฟ้อ 2.10% ต่อปี อยากจะออกจากงาน ตอนอายุ 50 ปี 

หากนายทุเรียน ตั้งใจจะเกษียณฯตามแผนนั้น จะต้องใช้เงินภายหลังเกษียณฯทั้งหมด 240,000 x 40 = 9,600,000 บาท เมื่อคิดอัตราเงินเฟ้อที่ 2.10% ต่อปีเงินที่ต้องมีจะกลายเป็น 19 ล้าน บาท เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัว !!!

ซึ่งวิธีเตรียมเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ไม่ยาก! หากเริ่มลงทุนก้อนแรก 1 ล้านบาท ออมเงินได้ปีละ 240,000 บาท และจัดพอร์ตลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 7% ตามแผนที่วางไว้

เงินทั้งหมดที่เตรียมไว้ ก็จะเพียงพอต่อการเกษียณฯ โดยมีวินัยในการใช้จ่ายตามแผนที่วางไว้ และต้องไม่มี"ค่าใช้จ่ายพิเศษ" อื่นๆมารบกวนเงินก้อนนี้อีกด้วย

หากวันข้างหน้า มีค่าใช้จ่ายต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น แล้วเรา “พอจะคาดเดาได้” อย่างเช่น ซื้อบ้านใหม่ ซื้อรถคันใหม่ ให้ญาติกู้ยืม ให้เราลองประมาณการค่าใช้จ่ายเหล่านี้คร่าวๆแล้วเตรียมเพิ่มจากเงินก้อนเดิมอีกทีก็ได้

แต่อย่าลืมว่า ยังมีค่าใช้จ่ายที่เรา “คาดไม่ถึง” เช่น อุบัติเหตุ หรือ โรคภัยไข้เจ็บร้ายแรง มักจะมาหาเราโดยไม่รู้ตัว ซึ่งผลกระทบด้านการเงินจากเหตุการณ์เหล่านี้ค่อนข้างรุนแรง

เมื่อดูข้อมูลจากโรงพยาบาลเอกชนระดับกลาง พบว่า

ค่ารักษาโรคกระดูกพรุน 1 แสนบาท ค่าผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โรคหลอดเลือดสมองแตกเฉียบพลัน 2.5 แสนบาท

ผ่าตัดรักษาโรคหัวใจ 6 แสนบาท และโรคมะเร็งมากกว่า 1 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งยังไม่รวมค่าห้อง ค่าแพทย์ ที่ใช้ในการรักษาตัวเฉลี่ยคืนละ 7,000-10,000 บาทอีกต่างหาก

คงไม่มีใครอยากเสียเงินไปกับการรักษาตัวแพงขนาดนี้ และคงไม่มีใครอยากใช้บริการสถานพยาบาลของรัฐที่มีคนไข้รอต่อคิวเยอะมาก ไม่ว่าใครก็อยากเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง

ทางที่จะป้องกันเรื่องนี้ได้ คือการทำ “ประกันสุขภาพ” ซึ่งเป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้กับบริษัทประกันภัย โดยใช้เงินก้อนเล็ก (เบี้ยประกัน) แลกกับเงินก้อนใหญ่ (ค่ารักษาพยาบาล) เป็น การสร้างเกราะคุ้มกันเงินสำหรับใช้ในยามเกษียณ อีกที แบบที่หลายคนพูดกันว่า

“ประกันสุขภาพทำไป แม้จะไม่ได้ใช้ แต่มีไว้อุ่นใจกว่า!”

และทั้งหมดคือกุญแจสำคัญของ การวางแผนเกษียณฯ ที่ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ อย่าลืมว่า ทุกวันนี้เรายังทำงาน เพื่อหาเลี้ยงปากท้องของเราและคนในครอบครัวอยู่ เมื่อถึงวันที่เราหยุดทุกอย่างแล้ว เราควรจะมีเงินสะสมไว้ใช้เอง จะได้ไม่ต้องรบกวนลูกหลาน หรือถ้าเป็นโสด ก็สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ในยามแก่ได้อย่างสบาย

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องสำคัญของคนไทยทุกคน

"อยากเป็น 3% ของคนไทยที่มีความสุขในยามชราภาพ หรืออยากเป็น 97% ที่ล้มเหลวในการวางแผน ก็อยู่ที่คุณแล้วล่ะครับ"