เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ใครติดตามในเพจของผมอยู่ตลอด จะเห็นว่าผมมีแจกไฟล์แบบฟรีๆ !! สำหรับ "วางแผนเกษียณฯแบบง่าย" ไว้ให้แล้ว (ใครยังไม่ดาวน์โหลดมาใช้วางแผน ลองไปโหลดกันนะครับ ผมแปะลิงค์ให้ในตอนท้ายบทความแล้วนะ)

ซึ่งไฟล์ที่แจกไป จะเห็นเลยว่าปัจจัยอะไรที่มีความสำคัญสำหรับการวางแผนบ้าง ผมเชื่อว่าหลายคนได้ลองดีไซน์แผนของตัวเองกันบ้างแล้วแหละ บางคนก็สำเร็จ (ถ้าเกิดว่าทำตามแผนที่วางไว้ได้เป๊ะๆนะ) แต่บางคนก็ไม่สำเร็จ (เพราะแผนที่คิดไว้มันไม่สามารถช่วยให้เรารีไทร์ได้ตามต้องการ)

แล้วเราควรจะปรับแผนอย่างไร? เพื่อให้แผนการทั้งหมด เป็นไปตามที่เราต้องการ ผมขอพูดถึง "กุญแจสำคัญ 5 ดอก" ที่จะช่วยไขประตูอิสรภาพในวัยเกษียณ อย่างง่ายไว้ในบทความ ซีรีส์นี้ขอแบ่งเป็น 2 ตอนนะครับ เวลาอ่านจะได้ไม่เหนื่อยมากไป ถ้าอยากรู้ว่ากุญแจ 5 ดอกนี้มีอะไรบ้าง ไปดูพร้อมกันเลยครับ

กุญแจสำคัญดอกแรก : ระยะเวลาในการเตรียมตัว

เห็นได้ชัดเลยว่าถ้าเราวางแผนกันตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนที่ยังเป็นหนุ่มสาวเอ๊าะๆ จะมีโอกาสสำเร็จ มากกว่าคนที่อายุเยอะกว่า หรือเตรียมตัวช้ากว่า เพราะมีคนที่อายุน้อยโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนในการลงทุนที่มากกว่า เงินที่ลงทุนไว้สามารถนำไปรับความเสี่ยงได้มากกว่า มีทางเลือกมากกว่า เป็นต้น

ถ้าลองให้ปัจจัยอื่นคงที่ไว้ และปรับเปลี่ยน "ระยะเวลา" อย่างเดียว ใครที่มีเวลาเตรียมตัวมากกว่า ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จในการวางแผน ส่วนคนที่มีเวลาน้อย ทางแก้คือ เพิ่มอัตราผลตอบแทน, จำนวนเงินออม หรือ เงินลงทุนเริ่มต้น ให้มากขึ้นกว่าเดิม แต่จะปรับมากก็ไม่ได้ เพราะ ทางเลือกมีน้อยลงเมื่ออายุเยอะขึ้น

คนที่มีระยะเวลาเตรียมตัวก่อนเกษียณน้อย จะถูกบังคับให้เตรียมเงินลงทุนเยอะๆ หรือไม่ก็ต้องหาการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงๆ...แล้วผลตอบแทนที่สูงก็ต้องแลกด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้นเป็นธรรมดา

Ex.1นายทุเรียนอายุ 40 ปี กับนายจิงโจ้อายุ 45 ปี มีเงินลงทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท เงินออมเดือนละ 20,000 บาท มีค่าใช้จ่าย 20,000 บาทต่อเดือน และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่บนโลกจนถึง 90 ปี

ทั้งคู่ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 7% เท่ากัน อัตราเงินเฟ้อ 2.10% ต่อปี อยากจะออกจากงาน ตอนอายุ 50 ปี จึงเริ่มวางแผนพร้อมกัน ณ วันนี้

กรณีนี้ทั้งคู่มีเวลาเตรียมตัวต่างกัน 5 ปีเท่านั้น แต่ ทุเรียน มีโอกาสที่จะมีเงินใช้จากแผนที่ได้ลงทุนไว้จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ต่างจาก จิงโจ้ เงินที่เตรียมไว้ของเขาจะหมดก่อนอายุ 90 ปี  ถ้าอยากให้แผนของจิงโจ้สำเร็จ นายจิงโจ้จะต้อง...

ยืดเวลาออกไปอีกอย่างน้อย 5 ปี (อายุ 55 ปี) หรือ

เพิ่มเงินออมเป็นเดือนละ 50,000 บาท หรือ

ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 11% ขึ้นไป

คำถามคือ.."คุณกล้าพอที่จะเอาเงินที่เตรียมไว้ทั้งหมด ไปเสี่ยงกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้นมั๊ย???"

ถ้าคำตอบคือ “ไม่กล้า หรือ ไม่แน่ใจ” นั่นแปลว่า แผนการเกษียณฯของคุณ อาจจะสำเร็จได้ยากแล้วล่ะครับ ในที่สุดก็จะบ่นกับตัวเองว่า "รู้งี้! วางแผนไว้ตั้งแต่เริ่มงานแรกๆก็คงจะดี..."

เพราะคนที่เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ มีเวลามากกว่า สามารถปรับเปลี่ยนเงินลงทุน, เงินออม และอัตราผลตอบแทน มากน้อยแค่ไหนก็ได้ ได้เปรียบทั้งทางเลือกในการลงทุน การเตรียมตัว และความยืดหยุ่นของแผน ผมคิดว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ "ระยะเวลา" นี่แหละ!!

ส่วนใครที่ชะล่าใจ ชิลล์ยิ่งกว่าใคร คิดเองว่า "เฮ้ยย..ยังไม่ถึงเวลาหรอก อายุยังน้อยอยู่เลย ใช้ชีวิตไปเด้! เรื่องแบบนี้ให้คนอายุเยอะๆเค้าทำกัน"

ครับ..งั้นรออีก 20-30 ปีค่อยเตรียมก็ได้ครับ..

เตรียมตัวทำงานต่อไปนะ! เพราะอาจจะมีเงินไม่พอใช้ตามเป้าไงล่ะ

กุญแจสำคัญดอกที่ 2 : เงินเฟ้อ..กับสิ่งที่ต้องเจอเมื่อวางแผน

"เมื่อก่อนกินก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 สตางค์เอง สมัยนี้นะ 35 บาท ทำไมแพงจังโว้ยย !!" เป็นคำพูดที่ผู้ใหญ่มักใช้บ่นเรื่องข้าวยากหมากแพงให้เด็กสมัยนี้ฟัง ซึ่งความเป็นจริงของปริมาณเท่าเดิม มูลค่าเท่าเดิม แต่ต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์หนึ่ง..

มันเกิดจาก "เงินเฟ้อ" ที่กำลังจะพูดนี่แหละ!!!

สมมติว่า ผมบังคับให้ทุกคนทานก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารหลักทุกมื้อ ตอนนี้ราคาเฉลี่ยก๋วยเตี๋ยวชามละ 35 บาท วันนึงกิน 3 ชาม ค่าอาหารต่อวันคือ 35 x 3 = 105 บาท เดือนนึงจะต้องใช้เงินสำหรับทานก๋วยเตี๋ยว 3,150 บาท

ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 2.10% ต่อปี ย้อนหลัง 10 ปี (2550-2559)

เพื่ออนาคตจะได้กินก๋วยเตี๋ยวเจ้าโปรดเจ้าเดิม ในปริมาณเท่าเดิม เราจะต้องใช้เงินเดือนละ

3,878 บาท (ชามละ 43 บาท) ในอีก 10 ปีข้างหน้า

4,773 บาท (ชามละ 53 บาท) ในอีก 20 ปีข้างหน้า

5,876 บาท (ชามละ 65 บาท) ในอีก 30 ปีข้างหน้า

แต่ในความเป็นจริงเราไม่ได้กินก๋วยเตี๋ยวอย่างเดียว ถูกมั้ย?

ในหนึ่งเดือนเรามีค่าใช้จ่ายในการบริโภคมากกว่า 3,150 บาทอยู่แล้ว บางคนใช้เงินในชีวิตประจำวันมากกว่า 20,000 บาทด้วยซ้ำ

หากในอนาคต เราอยากมีคุณภาพชีวิตเหมือนปัจจุบัน หรือดีกว่าเดิม ให้นำค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ 20,000 มาคูณ 12 เป็นค่าใช้จ่ายรายปี 240,000 บาท แล้วคูณจำนวนปีที่คิดว่าจะใช้ชีวิตอยู่ หลังจากที่หยุดทำงานไปแล้ว สมมติ 20 ปี ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะออกมาเป็น 240,000 x 20 = 4,800,000 บาท 

คำนวณแค่นี้แล้ว คิดว่ามันพอหรอ? มันไม่พอนะ!! ถ้าจะคำนวณค่าใช้จ่ายในอนาคตออกมา มันก็ต้องถูกทบต้นด้วย "อัตราเงินเฟ้อ" เหมือนที่ผมคำนวณค่าก๋วยเตี๋ยวในอนาคตให้ดู  ซึ่งถ้าลองให้เกษียณวันนี้เลย เงินก้อนที่ต้องเตรียมสำหรับ 20 ปีข้างหน้า จาก 4.8 ล้าน จะกลายเป็น 6.2 ล้าน กว่าๆ 

ไอน์สไตน์กล่าวไว้ (รึเปล่า ผมไม่รู้) อัตราดอกเบี้ยทบต้นนั้นทรงพลังมาก ผมขอเสริมว่า อัตราเงินเฟ้อทบต้นก็ทรงพลังมาก ไม่ต่างกัน !!!

อย่างที่ผมบอกไปในข้อแรก ระยะเวลาในการเตรียมตัว มีผลสำคัญมากต่อแผนการเกษียณ เพราะยิ่งระยะเวลาผ่านไปนาน เงินที่เก็บไว้ใช้ทั้งชีวิต ก็ยิ่งถูกอัตราเงินเฟ้อกัดกินมากขึ้น ทำให้เราต้องเตรียมเงินมากกว่าเดิม

ถ้าลองกรอกเลขในตารางผมทำแจกให้ จะเห็นได้เลยว่า ระยะสั้น 10 ปี จะไม่เห็นผลรุนแรง แต่ในระยะยาว 20-30 ปี ข้างหน้า เงินเฟ้อจะส่งผลชัดเจน!! ดูตัวอย่างง่ายๆจากค่าก๋วยเตี๋ยวตอนแรกก็ได้นะ ถ้าจะกินก๋วยเตี๋ยวเท่าเดิมในอีก 30 ปีข้างหน้า ต้องใช้เงินมากกว่าเดิมเกือบสองเท่า!!!

ซึ่งวิธีที่จะเพิ่มโอกาสสำเร็จของแผนเกษียณ ก็คือ "ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อในทุกๆปี"  ยิ่งชนะมากเท่าไหร่ยิ่งดี

สิ่งที่หลายคนมักจะมองข้ามตอนวางแผน ก็คือเรื่องเงินเฟ้อนี่แหละ ในระยะสั้นมันจะไม่ส่งผลให้เห็นมากซักเท่าไหร่ แต่แผนเกษียณฯมันต้องมองในระยะยาว ซึ่งเงินเฟ้อแบบทบต้นนี่แหละจะทำให้เราตระหนักได้เอง ฉะนั้นใครมีเวลาเตรียมตัว ก็หาการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินไว้ในออมทรัพย์ซะ!

ผ่านกันไป 2 ข้อ คงรู้ถึงความสำคัญของการวางแผนเกษียณฯกันบ้างแล้ว งั้นผมให้ลิงค์ไป Download ไฟล์สำหรับวางแผนเกษียณฯ แบบง่ายๆ ให้ไปลองใช้กันก่อนนะครับ จะได้รู้ว่าเงินที่ต้องเตรียม เมื่อรวมเงินเฟ้อแล้ว จะออกมาเป็นเท่าไหร่

ในครั้งหน้าเราจะมาพูดถึงกุญแจหลักอีก 3 ดอก และวิธีการเตรียมเงินก้อนสำหรับใช้ทั้งชีวิต อย่าลืมติดตามกันต่อนะครับ : ) อ่านตอนต่อไป >> คลิ๊กเลย