เห็นด้วยไหมถ้าคนใกล้ตัวเข้าใจว่าเรามีปัญหา เราจะดีขึ้นเร็วมาก

การที่เรามีปัญหาแล้วเราไม่พูด จะทำให้เราเหนื่อยหลายเท่า เพราะหลายๆ ครั้ง เราจะติดนิสัยแก้ปัญหาคนเดียว เพราะคิดว่าเราเป็นผู้นำ เราต้องเข้มแข็ง เราไม่อยากให้คนอื่นเขาต้องมาเดือดร้อนเพราะเรา และที่สำคัญคำที่ทำให้คุณเหนื่อยตลอดชีวิตคือ “ไม่ต้องการความสงสาร” คำนี้จะทำให้เราเหนื่อยตลอดชีวิต เราติดกับคำนี้อยู่หลายๆ คน พอเราติดกับดักคำนี้ ทำให้เราเลยแก้ไขปัญหาอยู่คนเดียว แต่ถ้าเราไม่ติดที่คำๆ นี้ เราจะไปได้ดีกว่านี้ ไปได้ไกลและเร็วกว่านี้

ถามว่าทำไมถึงรู้ เพราะมาดามเป็นมาก่อนไงคะ เราต้องปรับความคิดเสียก่อนว่า “ความสงสาร” ไม่ได้เลวร้าย แต่ต้องตีความใหม่ว่าเป็นความเห็นอกเห็นใจ คือเข้าใจและช่วยได้ช่วยกัน ดังนั้น ความเห็นอกเห็นใจเป็นเพียงแค่น้ำทิพย์ชะโลมใจ แต่ไม่ใช่ยานะ เรามีทางเลือกตลอดชีวิตนะ ด้วยวิธีคิดไง มันเป็นมาตรฐานและกฏของเราว่าจะเอาหรือไม่เอาอะไร จงมีกฏและมาตรฐานของตัวเองเพื่อพร้อมไปต่อ เพราะมนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อจมอยู่กับปัญหาเพียงคนเดียว

1. ต้องยอมรับว่ามีปัญหา

ประเด็นนี้สำคัญเพราะใครหลายคนไม่เคยยอมรับกับตัวเองว่ามีปัญหา เช่น ไม่มีเงินเก็บเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีเงินให้พ่อแม่เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีเงินให้ลูกไปเรียนพิเศษเป็นเรื่องธรรมดา อยากจะบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องธรรมดานะ! เพราะคุณไม่สามารถใช้ชีวิตตามที่คุณอยากใช้ไม่ได้ ดังนั้น การยอมรับก่อนว่ามีปัญหาจึงสำคัญ และค่อยๆ หาทางแก้ไขให้ปัญหามันหายไป เช่น มีบางคนบอกว่าต้องซ่อนเงินกับภรรยา นี่คือปัญหาว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดพฤติกรรมเช่นนี้ เช่น ลองหาวิธีชวนเมียลงทุน แล้วกำหนดเป้าหมายไปด้วยกัน เพื่อให้คู่ชีวิตเป็นทีมเดียวกันสิ

2. นั่งทบทวนถึงปัญหา

เราควรนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปตั้งคำถามตัวเองว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วคุณจะเจอสาเหตุ เช่น ใจดีเกินไปจนเป็นสายเปย์แจกเงิน ใครขอก็ให้หรือใช้เงินไม่คิด ไม่เคยมีงบประมาณ เป็นต้น หรือเรายอมรับว่าตัวเองเป็นคนขี้เกียจ แต่จริงๆ แล้วเราวสามารถหาเงินได้มากกว่านี้

ข้อนี้ก็สะท้อนมาหามาดามเหมือนกัน เพราะจริงๆ แล้วมาดามควรจะหาเงินได้มากกว่านี้นานแล้ว เพื่อนร่วมอาชีพของมาดามได้เงินเดือนเยอะกว่านั้น 2-4 เท่า  แต่มาดามไม่ได้กระตือรือร้น เพราะความขี้เกียจ ที่สำคัญห้ามซ้ำเติมตัวเอง เพราะเราจะเสียเวลาทั้งร้องไห้  และอื่นๆ อีกมากมาย ลองลิสต์ออกมานะว่ามันเกิดขึ้นได้ไง

3. บทเรียนที่เราได้

เมื่อเราลองลิสต์ถึงปัญหาและบทเรียนที่เราเคยผ่านมา เราควรกรองออกมาเป็นบทเรียนสองประเภทคือ อะไรที่เราควรทำซ้ำ กับ อะไรที่เราไม่ควรทำซ้ำ เช่น รู้แล้วว่าขี้เกียจ ต่อไปเราจะขยัน วันนี้เราจะเริ่มเขียนเรซูเม่ หรือเราจะเริ่มวางแผนการเงินแล้ว วางแผนการใช้เงินแล้ว วันนี้ต้องกล้าทวงเงินแล้ว เป็นต้น

คุณรู้ไหมว่าคนเราสอนตัวเองได้นะในบางเรื่อง เราไม่จำเป็นต้องเสียเงินเรียนทุกเรื่อง! บางเรื่องเรามีบทเรียนของเราอยู่แล้ว แต่เราแค่ไม่มีเวลาทบทวนและหาข้อสรุปจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดเท่านั้นเอง

4. สร้างวิธีการสื่อสารด้วยการขอความเข้าใจ

ทีนี้เราต้องหาจังหวะที่เราควรสื่อสาร หาคุยกับเจ้าตัวในบรรยากาศดีๆ เมื่อเราเริ่มพูดอย่าเพิ่งพูดเรื่องตัวเอง เราควรถามอีกฝ่ายว่ารู้สึกไหมว่าเราแปลกไป เราควรเริ่มด้วยการสนใจเขาก่อน แล้วจึงบอกไปว่าที่เราแปลกไปเพราะเรามีปัญหา ซึ่งเชื่อหรือไม่ว่าคนใกล้ตัวนั้นไม่รู้ เราควรเล่าให้เป็นลำดับและหาเหตุผลให้เขารับรู้ เช่น รายได้ไม่พอใช้ แถมเป็นหนี้บัตรเครดิต และขอความเข้าใจด้วยการตั้งใจฟังที่มาของปัญหาอย่างจริงจัง

5. ขอหลังจากที่เข้าใจ

อย่าคาดหวังว่าเขาจะช่วยเรา ประเด็นหลักสำคัญอยู่ตรงที่ ถ้าเขาเข้าใจเราแค่นี้ก็ฟินแล้ว ถ้าเข้าใจ เขาจะไม่รบกวนเราเพิ่ม เขาจะไม่เก็บไปนอยด์และงี่เง่าใส่เรา ที่สำคัญเขาจะไม่เพิ่มปัญหาให้เรา! เป็นทีมเดียวกันต้องหัดฟังกันนะคะ เรากำลังสร้างทีมเพื่อไม่ก่อปัญหาให้แก่กันเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นทีมในลักษณะของคู่ชีวิต หรือมิตรภาพก็ตาม

นี่คือวิธีการในการสื่อสาร แต่เราจะไม่มีสารมาสื่อ ถ้าเราไม่เริ่มเข้าใจตัวเอง แต่ถ้าบอกแล้วอีกฝ่ายไม่เข้าใจความผิดที่เราเคยทำซ้ำซาก ก็ควรยอมรับและขอโทษเพื่อแสดงความจริงใจ และสร้างความน่าเชื่อถือ

ทั้งหมดคือสิ่งที่มาดามเคยประสบพบเจอและคิดว่าประสบการณ์เหล่านี้น่าจะช่วยเหลือใครหลายๆ คนได้ โดยเฉพาะปัญหาด้านชีวิตและการเงินนะค่ะ