จากกรณีของ Silicon Valley Bank (SVB) ธนาคารในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ที่ล้มละลายลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนมีความกังวลใจว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้จะส่งผลเป็นโดมิโน จนกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทยหรือไม่ บางคนกังวลมากถึงกับอยากถอนเงินออกจากธนาคารมาเก็บเป็นเงินสดเลยทีเดียว

แต่ล่าสุดคงจะทำให้หลาย ๆ คนเบาใจขึ้นได้บ้าง เพราะได้รับการยืนยันจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วว่า กรณีที่เกิดขึ้นนั้นกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทยอย่างจำกัด เนื่องจากไม่มีธนาคารใดของไทยที่มีการทำธุรกรรมโดยตรงกับ SVB เลย อีกทั้ง กระทรวงการคลัง ก็ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ระบบสถาบันการเงินของไทยยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ และถึงแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ธนาคารของไทยล้มขึ้นมาจริง ๆ (ซึ่งเป็นไปได้ยาก) ไทยเองก็มีหน่วยงานที่คอยกำกับดูแลและคุ้มครองเงินฝากอยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องกังวลใจไป

(1) เงินฝากเรา…ใครดูแล?

ปัจจุบันไทยมีหน่วยงานที่ชื่อว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ทำหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองเงินฝากแก่ผู้ฝากเงิน รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุม โดยทำหน้าที่ชำระบัญชี ขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ปิดตัวลง เพื่อนำเงินมาคืนให้กับผู้ฝากเงินทุกคนอย่างทั่วถึง

(2) คุ้มครองเงินฝาก…ของใครบ้าง?

บุคคลธรรมดา

เป็นคนทั่วไปที่เปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยจะคุ้มครองในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน โดยนำเงินฝาก (เงินต้นและดอกเบี้ย) ของผู้ฝากแต่ละราย ในทุกสาขาและทุกบัญชีของสถาบันการเงินแห่งนั้นมาคำนวณรวมกัน

นิติบุคคล

เช่น บริษัท กองทุนต่าง ๆ มูลนิธิ วัด สมาคม สหกรณ์ บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดา โดยประเภทของเงินฝากและสถาบันการเงินที่ฝากต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากเช่นกัน

ชาวต่างชาติ

เป็นชาวต่างชาติที่เปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่อยู่ในประเทศไทย จะได้รับการคุ้มครองต่อเมื่อเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศที่เป็นสกุลเงินบาท ในประเภทที่ให้ความคุ้มครอง เว้นแต่เป็นเงินฝากใน “บัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ” ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน

(3) คุ้มครองเงินฝาก…ประเภทใดบ้าง?

เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง คือ เงินฝากที่เปิดไว้ที่สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก เป็นเงินสกุลบาท และเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ในปัจจุบันมี 5 ประเภท ได้แก่

✅เงินฝากกระแสรายวัน
✅เงินฝากออมทรัพย์
✅เงินฝากประจำ
✅บัตรเงินฝาก
✅ใบรับฝากเงิน

(4) คุ้มครองเงินฝาก…วงเงินเท่าไหร่?

✅คุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน (โดยนับรวมทุกบัญชีในสถาบันการเงินแห่งนั้นๆ)

หากเกิดเหตุที่สถาบันการเงินใด ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ ทางสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะเป็นผู้ที่เข้ามาจ่ายเงินคุ้มครองให้ภายใน 30 วัน และยังทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชีต่อด้วย

ยกตัวอย่างเช่น...

กรณีที่ 1: เราฝากเงินกับธนาคารหนึ่งจำนวน 50,000 บาท ต่อมาธนาคารที่เราฝากเงินไว้ปิดตัวลง ทางสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะทำการโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ของผู้ฝากให้เต็มจำนวน 50,000 บาท ภายใน 30 วัน โดยผู้ฝากไม่ต้องดำเนินการใดๆ

กรณีที่ 2: เราฝากเงินกับธนาคารหนึ่งจำนวน 2,000,000 บาท ต่อมาธนาคารที่เราฝากเงินไว้ปิดตัวลง เบื้องต้นทางสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะทำการโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ให้เต็มวงเงินคุ้มครองก่อน คือ 1,000,000 บาท ภายใน 30 วัน และหลังจากนั้น สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะทำหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชี เพื่อขายสินทรัพย์ต่างๆ ของธนาคาร และนำเงินส่วนที่เหลือมาคืนให้กับผู้ฝากให้ได้มากที่สุด

(5) คุ้มครองเงินฝาก…สถาบันการเงินไหนบ้าง?

✅ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (17 แห่ง)
ธนาคารกรุงเทพ
ธนาคารกรุงไทย
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารทหารไทยธนชาต
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)
ธนาคารยูโอบี
ธนาคารทิสโก้
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
ธนาคารไอซีบีซี (ไทย)
ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย
ธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์
ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย)
ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ (ไทย)

✅สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (11 แห่ง)
ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส
ธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
ธนาคารซิตี้แบงก์
ธนาคารอาร์ เอช บี จำกัด
ธนาคารแห่งอเมริกา เนชั่นแนล แอสโซซิเอชั่น
ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
ธนาคารดอยซ์แบงก์
ธนาคารมิซูโฮ จำกัด
ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์
ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
ธนาคารอินเดียน โอเวอร์ซีส์

✅บริษัทเงินทุน (1 แห่ง)
บริษัทเงินทุน แอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน)

✅บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (3 แห่ง)
บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เอสเบ จำกัด
บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เวิลด์ จำกัด
บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แคปปิตอล ลิ้งค์ จำกัด

⛔️ยกเว้นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 8 แห่งนี้ เพราะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกระทรวงการคลัง
ธนาคารออมสิน
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านนะครับ