เริ่มต้นทำธุรกิจ มีภาษีอะไรที่ต้องรู้และเกี่ยวข้องบ้าง? เป็นคำถามส่วนใหญ่ของคนที่เริ่มต้นทำธุรกิจ ซึ่งจริงๆแล้วภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นมีไม่มาก เราสามารถแยกย่อยออกมาได้ 6 ประเภทดังนี้ครับ

ภาษีเงินได้ คือ ภาษีที่เก็บจากรายได้ของธุรกิจ มี 2 ประเภท ขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจ
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บในอัตราก้าวหน้า (ตั้งแต่ 5-35%) เก็บเป็นรอบปีตามปฎิทิน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของทุกๆ ปี โดยผู้มัีหน้าที่ยื่นภาษีประเภทนี้คือบุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจและมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด (เกิน 60,000 บาทต่อปี) และต้องยื่นภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป
2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล จะมีการจัดเก็บในอัตราคงที่(ปัจจุบันอยู่ที่ 20%) และมีการลดหย่อนอัตราภาษีให้กับธุรกิจ SMEs โดยจะเสียตามรอบระยะเวลาบัญชีของธุรกิจซึ่งปกติคือ 1 ปี โดยผู้มีหน้าที่ยื่นภาษีประเภทนี้คือนิติบุคคลที่ทำธุรกิจในรูปแบบนี้ เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน (จดทะเบียน) ต่างๆ และต้องยื่นภายใน 150 วันนับแต่วันที่สิ้นรอบระยะเวลาบัญชี

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีประเภทหนึ่งที่กฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินหักออกจากเงินได้ก่อนจ่ายให้แก่ผู้รับ และให้ถือเป็น “เครดิตภาษี” ของผู้ถูกหัก สำหรับการคำนวณภาษีที่ต้องยื่นในแบบแสดงรายการภาษี โดยทางผู้จ่ายเงินจะมีหลักฐานที่เรียกว่า “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย” ให้แก่ผู้รับไว้เป็นหลักฐาน
โดยปกติแล้ว ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ การเสียภาษีไว้ล่วงหน้า โดยผู้ที่ถูกหักภาษียังต้องนำรายได้ที่ถูกหักไปยื่นภาษีอีกต่อหนึ่ง ส่วนตัวผู้หักเอง ถ้าไม่ได้หักภาษี ณ ทีจ่ายจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายอีกทางหนึ่งครับ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT คือ ภาษีอีกประเภท ที่ี่เก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้น จากคนทำธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการประเภทต่างๆ
ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ได้แก่ ผู้ประกอบการ และผู้นำเข้า ซึ่งรวมไปถึงผู้ผลิต ผู้ให้บริการผู้ขายส่ง ผู้ขายปลีก ส่งออก ผู้นำเข้า
โดยส่่วนใหญ่ทุกธุรกิจถ้ามีรายได้ถึงเกณฑ์จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (รายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี) เว้นแต่จะเป็นธุรกิจที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีที่จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่าง เช่น กิจการธนาคารพาณิชย์ โรงรับจำนำ หรือการขายอสังหาริมทรัพย์ หากธุรกิจของเราไม่ได้ประกอบธุรกืจที่เป็นกลุ่มเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ก็ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
อากรแสตมป์ เป็นภาษีอีกประเภทหนึ่ง ที่จะเรียกเก็บเมื่อมีการทำตราสารระหว่างกัน 28 ลักษณะ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เช่น ค่าเช่า รับจ้างทำของ สัญญาเงินกู้ ฯลฯ ซึ่งกำหนดให้ติดอากรแนบท้ายสัญญา หรือ มีการเสียภาษีด้วยแบบฟอร์มตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้สัญญาฉบับนั้นสมบูรณ์

ภาษีประเภทอืื่นๆ ที่เก็บตามประเภทหรือลักษณะการทำธุรกิจที่แตกต่างกันไป เช่น ภาษีโรงเรือน เก็บจากค่าเช่าหรือค่าบริการที่ได้รับจากทรัพย์สิน ภาษีป้ายเก็บจากขนาดตัวอักษร หรือประเภทภาษาที่ปรากฎอยู่ในป้าย หรือภาษีสรรพสามิตรที่เรียกเก็บจากการประกอบธุรกิจบางประเภทที่มีลักษณะฟุ่มเฟือยหรือให้โทษต่อประชาชน ซึ่งภาษีกลุ่มนี้จะขึ้นอยู่กับลักษณะและการกระทำของธุรกิจ
สุดท้ายแล้วสิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องเริ่มต้นคือ ถามตัวเองก่อนว่าธุรกิจเรานั้นประกอบการอะไร มีลักษณะแบบไหนและเข้าข่ายต้องเสียภาษีแบบใดบ้าง หลังจากนั้นถึงค่อยเริ่มต้นวางแผนภาษีธุรกิจในขั้นตอนต่อไปครับ
#พรี่หนอมสอนภาษีธุรกิจ
ติดตาม : fb.me/biztaxthai
เพิ่มเพื่อน : https://line.me/ti/p/@biztaxthai