มีเพลงของบอดี้แสลม ที่พี่ตูนร้องว่า

“ชีวิตมันต้องเดินตามหาความฝัน หกล้มคลุกคลานเท่าไหร่ มันจะไปจบที่ตรงไหน?...”

นั่นสิ !! มันจะไปจบที่ตรงไหนล่ะ?

ไม่แปลกหรอกที่ทุกคนจะมีความฝัน แต่จุดสิ้นสุดของภาพที่วาดฝันไว้ จุดนั้นแหละคือ “เป้าหมาย”

ผมเชื่อว่าทุกคนย่อมมีเป้าหมายเป็นของตัวเอง แต่ทุกๆ เป้าหมายนั้น จะเป็นจริงได้ มันต้องมีวิธีการ ถ้าไม่มีวิธีการ มันก็จะกลายเป็นเพียง “ความฝัน” แค่นั้นแหละ

และแน่นอนว่า “ชีวิตด้านการเงิน” ก็ต้องมีเป้าหมายเช่นกัน เราจะมีเงิน ออมเงิน ใช้เงิน ไปกับอะไรบ้าง? ถ้าไม่มี “เป้าหมายการเงิน” ไม่งั้นเราจะทำงานหาเงินมาเพื่ออะไรล่ะ? หรือไม่จริง

ถ้าใครยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ครั้งนี้“นายปั้นเงิน ปีศาจแห่งการลงทุน” มีไกด์ไลน์ง่ายๆ มาฝาก

เรามาดูกันว่า 6 เป้าหมายทางการเงินที่ทุกคนควรต้องวางแผนและให้ความสำคัญนั้น มีอะไรบ้าง

1. การวางแผนภาษี (Taxation Planning)

เป้าหมายแรกของทุกคนที่มีรายได้ ตามเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนดให้เสียภาษี คือ ต้องการหาวิธีลดรายจ่ายภาษีรายปีให้ได้มากที่สุด

เราสามารถใช้ประโยชน์จากนโยบายที่ภาครัฐมีให้ เรื่องการออมและการลงทุน มาหักลดหย่อนภาษี เช่น  การซื้อกองทุนรวม LTF หรือ RMF ประกันชีวิต เป็นต้น

นอกจากจะลดรายจ่ายไปในตัวแล้ว ยังใช้ให้เงินทำงานเพื่อสร้างผลตอบแทนได้อีกด้วย

ทำไมถึงต้องเสียภาษีน้อยลงล่ะ?

คนที่สนใจเรื่องการเงินจะรู้ดีว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนๆนึงมั่งคั่งขึ้นมาได้ คือ “สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และใช้เงินทำงาน”

ภาษีเงินได้ ถือเป็นค่าใช้จ่ายรายปีที่เก็บเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่มากขึ้น ถือว่าเป็น “รอยรั่วเล็กๆทางการเงิน” ที่หลายคนอาจจะมองข้าม

ถ้าเราลดรายจ่ายในส่วนนี้ได้ กระแสเงินสดสุทธิรายปีก็เพิ่มขึ้น

วางแผนภาษีดีๆ แบบไม่บ้าคลั่งลดหย่อนเกินกำลังเราก็มีความสุข ได้กำไรทั้งทางภาษีและกำไรทางการลงทุนด้วย

เราจึงต้องวางแผนภาษี และให้ความสำคัญ เพื่ออุดรอยรั่วนี้ ไม่ให้เงินไหลออกจากกระเป๋าโดยไม่รู้ตัว

2.วางแผนป้องกันความเสี่ยง (Risk Management)

บางคนซื้อประกัน เพราะอยากช่วยตัวแทนฯ
บางคนซื้อ เพราะเชื่อใจตัวแทนฯหรือที่ปรึกษา
บางคนซื้อ เพราะมีการวางแผนการเงินไว้อย่างดี

แต่เรารู้และเข้าใจในผลประโยชน์ของการทำประกันจริงๆมั๊ย?

ประกันเป็นเครื่องมือทางการเงินสำหรับการป้องกันความเสี่ยง ความเสี่ยงที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุและความสูญเสีย

หากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่มีแผนการป้องกันความเสี่ยง เงินที่จะต้องจ่ายออกไปก็คงเอามาจากเงินสำรองหรือไม่ก็เงินออม เงินลงทุนที่เก็บมาเลือดตาแทบกระเด็น

ตัวอย่างเช่น….

ค่ารักษาพยาบาลตามโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% ต่อปี นับว่าเป็น “รูรั่วขนาดใหญ่” ทางการเงิน ที่สร้างความเสียหายให้กับเงินในกระเป๋าได้อย่างมหาศาล

ถึงโอกาสเกิดจะมีน้อย แต่เก็บเงินลงทุนมาแทบตาย
สุดท้ายเอามาจ่ายค่ารักษาพยาบาล จะเอางั้นหรอออ

เพราะฉะนั้น … การวางแผนทำประกันให้คุ้มค่าและดีที่สุด คือ การได้รับผลประโยชน์คุ้มครองเหมาะสมที่สุด ในขณะที่เราเสียเบี้ยประกันน้อยที่สุด

พูดง่ายๆ คือปรับโครงสร้างพอร์ตประกันต่างๆ ทำให้ต้นทุนต่ำสุด แต่ก็ได้รับความคุ้มครองตรงตามความต้องการ เพื่อนำเงินที่เหลือจากการทำประกันไปลงทุนต่อยอดแทนนั่นเอง

เมื่อวางแผนคุ้มครองความเสี่ยงเสร็จสมบูรณ์ ก็เหมือนมีเกราะคุ้มกันไม่ให้เงินก้อนโตไหลออกจากกระเป๋า ทำให้เราอุ่นใจและสามารถมองถึงแผนการเงินอื่นๆได้ในอนาคต

เรียกได้ว่า “มองไปข้างหน้าได้ โดยไม่ต้องพะวงหลัง”

3. วางแผนการลงทุน (Investment Planning)

“ในระยะยาวแล้วการทำเงินได้มากเท่าใด ไม่ใช่ตัวกำหนดว่า คุณจะมั่งคั่งร่ำรวย หรือไม่ในอนาคต
แต่มันอยู่ที่ว่า คุณสามารถใช้เงินเหล่านั้นทำงานให้คุณได้อย่างไรจากการออมและลงทุน”

ผมว่าคำกล่าวของ Peter Lynch นี้เป็นจริงเสมอนะ

เพราะการลงทุนคือการวางเงินออมให้ถูกที่ ตามที่แต่ละคนสบายใจ เมื่อทุกอย่างลงตัว เงินจะเติบโตและทำงานได้อย่างเต็มที่

ว่าแต่ เพื่อนๆแต่ละคนวางเงินกันไว้ที่ไหนกันบ้างล่ะครับ?

ปัจจุบันเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ต่อปี
กับสภาวะดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ “ต่ำเตี้ยติดดิน” ขนาดนี้
ทางเลือกทางเดียวที่นอกเหนือจากการออมก็คือ “ลงทุนสิคร้าบบ!!”

ทั้งนี้การวางแผนการลงทุน ต้องพิจารณาความเสี่ยง เป้าหมายทางการเงินระยะเวลา และโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดี ควบคู่กันไป

จึงต้องมีการจัด portfolio ให้เหมาะสม และอ้างอิงกับเป้าหมายทางการเงินต่างๆ ที่ควบคู่กันไปด้วย การใช้ Asset Allocation จึงเป็นหนึ่งในวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการวางแผนลงทุน

เพราะ Asset Allocation จะช่วยให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงได้ดี จากการใช้สินค้าทางการเงินที่หลากหลาย

เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตรงตามที่ต้องการ ตามความเสี่ยงที่รับได้

หรือพูดง่ายๆว่าวิธีนี้จะช่วยให้ทุกคนลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด แต่ได้รับผลตอบแทนที่สูงที่สุดในระดับความเสี่ยงนั้นๆ

เพราะฉะนั้น .. เราก็เลยต้องบริหารจัดการ และติดตามแผนการลงทุนให้ดี

เมื่อแผนการลงทุนประสบความสำเร็จ ก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าแผนการเงินอื่นๆจะสำเร็จตามมา !

4. วางแผนการศึกษาบุตร (Education Planning)

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับคนเป็นพ่อแม่หลายๆ ท่าน พบว่าโดยส่วนมาก สิ่งที่พ่อแม่หวังจะให้ลูกมากที่สุดไม่ใช่เงินทองหรืออะไร แต่สิ่งนั้นคือ “การศึกษา” ที่จะทำให้ลูกมีความรู้ความสามารถในการเลี้ยงดูตัวเองได้ในอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในด้านไหน พ่อแม่ทุกคนก็ยินดีจะส่งให้ลูกได้เรียนสูงๆ และได้เรียนในสถาบันที่ดีที่สุด

แต่สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่หลายๆท่านทราบกันดีอยู่แล้ว คือเรื่อง “ค่าใช้จ่ายในการศึกษา” ของลูกแต่ละคน