ถ้าพูดถึงการออมเงิน หลายคนคงนึกถึงการค่อยๆเก็บสะสมเงินตามจำนวนที่ตั้งใจไว้ใช่ไหมครับ ความจริงก็ใช่ครับ แต่มันยังมีขั้นตอนอื่นอีกมากมายเลยครับที่จะทำให้การออมเงินของเราบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

วิธีแรก เริ่มจากน้อยแล้วค่อยๆขยายเพิ่ม

คิดว่าการออมเงินคือต้องเก็บเงินจำนวนมากอย่างเดียวใช่ไหมครับ ลองเริ่มจากแบ่งเงินเพียง 5 % ของเงินเดือนไปเก็บออมดูครับ เริ่มจากเงินจำนวนน้อยก่อนแล้วค่อยเพิ่มจำนวนขึ้น

แต่สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่เรื่องจำนวนเงินแต่เป็นการสร้างนิสัยออมเงินครับ เช่นหากคุณมีเงินเดือน 30,000 บาท ให้แบ่งเงิน 5% หรือ 1,500 บาทจากเงินเดือนไปเก็บออมครับ

วิธีที่สอง ผ่อนหมดแล้วไม่เป็นไรผ่อนกับตัวเองต่อ

การสมมติว่าเป็นหนี้อาจมีประโยชน์นะครับ ถ้าคุณเพิ่งผ่อนรถยนต์หมดไป ลองผ่อนกับตัวเองต่อสิครับ เช่นถ้าคุณเคยผ่อนรถยนต์งวดละ 12,000 บาทต่อเดือน

แม้ว่าจะผ่อนจนครบกำหนดแล้วแทนที่จะเอาเงิน 12,000 บาทไปใช้จ่ายเฉยๆ ลองออมเงินจำนวนนั้นต่อทุกๆเดือนเหมือนการผ่อนรถยนต์ดูสิครับ รับรองว่าได้เงินออมเยอะแน่ๆ

วิธีที่สาม มองดูผลลัพธ์

ลองหมั่นตรวจสอบจำนวนเงินออมที่ทำได้ในแต่ละเดือนดูครับว่าใกล้ถึงเป้าหมายหรือยัง มันจะช่วยให้คุณมีกำลังใจในการเก็บเงินมากขึ้น และยังทำให้คุณมองเห็นปัญหาและช่องโหว่ในการเก็บเงินด้วยนะครับว่ายังมีทางไหนที่จะช่วยเก็บเงินได้มากขึ้นอีก

เช่น ถ้าคุณต้องการออมเงินเพื่อดาวน์บ้าน 5 แสนบาท คุณอาจจะยังขาดอีก 1 แสนบาท คุณจะรู้สึกว่าเป้าหมายของคุณอยู่ไม่ไกลแล้ว

วิธีที่สี่ ทำผิดเมื่อไรหยอดเหรียญลงกระปุกเลย

วิธีนี้ง่ายมากเลยครับ ลองหากระปุกออมสิน หรือขวดโหลมาตั้งไว้ในจุดที่เห็นได้ง่าย แล้วตั้งเป้าหมายเปลี่ยนแปลงตัวเองครับ

เช่น ฉันจะเลิกพูดคำหยาบ เมื่อไรที่คุณหลุดพูดหยาบคายคุณก็หักเงินตัวเองเสีย คำละ 10 บาท 20 บาท

ผมจะไม่ทานขนมหวานหรืออาหารขยะ ผมจะออกกำลังกายทุกวัน ถ้าเมื่อไรที่ทำไม่ได้ตามที่ตกลงกับตัวเองไว้ ก็ให้หยอดเงินใส่กระปุกเลยครับ 20 หรือ 50 บาทก็ได้

ยิ่งถ้ามีเพื่อนมาเล่นด้วยกันยิ่งสนุกและเก็บเงินได้มากขึ้นนะครับ

วิธีที่ห้า เก่าของเราใหม่คนอื่น

เชื่อว่าหลายคนคงมีของใช้อะไรบางอย่างที่ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม โดยเฉพาะเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า แทนที่จะเอาของพวกนั้นวางไว้เฉยๆ ลองเปลี่ยนเป็นเอาไปขายในเว็บไซต์ขายของมือสองดูสิครับ บางครั้งของเก่าของเราอาจกลายเป็นของใหม่ที่มีค่าสำหรับคนอื่นนะครับ

ทั้งนี้ผลวิจัยพบว่า คนยุคมิลเลนเนียลคือกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปีพ.ศ. 2524-2543 มักจะมองหาเครื่องมือที่จะช่วยติดตาม ควบคุมค่าใช้จ่าย และเพิ่มการออม ดังนั้น อีกสามวิธีจึงเหมาะอย่างยิ่งกับคนยุคมิลเลนเนียล จะมีอะไรบ้างนั้น เราไปชมกันเลยครับ

วิธีที่หก โอนเงินอัตโนมัติ

แอพพลิเคชันของหลายธนาคารมีฟังก์ชันโอนเงินอัตโนมัติ อย่าง K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย Bualuang mBanking ของธนาคารกรุงเทพ หรือ SCB Easy App ของธนาคารไทยพาณิชย์

ลองตั้งเวลาโอนเงินจากบัญชีเงินเดือนไปบัญชีสำหรับการออมโดยอัตโนมัติทุกเดือน นอกจากจะช่วยให้ออมเงินได้เป็นประจำแล้ว ยังช่วยลดความรู้สึกอยากใช้เงินเวลาเห็นจำนวนเงินในบัญชีเยอะๆด้วยนะครับ

วิธีที่เจ็ด ดาวน์โหลดแอพช่วยออมเงิน

คุณสามารถออมเงินได้ทุกที่ เพียงแค่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันที่ช่วยในการออมเงินอย่าง Money Lover ซึ่งจะบันทึกรายรับ รายจ่าย และวางแผนงบประมาณล่วงหน้าได้

Weple Money ที่มีปฏิทินแสดงข้อมูลค่าใช้จ่ายและแสดงผลเป็นกราฟให้เห็นชัดเจน หรือจะเป็น Piggipo ที่จะช่วยจัดการการใช้บัตรเครดิตก็ได้ครับ

และวิธีสุดท้าย ลองใช้ธนาคารดิจิทัล

ธนาคารดิจิทัลก็เหมือนธนาคารทั่วไปนี่แหละครับ เพียงแต่ทำธุรกรรมทั้งหมดผ่านโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ตทั้งหมด

ต้นทุนของธนาคารจึงต่ำกว่าเลยให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าได้ บางธนาคารให้อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1.6% เลยนะครับ ในขณะที่ธนาคารทั่วไปให้อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ประมาณ 0.5% เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารดิจิทัลให้เลือกใช้หลายธนาคารเลยครับ

เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับ 8 วิธีที่จะช่วยให้คุณออมเงินได้อย่างชาญฉลาด แต่อย่าลืมนะครับว่า 8 วิธีนี้จะไม่ได้ผลเลยถ้าคุณขาดวินัยและความอดทนที่จะทำมัน รับรองว่าถ้าคุณมีวินัยในการออม เป้าหมายของคุณจะไม่ใช่เรื่องยากเกินตัวเลยครับ

ที่มา

Bank of America

https://bit.ly/2k9VWiJ

https://bit.ly/2re1Kuf

https://bit.ly/2jQXAF5

gobear

https://bit.ly/2IGtfpd

TMRW

https://bit.ly/2RCYW5M

ธนาคารแห่งประเทศไทย

https://bit.ly/1t8DOqB

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY
Line@ : @aommoney
Website : www.aomMONEY.com
Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH
กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/