เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมเวลาเราไปยืมเงินใครที่ไหนอย่างไรมันจะต้องมีเรื่อง "ดอกเบี้ย" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย? ขอยืมฟรีๆไม่ได้หรอ? ก็คงจะมีบ้างในบางโอกาสนะครับ เช่น การยืมเพื่อนสนิทหรือครอบครัว แต่ในเบื้องหลังความเป็นจริงทั้งหมดเนี่ยเราต้องเข้าใจว่า การยืมตังจากธนาคารหรือสถาบันการเงินยังไงมันต้องเสียเงินอยู่แล้วเพราะ

  • การทำธุรกิจการเงิน มันมีการแสวงหากำไร การให้เงินกู้ก็ต้องมีเรื่องดอกเบี้ย หากไม่เก็บดอกเบี้ย ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ครับ
  • มีเรื่องความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่ให้คนอื่นยืมมีความเสี่ยงเสมอ ก็ต้องชดเชยความเสี่ยงที่ผลตอบแทน (เงินหายทีล่ะแย่เลย)
  • ถ้าผู้ให้ยืมเก็บเงินไว้กับตัวเขาก็จะได้ดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนการลงทุน ใครมายืมเงินเขาก็จะเสียโอกาสการลงทุนก็ต้องชดเชยเป็นธรรมดา

เห็นอย่างงี้แล้วก็รู้ได้ทันทีเลยนะครับว่า โลกนี้มันไม่ได้ใจดีขนาดนั้น แต่หากเราต้องเป็นหนี้ จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองอย่างไร

หนี้สินเกิดจากอะไร?

หนี้สินไม่ได้อยู่ดีๆก็เกิดได้ มันต้องมีคนทำให้เกิดเสมอ (ถ้าเราเกิดมาแล้วเป็นหนี้จากคนอื่นก็เรื่องหนึ่ง) แต่ส่วนใหญ่ที่ผมพบเจอก็คือมันมักจะเกิดขึ้นเพราะตัวเองนี่แหล่ะ นั่นก็คือการสร้างรายจ่ายที่เกินตัว มี 10,000 ใช้ 100,000 ต้องนำเงินในอนาคตออกมาใช้พร้อมๆกับการยอมรับภาระดอกเบี้ยไปโดยปริยาย แล้วอัตราดอกเบี้ยสมัยก็ไม่ใช่เล่นๆนะครับ ลองดูบัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดดูสิ เจอต้องจ่ายดอกเบี้ยที ผมนี่ กระเป๋าตังร้อนระอุไปเลยครับ

เอาล่ะ... อย่าท้อใจไปเลยนะครับ มาดูกันว่าเราจะปรับพฤติกรรมในการชำระหนี้อย่างไรกันได้บ้างดีกว่า

วิธีการปรับพฤติกรรมรับภาระหนี้

ถ้าเรารู้ตัวว่าเรากำลังเป็นหนี้อยู่และรู้ว่ามันมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องอย่าลืมนะครับว่าการเก็บหอมรอมริบและการบริหารจัดการเงินทองของเรามันเป็เนื่องที่สำคัญมาก ไม่ได้ต่างกับการบริหารรายจ่ายที่ต้องทำควบคู่กันไป เป็นการปรับพฤติกรรมของชีวิตในการใช้จ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับภาระหนี้ที่มีอยู่นั่นล่ะครับ มาลองดูว่าจะทำอย่างได้กันบ้าง

1. ให้ความสำคัญกับเงินจำนวนน้อยๆ

หลายๆครั้งที่เราใช้จ่ายอะไรขึ้นมาเราอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเงินเล็กเงินน้อย คิดว่ามันไม่กี่บาท แต่ถ้าหลายๆครั้งมันก็เงินเยอะไม่น้อยเลยนะครับ การที่เราเก็บเล็กผสมน้อย 20 บาท จำนวน 10 ครั้งก็ 200 บาทแล้วล่ะ หากเราไม่ได้ใส่ใจกับมันก็อาจจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่เราใช้ไปอย่างไม่รู้ตัวก็ได้ เพราะฉะนั้นลองสำรวจเงินที่มันน้อยๆดูนะครับว่าเราสามารถเก็บมันมากขึ้นได้ขนาดไหน

2. ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์สามารถทำให้คุณมีเงินมากขึ้นได้ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเราไปเลย อย่างเช่นถ้าคุณชอบออกกำลังกาย จากเดิมที่เราเคยจ่ายค่าฟิตเนสรายเดือนเยอะๆ เราก็สามารถตัดรายจ่ายระยะยาวที่ทำให้เรามีโอกาสเกิดหนี้ได้เช่นกัน และเปลี่ยนมาวิ่งตามสวนสาธารณะแทน ซึ่งในแง่ของการได้ออกกำลังกายก็ยังคงทำได้เหมือนเดิมครับ

3. ปรับเปลี่ยนวิถีการจับจ่ายเพื่อให้มีเงินเหลือใช้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้เงินเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เราสามารถลดหนี้สินได้ หลายๆคนอาจจะชอบช็อปปิ้ง ทานอาหารตามภัตตาคาร ถ้าหากเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงที่จะก่อหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะต้องลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากขึ้น อาจจะเปลี่ยนเป็น นานๆที ลองหาอะไรที่มันทดแทนได้ เช่นปกติ เราอาจจะชอบทานกาแฟราคาแพงตอนเช้าๆ ก็ลองเปลี่ยนเป็นกาแฟชงเองที่มีราคาถูกลงได้

หลายๆครั้งผมจะชอบคิดเสมอเลยนะครับว่า หากเราเป็นหนี้และเราก่อหนี้เพิ่มขึ้น ลองคำนวณเล่นๆดูก็จะรู้ครับว่าเราจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกมากเท่าไหร่ และในกรณีที่เราลองคิดอีกแบบดูว่า เงินที่จ่ายไปนั้นมันสามารถสร้างความมั่งคั่งได้มากขนาดไหน เราอาจจะเปลี่ยนวิถีคิดในการใช้ชีวิตและสร้างแนวทางให้สามารถใช้จ่ายอย่างรอบคอบมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช้เงินเกินตัวล่ะครับ แน่นอนว่าถ้าคุณไม่ใช้เงินเกินตัว จะมีเงินออมไปใช้หนี้ได้ (หากมีหนี้สินอยู่) และสามารถต่อยอดการลงทุนได้เช่นเดียวกัน

ต้าร์ กวิน สุวรรณตระกูล
ผู้แต่งหนังสือ รวยได้จริงกับสิ่งที่เรียกว่าเงินเดือน