สวัสดีครับวันนี้พบกับ หมอนัทคลินิกกองทุนอีกครั้งนะครับ ใครที่กำลังอยู่ในช่วงลงทุนในกองทุนอยู่ หมอนัท อยากแนะนำให้มาลองมาอ่าน 9 วิธีในการจัดพอร์ตกองทุนดูครับ เพราะนี่ไม่ใช่เป็นเพียงข้อมูลที่นำมาเสนอเท่านั้นแต่ยังเป็นประสบการณ์ของผมด้วย หวังว่าบทความชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับใครหลายคนครับ

1.อย่าใส่เงินลงทุนเฉพาะช่วงที่กองทุนมีกำไร
ให้ทยอยลงทุน เนื่องจากว่าคนส่วนใหญ่จะแห่กันเข้าไปซื้อกองทุนตอนที่เป็นขาขึ้น ทำให้เราได้ “ของแพง” ไปโดยปริยายครับ
แทนที่เราจะเลือกกองทุนที่ดี และลงทุนกับกองทุน ในช่วงที่ตลาดปรับตัวลดลง ด้วยความกลัวเพียงชั่วคราว โดยเฉพาะกับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ๆ อย่างกองทุนหุ้น
ถ้าเป็นไปได้ก็ให้ทยอยซื้อทุกเดือนไปเลยก็ได้ จะช่วยลดความผันผวนได้ดีมาก แต่ถ้ามีเงินก้อนจะลงทุนอาจจะต้องพิจารณาการจัดพอร์ตการลงทุน หรือให้มีการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่น ๆ ด้วย ผสม ๆ กันไป

2.ลงทุนกับ สินทรัพย์ที่มีรายได้สม่ำเสมอบ้าง
เช่น กองทุนแบบ Income, กองทุนอสังหา ฯ ซึ่งจะช่วยให้เรามีกระแสเงินสดกลับเข้ามาบ้าง เป็นน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจระหว่างลงทุน แต่ถ้าใครรับความเสี่ยงได้สูง ๆ แล้วละก็ จะลงทุนแบบไม่มีเงินปันผลก็ได้ อันนี้ไม่ว่ากันครับ

3.อย่าละเลย เรื่องประโยชน์ทางภาษี
ท่านไหนที่มีภาระทางภาษีอยู่แล้วละก็ การลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีอย่าง LTF/RMF นั้นก็เหมือนกับว่า เราได้ผลตอบแทนจากการลดภาษีมาเพิ่มเติมให้อย่างฟรี ๆ เลยะครับ

4.กระจายการลงทุนด้วยการจัดพอร์ต
อันนี้ง่ายเลยครับ ถ้าเรามีการกระจายการลงทุนไปยังกองทุนประเภทอื่น ๆ หรือ เป็นประเภทเดียวกัน แต่ต่างนโยบายการลงทุน ก็จะทำให้การลงทุนของเราไม่ผันผวนจนเกินไปครับ

5.ให้เวลา และ เข้าใจระยะเวลาการถือครองกองทุนแต่ละประเภท
เนื่องจากว่ากองทุนแต่ละประเภทนั้น ถ้าเราสมารถลงทุนได้ตามระยะเวลาที่ควรจะลงทุนแล้วละก็ โอกาสขาดทุนจะลดลงมาก ๆ เลย
เช่นกองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง- ยาว (มีอายุตราสารหนี้เฉลี่ยในกองทุนประมาณ 1-3 ปี) ถ้าเราถือ ถือกองทุนให้นานขึ้น ตามอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุนแล้วละก็
ความเสี่ยงแทบจะหมดไปเลยละครับ
ส่วนกองทุนหุ้นนั้น ถ้าเราลงทุนได้ประมาณ 5-7 ปีขึ้นไป โอกาสขาดทุนก็จะลดลงมาก ๆ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราต้องลงทุนกับกองทุน LTF ถึง 5-7 ปี ตามที่กฏหมายได้ปรับเปลี่ยนไปแล้วนั่นเองครับ

6.เลือกกองทุนที่ค่าธรรมเนียมไม่แพงจนเกินไป
ยิ่งเราถือกองทุนนาน ๆ ค่าธรรมเนียมรายปี ที่เรียกเก็บจากกองทุนนั้น ยิ่งมีผลต่อพอร์ตการลงทุนของเรา คือได้เงินที่น้อยลงนั่นเองครับ และอย่าลืมนะครับว่า ต่อให้กองทุนทำผลตอบแทนได้ไม่ดี ก็ยังคงมีการเก็บค่าธรรมเนียมอยู่ดี

7.พิจารณาการลงทุนแบบ Passive
เนื่องจากว่าเราจะหากองทุนแบบ active ที่เอาชนะ Benchmark ได้น้อยลงเรื่อย ๆ การลงทุนแบบ passive fund ในระยะยาว ๆ อาจจะเป็นคำตอบที่ดีเช่นกัน ครับ แถมค่าธรรมเนียมก็ถูกอีกต่างหาก

8.ตั้งจุด Cut Loss ให้ชัดเจน
บางคนคิดว่า ไหน ๆ ก็เลือกกองทุนมาตั้งนาน แถมกองทุนนี้ก็ “เคยดี” ทน ๆ มันไปละกัน “ซักวันคงจะกลับมาดีเหมือนเดิม” หรือว่า อันนี้ต้องระวังให้มากครับ อย่าไปหลงรักกองทุนที่ถืออยู่เป็นอันเด็ดขาดนะครับ หลาย ๆ คน โดนกองทุนแบบนี้ ทำเสียพอร์ตมากนักต่อนักแล้ว ถ้าจะให้ดี ก็ตั้งจุดที่จะออกไว้ในใจบ้างนะครับ
บางคนคงมีคำถามต่อว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ากองทุนจะยังดีอยู่หรือไม่ โอ้อันนี้คุยกันยาวครับ หน้ากระดาษไม่พอ เอาแบบสั้น ๆ คือ เวลาที่เราจะดูว่ากองทุนไหนดีอยู่ หรือ ไม่ดีแล้ว อาจจะดูได้หลายประการ เช่น ยังทำผลตอบแทนได้ดีกว่าเกณฑ์มาตราฐานอย่างต่อเนื่องไหม ผิดพลาดหลายครั้งติดต่อกันไหม กองทุนอื่น ๆ เขาฟื้นตัวกันหมดแล้ว กองทุนนี้ทำไมยังไม่ฟื้น
ผู้จัดการกองทุนยังเป็นคนเก่าอยู่ไหม ยังชนะกองทุนอื่น ๆ ได้ต่อเนื่องหรือเปล่า ผลตอบแทนที่ทำได้นั้น เป็นไปตามที่เราคาดหวังหรือไม่ แนวโน้มในอนาคต ยังคงดีอยู่หรือไม่ พูดง่าย ๆ ว่า มีอะไรที่ไม่เหมือนเดิมไปเยอะมากแค่ไหน เหมือนกับแฟนเราที่กำลังนอกใจอะครับ คือ ลองดูสิว่า มีอะไรที่ไม่เป็นเหมือนเดิมบ้าง
ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนกองทุน ก็อย่าเสียเวลาครับ ลองเริ่มหากองทุนดี ๆ กองทุนอื่น และลองพิจารณาดู หรือไม่ก็ทดลองใส่เงินลงทุนในกองทุนใหม่ ส่วนกองทุนเก่า ก็ค่อย ๆ ทยอยขายคืนออกมาก็ได้ครับ

9.เรียนรู้ให้มากขึ้น ติดตามการลงทุนบ้าง
แน่นอนครับ เราลงทุนไปแล้ว ก็ต้องติดตามข่าวสารบ้าง เพราะว่าส่วนใหญ่วิกฤตต่าง ๆ มักจะเกิดขึ้นแบบที่เราไม่ค่อยรู้ตัวสักเท่าไหร่ และละเลยมัน
แต่ถ้าเราติดตามข่าวอยู่บ้าง อย่างน้อย ๆ ก็อาจจะช่วยให้เรา ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้บ้างครับ หรือ การที่เรามีความรู้ มีหลักเกณฑ์ที่เราได้ตั้งมาแล้วอย่างถูกต้อง ความรู้เล่านี้ก็จะทำให้เรา ลงทุนได้นานขึ้น หรือว่าสบายใจมากขึ้นครับ