เมื่อคนสองคนตกลงปลงใจใช้ชีวิตคู่มาได้สักระยะหนึ่ง ก็ต้องการมีเจ้าตัวน้อยเป็นโซ่ทองคล้องใจ หมายความว่า ต้องเตรียมตัวให้พร้อม แน่นอนว่าการเตรียมสุขภาพร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อร่างกายพร้อมและมีสุขภาพจิตที่ดี ย่อมส่งผลให้การให้กำเนิดและการเติบโตของชีวิตน้อยๆ ในครรภ์สมบูรณ์ไปด้วย

นอกจากการเตรียมสุขภาพกายและใจแล้ว สิ่งที่สำคัญประการหนึ่งที่ต้องพร้อม คือ “เงิน” เพราะก่อนเป็นคุณพ่อ คุณแม่มือใหม่คงได้ยินวลี “ชีวิตของคุณกำลังจะเปลี่ยนไป”

ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะการมีลูกก็เปลี่ยนชีวิตไปหลายด้าน รวมถึงสถานการณ์ทางการเงินก็จะเปลี่ยนด้วย ดังนั้น เพื่อให้พร้อมรับมือกับการเงินในอนาคตได้ คือ การเริ่มต้นวางแผนการเงินตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์

โดยอาจตั้งชื่อแผนการเงินเพื่อสร้างกำลังใจ เช่น แผนการเงินเพื่อเจ้าตัวน้อย แผนการเงินเพื่ออนาคต หรือแผนการเงิน 9 เดือนก่อนคลอด โดยสามารถทำตามได้ ดังนี้

ตั้งครรภ์เดือนที่ 1 : ลดหนี้บัตรเครดิต

เมื่อรู้ว่าคุณแม่มือใหม่ตั้งครรภ์ สิ่งแรกที่ควรลงมือจัดการเกี่ยวกับการเงิน คือ หนี้บัตรเครดิต เพราะดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลกระทบในระยะยาว โดยเฉพาะผู้ที่เลือกชำระหนี้ขั้นต่ำ ของยอดหนี้ในแต่ละงวด และถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ดอกเบี้ยจะท่วมหัว ดังนั้น ควรเคลียร์หนี้บัตรเครดิตให้หมดเร็วที่สุด เพื่อเตรียมเงินก้อนไว้ใช้กับค่าใช้จ่ายใหม่ๆ ที่จะตามมาหลังคลอด

ตั้งครรภ์เดือนที่ 2 : ติดตามค่าใช้จ่าย

ขณะที่กำลังเคลียร์หนี้บัตรเครดิต ควรทำข้อมูลและติดตามค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครอบครัว เพื่อให้เห็นภาพการใช้จ่ายรายเดือนให้ชัดเจนขึ้น เช่น เก็บใบเสร็จรับเงินทุกครั้งที่ซื้อข้าวของ บันทึกหนี้สินทุกอย่างที่จ่าย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ และก็ติดตามค่าใช้จ่ายทุกย่างก้าว และ 3 เดือนผ่านไปก็นำมาดูเพื่อกำหนดรูปแบบการใช้จ่ายของครอบครัว เช่น รายจ่ายส่วนไหนที่สามารถปรับลดลงได้ หรือสามารถตัดออกไปได้

ตั้งครรภ์เดือนที่ 3 : สร้างงบประมาณ

เมื่อติดตามค่าใช้จ่ายอย่างใกล้ชิดก็จะสามารถนำมากำหนดรูปแบบการใช้จ่ายของครอบครัวได้ โดยเฉพาะรายจ่ายส่วนไหนที่สามารถปรับลดลงได้หรือตัดออกไปได้ เช่น หยุดช้อปปิ้งเสื้อผ้า ชะลอการซื้อมือถือเครื่องใหม่ เป็นต้น ถัดจากนั้นก็ลงมือสร้างงบประมาณใหม่ โดยเน้นค่าใช้จ่ายเพื่อเตรียมตัวในการเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อย เช่น ช่วงแรกเกิดว่าในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เช่น ค่านม ค่าอาหาร เสื้อผ้า การดูแล ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายใหม่ ดังนั้น ต้องจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมมากที่สุด

ตั้งครรภ์เดือนที่ 4 : ประเมินงบประมาณ สวัสดิการจากบริษัท

ถ้าสร้างงบประมาณแล้วไม่ทำตามก็จะไม่เกิดผลอะไรขึ้น ดังนั้น ควรลองฝึกความเข้มงวดด้านการเงิน เช่น หยุดช้อปปิ้ง งดการกินข้าวมื้อแพงๆ หยุดออกไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ ขณะเดียวกันถ้าเป็นพนักงานประจำ ก็ให้เริ่มคำนวณสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากบริษัท ด้วยการพูดคุยกับฝ่ายบุคคล เช่น เงินค่าคลอดบุตร สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล สิทธิการลา เงินเดือนที่ได้รับในช่วงลาเลี้ยงบุตร เบิกประกันสังคมได้เท่าไหร่ เป็นต้น รวมถึงข้าราชการก็ควรเริ่มศึกษาข้อมูลว่าต้นสังกัดมีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง

ตั้งครรภ์เดือนที่ 5 : เลือกวิธีการเลี้ยงดูแล

ผ่านไปครึ่งทางก่อนคุณแม่จะคลอดเจ้าตัวน้อย ถือเป็นช่วงที่ดีในการปรึกษากันว่าจะเลือกวิธีการดูแลเจ้าตัวอย่างแบบไหน เช่น เลี้ยงด้วยตัวเอง หรือจ้างพี่เลี้ยงมาดูแล หรือใช้บริการสถานที่รับเลี้ยงเด็กแรกเกิด ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน เช่น ใช้บริการศูนย์บริการรับเลี้ยงเด็กอายุ 3 เดือน – 2 ปี ค่าใช้ 6,000 บาทต่อเดือนต่อคน (ข้อมูลจากโรงพยาบาลเด็ก) เป็นต้น เช่นเดียวกับการจ้างพี่เลี้ยงเด็กก็ต้องใช้เงินระดับหมื่นบาทต่อเดือน

ตั้งครรภ์เดือนที่ 6 : ซื้อประกันสุขภาพ

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บอกว่าได้พบโรคบางอย่างที่รุ่นคุณพ่อ คุณแม่ไม่เคยเป็นในวัยเด็ก แต่ปัจจุบันโรคบางอย่างกับพบบ่อยในเด็ก เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ไข้เลือดออก โรคมือเท้าปาก เป็นต้น ดังนั้น ถ้าเจ้าตัวน้อยป่วยย่อมส่งผลต่อพัฒนาการเด็กในอนาคต และแน่นอนค่ารักษาพยาบาลต้องใช้เงินค่อนข้างสูง โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่เจอทั้งค่ายา ค่าห้อง ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ควรซื้อประกันให้ลูก เพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงิน ทั้งค่ายา ค่าพยาบาล ค่าแพทย์ ค่าผ่าตัด ค่าห้อง เป็นต้น ซึ่งเบี้ยประกันสุขภาพถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายเอง โดยปัจจุบัน บริษัทประกันทุกแห่งมีประกันสุขภาพเด็กเล็กให้เลือกมากมาย ตั้งแต่แรกเกิดกันเลย

ตั้งครรภ์เดือนที่ 7 : ออมเงินสำหรับเจ้าตัวน้อย

อีกประมาณ 2 เดือนเจ้าตัวน้อยก็จะลืมตาดูโลก ลองใช้จังหวะนี้ในการเริ่มต้นออมเงินเพื่อเตรียมรับขวัญลูก ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารหลายแห่งมีบริการบัญชีออมทรัพย์ให้เจ้าตัวน้อย บางธนาคารมีบัญชีออมทรัพย์ตั้งแต่แรกเกิด ฝากขั้นต่ำหลักร้อยบาท สามารถออมสม่ำเสมอต่อเนื่องที่เรียกว่า DCA ดอกเบี้ยค่อนข้างสูง ที่สำคัญมีเงื่อนไขผูกมัดไม่เยอะ

ตั้งครรภ์เดือนที่ 8 : เตรียมเงินช่วงคลอด

อีกไม่กี่สัปดาห์ คุณแม่มือใหม่ก็จะคลอดเจ้าตัวน้อย จึงเป็นช่วงที่ต้องเตรียมเงินให้พร้อมที่สุดว่าต้องใช้เท่าไหร่ โดยนอกจากค่าคลอดที่ต้องเตรียมให้กับโรงพยาบาลแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายของคุณแม่ เช่น เสื้อผ้าของหญิงตั้งครรภ์ ของใช้ของลูกเช่น เสื้อผ้า ขวดนม ที่นอน ที่เปลี่ยนผ้าอ้อม รถเข็นเด็ก เป็นต้น ที่สำคัญหลังคลอดก็ต้องวางแผนด้วย โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกที่มีค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร เช่น ค่าฉีดวัคซีน เครื่องทำความสะอาดนม เสื้อผ้า ผ้าอ้อม เป็นต้น

ตั้งครรภ์เดือนที่ 9 : ประหยัดให้มากที่สุด

เมื่อใกล้ถึงวันกำหนดคลอด ต้องประหยัดให้มากที่สุด ที่สำคัญต้องทำตามขั้นตอนแผนตลอด 8 เดือนที่ผ่านมาให้รัดกุม เพื่อเป็นของขวัญให้กับเจ้าตัวน้อย