การบริหารความเสี่ยงที่ดี คือ การกระจายการลงทุน จากผลงานวิจัยของ Gary P. Brinson, Randolph Hood และ Gilbert L. Beebower ชื่อ Determinants of Portfolio. Performance ในปี 1986 พบว่าผลตอบแทนของการลงทุนเกิดจาก

• 94% เกิดจากการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน (เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดมีผลต่อการลงทุน)
• 4% เกิดจากการคัดเลือกหลักทรัพย์ ถูกตัว
• 2% เกิดจากการจับจังหวะ ตลาดถูกต้อง

การคัดเลือกหลักทรัพย์ถูกตัวและการจับจังหวะตลาดถูกต้องอาจจะทำให้ได้ผลตอบแทนสูงเป็นครั้งคราวในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างผมเองในปีที่ผ่านมา ก็เจ็บตัวจากตลาดหุ้นจีนและหุ้นไทยเช่นกัน แต่เมื่อมองในภาพรวมของพอร์ตการลงทุนแล้ว ก็ให้ผลตอบแทนที่ยังเป็นบวกอยู่ เหตุผลก็เพราะมีการกระจายความเสี่ยง ในสินทรัพย์หลายประเภท และกระจายการลงทุนในหลายตลาดนั่นเอง

แต่การกระจายความเสี่ยงที่ดีอีกอย่างหนึ่งที่เราควรทำควบคู่กับการกระจายสินทรัพย์หรือตลาดการลงทุน ก็คือ การกระจายจังหวะของการลงทุน เหตุผลก็เพราะไม่มีใครสามารถซื้อได้ที่จุดต่ำสุด หรือ ขายที่จุดสูงสุดได้ตลอดเวลา ทำให้หลายครั้งเราพลาดโอกาสของการลงทุนที่ดีไม่ว่าจะเป็นขาซื้อ หรือ ขาขาย ก็ตาม

กลยุทธ์หนึ่งที่ดีสำหรับการกระจายจังหวะการลงทุน ก็คือ DCA หรือ Dollar Cost Average

ที่หลายคนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ กลยุทธ์ DCA ที่เราใช้จะเป็นลงทุนด้วยจำนวนเงินเดียวกัน ในงวดระยะเวลาที่เท่าๆ กัน อย่างเช่น ลงทุนรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ง่าย สร้างวินัยทางการลงทุนได้ดี

ข้อดี คือ สามารถลดความเสี่ยงจากการเลือกช่วงเวลาในการลงทุนได้ (Market timing) และการที่ลงทุนด้วยเงินที่เท่ากันทุกงวด เมื่อราคาของหลักทรัพย์ลดต่ำลง เราก็จะสามารถซื้อหลักทรัพย์ได้ในจำนวนที่มากขึ้น ส่งผลให้เมื่อราคาหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้น เราจะกำไรมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เพราะ DCA เป็นการกระจายจังหวะในการซื้อหลักทรัพย์ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงขาขึ้น หรือ ขาลง สิ่งที่ได้จาก DCA คือโอกาสที่ต้นทุนเฉลี่ยจะถูกกว่าการเลือกลงทุนแบบ Lumpsum แต่อาจไม่ใช่ว่าต้นทุนจะถูกที่สุด

แต่ก็มีกลยุทธ์ DCA อีกหลายแบบที่น่าสนใจ อย่างเช่น

📊กลยุทธ์การลงทุน Value Average (VA)

จะเริ่มจากการกำหนดมูลค่าเป้าหมายของพอร์ตการลงทุนให้เพิ่มขึ้นในแต่ละงวดไว้ก่อนหน้า โดยตั้งเป้าหมายให้เพิ่มขึ้นด้วยมูลค่าเท่าๆ กันในแต่ละงวดระยะเวลาการลงทุน เช่น รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี เป็นต้น หากมูลค่าของพอร์ตสูงกว่ามูลค่าเป้าหมาย เราก็จะขายหลักทรัพย์ เพื่อลดมูลค่าของพอร์ตให้เข้าสู่มูลค่าเป้าหมาย และในทางกลับกัน หากมูลค่าของพอร์ตต่ำกว่ามูลค่าเป้าหมาย เราก็จะซื้อหลักทรัพย์ด้วยจำนวนมากขึ้น เพื่อให้มูลค่าของพอร์ตการลงทุนที่ลดลงไป มีมูลค่าเท่ากับมูลค่าเป้าหมาย

กลยุทธ์นี้จึงเป็นกลยุทธ์ซื้อถูก ขายแพงที่มีเป้าหมายคือมูลค่าพอร์ตเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น มูลค่าเป้าหมายต้นงวด กำหนดมูลค่าเป้าหมายเพิ่มงวดละ 10,000 บาท หาก NAV เพิ่มขึ้น เราก็จะซื้อน้อยลง หาก NAV ลดต่ำลง เราก็จะซื้อมากขึ้น

📊กลยุทธ์การลงทุน Enhanced Dollar Cost Average (EDCA)

กลยุทธ์นี้จะกำหนดจำนวนเงินที่จะลงทุนไว้ล่วงหน้า ไว้ 3 จำนวน คือ เงินลงทุนในจานวนเริ่มต้น เงินลงทุนขอบบน และเงินลงทุนขอบล่าง หากราคาหลักทรัพย์สูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาหลักทรัพย์ในงวดก่อนหน้า จะลงทุนด้วยจำนวนเงินที่เป็นขอบล่าง ในทางกลับกัน หากราคาหลักทรัพย์ในงวดปัจจุบันต่ำกว่าราคาหลักทรัพย์ในงวดก่อนหน้า ก็จะลงทุนด้วยจำนวนเงินที่เป็นขอบบนเราจะลงทุนด้วยจำนวนเงินที่กำหนดไว้ก่อนหน้า (ต่างจาก DCA ที่ลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่ากัน ทุกงวดเวลา ไม่ว่าสภาวะตลาดจะเป็นยังไง)

ตัวอย่างเช่น กำหนดมูลค่าลงทุนงวดละ 10,000 บาท ขอบบนคือ 11,000 บาท ขอบล่าง คือ 9,000 บาท ถ้า NAV ต่ำกว่า NAV งวดก่อนหน้า ก็จะลงทุน 11,000 บาท แต่ถ้า NAV สูงกว่า NAV งวดก่อนหน้า ก็จะลงทุน 9,000 บาท พูดง่ายๆกลยุทธ์นี้จะซื้อมากตอนราคาถูก ซื้อน้อยตอนราคาแพง เป็นกลยุทธ์แบบซื้อสวนตลาดนั่นเอง

📊กลยุทธ์การลงทุน Dynamic Dollar-Cost Averaging (DDCA)

เป็นกลยุทธ์ที่ประยุกต์มาจาก DCA เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนให้เพิ่มขึ้น โดยจำนวนเงินที่ลงทุนในแต่ละงวดจะขึ้นอยู่กับผลตอบแทนจากการลงทุนในงวดก่อนหน้า อย่างเช่น ลงทุนซื้อหลักทรัพย์ต้นเดือนมกราคม 100 บาทต้นเดือน กุมภาพันธ์ หลักทรัพย์นี้ให้ผลตอบแทน 5% ดังนั้นในงวดนี้จะลงทุนเท่ากับ 95% (100%-ผลตอบแทนที่ได้จากงวดที่ผ่านมา) ของเงินลงทุนเริ่มแรก จึงเท่ากับ 95 บาท เป็นต้น

กลยุทธ์นี้จะซื้อมากตอนราคาถูก ซื้อน้อยตอนราคาแพง เป็นกลยุทธ์แบบซื้อสวนตลาดเหมือน EDCA แต่ต่างกันที่จำนวนเงินที่ซื้อของ EDCA จะซื้อด้วยจำนวนที่กำหนดไว้แน่นอน (ขอบบน หรือ ขอบล่าง) ส่วน DDCA จำนวนเงินที่ซื้อจะขึ้นอยู่กับผลตอบแทนที่ผ่านมา ถ้าผลตอบแทนมากก็จะซื้อน้อย ถ้าผลตอบแทนน้อย (หรือขาดทุน) ก็จะซื้อมาก

สูตร คือ จำนวนเงินที่ลงทุนเพิ่ม = จำนวนเงินลงทุนเพิ่มเป้าหมาย * (1-ผลตอบแทนแต่ละงวด)

ถามว่ากลยุทธ์ไหนดีกว่ากัน เท่าที่ทราบยังไม่เห็นใครทำวิจัยเรื่องนี้ในไทย แต่อย่างหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นปัจจัยของความสำเร็จในการลงทุน ก็คือ การมีความรู้และวินัยในการลงทุน ครับ

ผู้เขียน: สาธิต บวรสันติสุทธิ์. นักวางแผนการเงิน CFP®