ตลอด 2 - 3 วันที่ผ่านมา หลายคนน่าจะได้ยินคำว่า "CPTPP" ผ่านกระแสข่าวและสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ บางทีมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ เราเลื่อน Feed หนีไป แต่ก็พบเจอการแชร์มากมาย จนเกิดข้อสงสัยว่า เอ๊ะ! ตัวย่อ "CPTPP" มันคืออะไรนะ เกี่ยวอะไรกับพวกเราไหม หรือเราได้ประโยชน์หรือเสียสิทธิอะไรหรือเปล่า

วันนี้ ทาง aomMONEY ได้รวบรวมและสรุปข้อมูลเกี่ยวกับ "CPTPP" ว่าคืออะไร ทำไมต้องรู้จัก และเราได้ประโยชน์อะไรจากการทราบถึงประเด็นดังกล่าวนี้ในหัวข้อ สรุปประเด็น CPTPP เรื่องที่คนไทยทุกคนควรรู้ แต่ก่อนจะมาลุยในรายละเอียด เรามาทำความรู้จักกับตัวย่อดังกล่าว ก่อนมันคืออะไร

"CPTPP" คือ อะไร?

จากข้อมูลของ SCB Economic Intelligence Center ให้รายละเอียดไว้ว่า CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้า สำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก

ข้อตกลงนี้ครอบคลุมการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

ประเด็นที่สำคัญ ของ ข้อตกลงดังกล่าว แต่เดิมมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2006 ในชื่อเดิม TPP (Trans-Pacific Partnership) แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ การที่สหรัฐ หัวเรือใหญ่ในข้อตกลงนี้ ถอนตัวออกไปในปี 2017 ทำให้ผัจจุบันเหลือ 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม โดย 11 ประเทศ มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน มี GDP รวมกว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 13 ของ GDP โลก

หลังสหรัฐฯ ถอนตัวไป จาก CPTPP เกิดอะไรขึ้น

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ขนาดเศรษฐกิจรวมของ CPTPP หลังไม่มีสหรัฐฯ ลดฮวบจาก 38% ของเศรษฐกิจโลก เป็น 13% ส่วนขนาดการค้ารวมลดลงจาก 27% เป็น 15%

แล้วประเทศไทยเกี่ยวข้องอะไรด้วย

เกี่ยวแบบมีนัยยะ โดยเอกสารที่กระทรวงพาณิชย์เผยและนำส่งให้ ครม.นั้น รองนายกฯ สมคิด ระบุว่า หากไทยเข้าร่วมทำให้ GDP ขยายตัวร้อยละ 0.12 มูลค่าทางเศรษฐกิจ 13,300 ล้านบาท แต่หากไม่เข้าร่วมจะเสียโอกาสและกระทบต่อ GDP ที่หดตัวร้อยละ 0.25 หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 26,600 ล้านบาท

GDP คืออะไร สำคัญอย่างไร?

GDP คือ ตัววัดภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ว่ามีการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่เท่าไหร่ ประเทศเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต โดยมีส่วนประกอบหลัก 5 ส่วน ได้แก่ การบริโภคของภาคเอกชน การลงทุนจากภาคเอกชนต่างๆ การใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนจากภาครัฐ การส่งออก การนำเข้า เป็นต้น

จากข้อมูลดังกล่าวน่าจะเห็นภาพพอสมควรแล้วว่าข้อตกลงดังกล่าว ทำไมไทยถึงมีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนจะสร้างประโยชน์หรือมีผลกระทบ ซึ่งภาคประชาชนเริ่มออกมาตั้งคำถามแล้วว่า คุ้มค่า จริงหรือเปล่า เราได้สรุปมาแล้วในหัวข้อ 4 เหตุผลที่ทำไมเราต้องรู้จัก CPTPP โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืช

ในฐานะที่เราเป็นประเทศด้านเกษตรกรรม เมล็ดพันธุ์มีส่วนสำคัญอย่างมาก หากรัฐบาลเข้าร่วม CPTPP ไทยต้องถูกบังคับให้เข้าร่วมอนุสัญญา UPOV1991 ที่คุ้มครองพันธุ์พืชที่มีความเข้มงวดสูง โดย "ผู้ปรับปรุงพันธุ์" มีสิทธิผูกขาดในการกีดกันผู้อื่นมิให้นำเอาส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์พืช อาทิ เมล็ดพันธุ์ กิ่งตอน ไปใช้ประโยชน์ในทางพาณิชย์และในการเพาะปลูก รวมทั้งให้มีสิทธิผูกขาดในการส่งออก-นำเข้า หรือ เก็บรักษาส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์พืช เพื่อจำหน่ายหรือเพาะปลูก แบบนี้เกษตรกรของเราแย่แน่ๆ ที่สำคัญการอยู่ภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้ จะทำให้ราคาของเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น

2. เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน

CPTPP ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยได้แน่นอน เพราะกฏเกณฑ์ดังกล่าวจะเข้ามาสนับสนุนและยกระดับไทยในหลายเรื่อง เช่น กฎหมายสิทธิแรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  ขณะเดียวกันยังมีโอกาสที่ดีในการดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิก อีกหนึ่งนัยยะคือการส่งออก คาดว่า ตลาดที่น่าสนใจอย่างแคนาดา เม็กซิโก น่าจะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกของไทยได้ในอนาคต

3. การเข้าถึงยา

ในข้อตกลงหลายส่วนจาก CPTPP สภาเภสัชกรรมมองว่า ส่งผลต่อการเข้าถึงยา โดยเฉพาะ การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อเรื่องสุขภาพ สาธารณสุขในด้านอื่นๆ เช่น การผูกโยงการขึ้นทะเบียนตำรับยากับระบบสิทธิบัตร (Patent linkage) ข้อผูกมัดในบทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและทรัพย์สินทางปัญญา

4. การแข่งขันที่สูงขึ้น

แม้เราจะแกร่งขึ้นในแง่ของความสามารถในการแข่งขัน แต่ก็ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจาก แคนาดา ถือเป็นเจ้าตลาดในเรื่อง ปุ๋ย ถั่วเหลือง ขณะเดียวกันการเปิดโอกาสทางการแข่งขันให้นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ทำให้ไทยต้องเตรียมรับมือการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ

เหตุที่ aomMONEY ต้องมาพูดคุยในเรื่อง "CPTPP" เพราะดูแล้วจะเกี่ยวกับไทยในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการเกษตร จากนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคงต้องชั่งน้ำหนักให้ดีนะครับ ว่าคุ้มหรือเปล่ กับประโยชน์และผลเสียที่เกิดขึ้น มนุษย์เงินเดือนที่หาเช้ากินค่ำอย่างเราๆ กว่าจะผ่านโควิดไปได้ก็ยากแล้ว อยากให้การพัฒนาเศรษฐกิจเกิดการพัฒนาที่รอบด้านอย่างแท้จริง โดยเฉพาะคนไทยมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุด

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/