เมื่อวานนี้ วันที่ 27 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ทาง aomMONEY ได้มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังงานเสวนา TAX Talk ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อชื่อว่า “Digital Services for Business Enterprise” ดังนั้น วันนี้ผมจึงจะมาเล่ารายละเอียดให้เพื่อนๆ ได้ฟังกันครับ

TAX Talks เป็นงานที่จัดขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและพูดคุยกับเกี่ยวกับนโยบายด้านภาษี โดยหัวข้อในครั้งนี้จะเป็นการกล่าวถึง ภาพรวมและการพัฒนาบริการทางภาษีในรูปแบบดิจิทัลแก่องค์กรธุรกิจ ซึ่งจากการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนครับ

ปัจจุบันทางกรมสรรพากรได้มีวิสัยทัศน์ในการที่จะจัดภาษีให้มีความทันสมัยและสร้างความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น โดยมีการใช้กลยุทธ์ D2RIVE เพื่อให้ผู้เสียภาษีทุกคนมุ่งหน้าสู่เป้าหมายเดียวกันครับ

  • D-Digital Transformation - ยึดหลักผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง
  • D-Data Analytics - เพิ่มประสิทธิภาพของข้อมูลโดยการพัฒนาให้กลายเป็น Big Data
  • R-Revenue Collection - การเก็บให้ตรงตามเป้าหมาย (ในปีที่ผ่านมาสามารถเกินเป้า 3.8 หมื่นล้านบาท )
  • I-Innovation -สร้างสภาพแวดล้อมและเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพมีส่วนร่วมในการพัฒนา
  • V-Values- ยึดหลัก 3 คุณธรรมประกอดด้วย ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และ ใจบริการ
  • E-efficiency- ยกระดับประสิทธิภาพของคนและระบบงาน 

รู้จัก Digital Services ที่ยึดหลักผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง

1. Taxpayer Registration

เมื่อเริ่มกรอกข้อมูล ระบบนี้จะมีการเชื่อมโยงกับข้อมูลในหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกรมการปกครองหรือกระทรวงพาณิชย์ 

2. Tax Filling

ในปัจจุบันกำลังมีการเตรียมที่จะเปิด ภ.พ. 30 และ Open API ซึ่งจะช่วยให้การยื่นแบบเป็นนั้นง่ายขึ้นและเป็นมาตรฐานมากขึ้น

3. Tax Payment

มีการร่วมมือกับทางธนาคารไม่ว่าจะเป็น  ATM, Credit Card, QR Code

4. Tax Refund

การคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าบัญชีธนาคาร (เฉพาะผู้ประกอบการส่งออกที่ดีและจดทะเบียน ภ.พ.13 เท่านั้น ) รวมไปถึงการทำ blockchain คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว

5. Operational Services

  • e-Tax invoice - ทำให้เรื่องใบกำกับภาษีนั้นสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งหากใครที่ลงทุนในระบบนี้ หรือ ใช้บริการ  service provider ก็จะสามารถหักค่าใช้ จ่ายได้ 2 เท่า
  • e-Withholdingtax - แต่ก่อนภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะต้องยื่นเป็นกระดาษ แต่ปัจจุบันธนาคารจะเป็นสื่อตัวกลาง ซึ่งใช้ระบบบัญชีในการยื่นให้กับสรรพากรแทน
  • e-stamp  Duty - ในวันที่ 1 ก.ค. 2562 ทางกรมสรรพากรเตรียมที่จะเปิดตัวตราสารอิเล็กทรอนิกส์ 5 ตราสาร ประกอบด้วย สัญญาจ้างทำของ สัญญากู้ยืม สัญญาค้ำประกัน ใบมอบอำนาจ และใบมอบฉันทะ 

Open API คืออะไร

เป็นระบบที่มีลักษณะคล้ายกันกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ประชาชนสามารถยื่นส่งเอกสารได้ผ่านทางช่องทางออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องยื่นให้แก่กรมสรรพากรเท่านั้น แต่สามารถยื่นผ่านทางหน่วยงานอื่นได้ ซึ่งทำให้ภาระในการจัดเก็บและนำส่งเอกสารของผู้เสียภาษีลดลง

เริ่มต้นธุรกิจอย่างเข้าใจเติบโตได้อย่างยั่งยืน

สำหรับผู้ประกอบการ หรือใครที่กำลังทำธุรกิจอยู่ ไม่ว่าจะธุรกิจเจ้าของคนเดียว , SME , Startup , หากมีรายได้เข้ามาตลอดทุกๆ เดือน หรือเมื่อธุรกิจนั้นเติบโตขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว จะต้องมีการจดทะเบียนบริษัทและเสียภาษีให้ถูกต้องด้วยนะครับ ทีนี้มาดูกันว่สเมื่อทำธุรกิจแล้วจะต้องจดทะเบียนแบบไหนบ้าง

1. จดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนพาณิชย์ (บุคคลธรรมดา)

เป็นการจดทะเบียนบริษัทของกิจการที่มีผู้ประกอบการเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว ข้อดีคือผู้ประกอบการจะได้รับกำไรเต็มๆ แต่ถ้าหากกิจการขาดทุน เราเองก็ต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่รวมไปถึงหนี้สินด้วยครับ

ส่วนเวลาเสียภาษีก็จะสามารถยื่นได้ 2 แบบตามที่มาของรายได้คือ ภ.ง.ด 90 สำหรับผู้มีเงินได้ทั่วไป เช่น รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน  การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือมีกิจการเป็นของตัวเอง ต้องยื่นแบบในระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคมของทุกปี

และภ.ง.ด 94 เป็นรูปแบบการยื่นแสดงภาษีแบบครึ่งปี สำหรับผู้ที่มีเงินได้ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ( มาจากรายได้ประเภทที่ 5-8 ) จะต้องยื่นแบบระหว่างเดือน กรกฎาคม - 30 กันยายนของทุกปี

2. จดทะเบียนบริษัทแบบทะเบียนนิติบุคคล 

เหมาะสำหรับธุรกิจหรือกิจการที่มีคนดูแลมากกว่า 2 คนขึ้นไป มีการลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน การทำธุรกรรมต่างๆ จะเป็นไปในนามบริษัททั้งหมด หากจดทะเบียนเป็นบริษัทนิติบุคคลจะต้องมีการเสียภาษี 2 รอบด้วยกันคือ

ช่วงครึ่งปีแรกจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ( ภ.ง.ด.51 ) ต้องยื่นภายใน 60 วัน นับจากวันสุดท้ายของทุก 6 เดือนแรกและต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบสิ้นปี ( ภ.ง.ด.50 ) ต้องยื่นภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีในปีนั้นครับ

เราควรจะจดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อไร

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association ได้ให้คำแนะนำว่า สำหรับธุรกิจที่มีผู้ประกอบการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ควรมีการจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อที่จะได้สามารถแยกบัญชีรายได้ของกิจการ และ บัญชีส่วนตัวออกจากกัน

สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจคนเดียวนั้น ดร.พณชิตกล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องจดนิติบุคคลเสมอไป ให้เริ่มทำธุรกิจไปก่อนจนเมื่อมั่นใจว่าธุรกิจนั้นมั่นคงและมีแนวโน้มจะขยายพัฒนาธุรกิจไปเรื่อยๆ จึงค่อยจดทะเบียนนิติบุคคลก็ยังไม่สายครับ แต่ถ้าหากว่ามีรายได้ถึง 1.8 ล้านบาท จะต้องมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วยนะครับ

การจดทะเบียนนิติบุคคลข้อดี คือ มีสัดส่วนเจ้าของชัดเจน สามารถช่วยกันดูและบริหารได้ เมื่อธุรกิจเติบโตมากเท่าไรยิ่งทำให้เสียภาษีต่ำลงเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากบุคคลธรรมดาที่จะต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าสูงสุดถึง 35% แต่นิติบุคคลเสียภาษีแค่ 20% เท่านั้น

SMEs 360 องศา คู่มือของผู้ประกอบการรายใหม่

ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีความต้องการที่จะศึกษาหาข้อมูลความรู้ด้วยตัวเอง ทางสรรพากรจึงพยายามที่จะทำความเข้าใจและช่วยให้ผู้เสียภาษีนั้นสามารถมองเห็นมุมมองได้รอบด้าน จึงได้มีการจัดตั้ง SMEs 360 องศาที่นอกจากจะบอกแนวทางในการเริ่มต้นธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการแล้วยังมีการจัดตั้ง Tax Ambassador ในทุกพื้นที่จำนวน 119 แห่ง เพื่อดูแลและให้คำแนะนำอีกด้วยครับ

ทีนี้เรามาทำความรู้จักกับ Blockchain กันดีกว่าครับ ว่าโครงสร้างเครือข่ายของระบบนี้มันคืออะไร และดีอย่างไรกรมสรรพากรถึงพยายามที่จะนำมาใช้ควบคู่กับระบบ Open API

รู้จักกับ Blockchain

Blockchain คือ เทคโนโลยีที่ไม่ต้องอาศัยคนกลางในการทำธุรกรรมออนไลน์ โดยจะมีรูปแบบลักษณะเหมือนห่วงโซ่ที่มีการแชร์ข้อมูลให้กับทุกๆ คนในเครือข่าย ซึ่งข้อดีของมันก็คือ มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ และถ้าหากว่ามีใครที่ปลอมแปลงเอกสาร ทุกๆ คนในเครือข่ายก็สามารถที่จะรับรู้และพิสูจน์ได้ นอกจากนี้ตัว Blockchain ยังสามารถกำหนดการเข้าถึงข้อมูลได้อีกด้วย ทำให้คุณสามารถไว้วางใจได้ในเรื่องความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวครับ

ปัจจุบันทางกรมสรรพากรจึงได้มีการนำ Blockchain มาพัฒนาในตัวระบบโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะประกอบไปด้วย

โครงการคืนภาษีให้นักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยระบบ Blockchain

คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า ในเดือนกันยาที่กำลังจะถึงนี้ จะมีการปล่อยแอปพลิเคชั่นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านการใช้ระบบ Blockchain

โดยความน่าสนใจของแอปพลิเคชั่นนี้ คือ เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติซื้อสินค้ากับร้านค้าที่มีการลงทะเบียนกับกรมสรรพากร ตัวแอปพลิเคชั่นจะมีการส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรในทันที ซึ่งนอกจากนักท่องเที่ยวจะสามารถเช็คสิทธิในการรับคืนภาษีได้ การมีแอปพลิเคชั่นนี้ยังช่วยสร้างความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอีกด้วยครับ

โครงการใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่าย Blockchain

การทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่าย Blockchain จะทำให้ตัวใบกำกับภาษีนั้นมีความปลอดภัยสามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าเอกสารนี้เคยมีการถูกแก้ไขหรือไม่ ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจออนไลน์เป็นอย่างมาก รวมไปถึง e-Stamp duty ที่กำลังจะมีการทำแสตมป์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็สามารถที่จะทำให้การทำสัญญาในโลกไซเบอร์นั้นถูกต้องตามกฏหมายและสามารถนำไปสู่ศาลได้ครับ

ภาพรวมในอนาคตของการดำเนินงานในยุคดิจิทัล

หากในอนาคต Open API และการวางโครงสร้างด้วยระบบ Blockchain ได้รับการยอมรับและมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย จะทำให้ผู้เสียภาษีนั้นเกิดความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเจ้าของกิจการจะไม่ต้องกังวลอีกต่อไปในเรื่องของการทำบัญชี เช่น จะต้องจะทะเบียนวันไหน  คำนวณสูตรยังไง เพราะข้อมูลทุกอย่างจะถูกรวมอยู่ในแพลตฟอร์มทั้งหมดแล้วครับ และ การมี Blockchain ยังช่วยให้การทำธุรกิจนั้นมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ส่วนใครที่ทำธุรกิจแล้วยังไม่เคยยื่นแบบภาษีเลย หรือยื่นไว้แล้วแต่ยังไม่ครบถ้วนและยังไม่ถูกต้อง อย่าลืมไปลงทะเบียนรับสิทธิในการยกเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากภาษีอากรด้วยนะครับ สามารถลงทะเบียนได้ถึงวันสุดท้ายคือ 1 กรกฎาคม 2562

ต่อไปเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้คุณสามารถยื่นภาษีได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน  ส่วนครั้งหน้าผมจะนำเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการเงินการลงทุนเรื่องใดมาฝาก ก็ฝากติดตามบทความต่อๆ ไปกันด้วยนะครับ 

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Line@ : @aommoney

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/