สำหรับวันนี้จะยก Case การทำ DCA หุ้น BANPU ให้ดูนะครับ ผมเคยบอกมาเสมอว่าการออมหุ้นนั้น "ไม่สามารถทำได้ทุกตัว" ถ้าใครเคยอ่านในหนังสือ "ออมหุ้น ออมความสุข" ที่ผมแต่งขึ้น ผมจะตั้งคำถามในหน้าหนึ่งว่า คุณชอบลงทุนในหุ้นแบบไหน หุ้นที่มีการเติบโตเรื่อยๆ หุ้นที่มีความผันผวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ หรือ ชอบหุ้นที่มันไม่ได้มีการเติบโตอะไรเลยตกต่ำลงเรื่อยๆ และแน่นอนว่าประเภทหุ้นอย่างหนึ่งที่ผมจะไม่ชอบออมอย่างมากก็คือ หุ้นที่มีลักษณะเป็นวัฎจักรตามรอบเศรษฐกิจและความต้องการสินค้านั้นๆในตลาดโลกเป็นช่วงๆ ก็คือสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายนั่นล่ะ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ถ่านหิน ยางพารา ทอง ค่าระวางเรือ มันมีหลายอย่างที่มีความเสี่ยงในเรื่องการขึ้นลงของตลาดโลก บริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ผมก็มักจะไม่ได้สนใจอะไรต่อให้ค่า P/E ต่ำขนาดไหนก็ตาม

P/E ต่ำ น่าลงทุนไม่ใช่หรอ?

ถ้าเราดู P/E BANPU แล้วจะตกใจมากว่าเมื่อปีก่อนหน้า 2553-2555 P/E อยู่ในระดับเพียง 7-10 เท่า ส่วนราคาก็แถวๆ เกือบ 800 บาท ลงมาเหลือ 400 บาท (ซื้อราคาตอนนี้คิดเป็นเงินหลังแตก Par ก็ถูกกว่า แต่ถ้าไปดู P/E ตอนนี้ก็ 18-20 เท่าได้) แน่นอนว่า ถ้าใครดู P/E แล้วซื้อเลยนั่นคือจบชีวิตในการลงทุนอย่างง่ายๆ การลงทุนถ้ามันง่ายแค่ดูค่า P/E นี่ก็คงจะรวยกันเต็มไปหมดแล้วครับ มันยังมีเรื่องที่เกี่ยวเนื่องในมิติอื่นๆอีกมากมาย ยิ่งเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับโภคภัณฑ์แล้วยิ่งมันส์เลยล่ะ

BANPU 1 ปี 2014

ระยะ 1 ปีมันมีความผันผวนเป็นปกติอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดๆนะครับ แต่อะไรที่ sensitive จากการถูกกำหนดในราคาตลาดโลกก็ยิ่งผันผวนเลย การใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA แม้มันจะฝ่าฟันไปได้แต่ผมก็ไม่คิดว่ามันจะทำให้เราสามารถลดความเสี่ยงในเรื่องของการผันผวนได้ตลอดไป ถ้าอธิบายให้ชัดเจนก็คือ ธุรกิจที่พวกวัตถุดิบและ/หรือราคาขายมันผันผวน เอาแน่เอานอนไม่ได้ อัตราการทำกำไรมันก็จะผันผวนตาม ระยะยาวก็ตัวใครตัวมันนะครับ ฮาๆ แต่ถ้าเปป็นธุรกิจที่วสามารถควบคุมหลายๆอย่างได้ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนและราคาขายเนี่ยผมว่ามันอยู่ในเกมส์ของบริษัทนั้นๆเลย โอกาสเติบโตน่าจะสูงกว่าได้

BANPU 5 ปี 2009-2014 (ช่วงขาลงครับ ตรงที่ลงเยอะๆคือช่วงแตก Par)

ช่วงเส้นแดงๆหักลงคือต้นทุน DCA ลดจากการแตก Par นะครับ (รวมถึงราคาเส้นสีฟ้าด้วยนะครับ)

ช่วงที่ BANPU ราคาไปแตะ 800 บาท เป็นช่วงที่หลายๆคนดีใจและคิดว่ามันจะไปต่อ (ใครๆก็คิดว่าจะไปต่อในเวลานั้นนะแหล่ะ) หลังจากนั้นราคาก็ลงมาฮวบๆเลย ก็อย่างว่านะครับเท่าที่สังเกตกันก็คือหุ้น BANPU มันก็มีทิศทางเดียวกันกับราคาถ่านหิน และในช่วงที่ผ่านมาอยู่ๆความต้องการถ่านหินในตลาดโลกมันก็น้อยลง พวกถ่านหินที่มีอยู่ในท้องตลาดก็แห่กันลดราคาทันที หากเราลงทุนมา 5 ปีย้อนหลังเนี่ยก็จะขาดทุนกันอย่างรุนแรงเลยนะครับ ราคาหุ้น 29.75 แต่ต้นทุน DCA 42.87 น่ากลัวไหมล่ะ

BANPU 10 ปี 2004-2014

ช่วงเส้นแดงๆหักลงคือต้นทุน DCA ลดจากการแตก Par นะครับ (รวมถึงราคาเส้นสีฟ้าด้วยนะครับ) ช่อง 109

ช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นขาขึ้นของ BANPU เลยครับ ใครที่ลงทุนกับหุ้นตัวนี้ในรอบ 10 ปี ด้วยการลงทุนแบบ DCA จะมีกำไรอยู่ติ๊ดนึง ตอนนั้นถ้าผมจำไม่ผิดมันมีประเด็นเรื่องน้ำมันแพง พอน้ำมันแพงถ่านหินก็จะถูกเอามาใช้ เรียกได้ว่าราคามาทั้งคู่เลยนะครับ แล้วตอนจบพอเขาไม่เอาสินค้าพวกนี้แล้วก็ บ๊ายบาย อย่างที่บอกแหระ เมื่อมันล้นตลาดราคาก็จะตกลงมา

BANPU 15 ปี 1999-2014

ช่วงเส้นแดงๆหักลงคือต้นทุน DCA ลดจากการแตก Par นะครับ  (รวมถึงราคาเส้นสีฟ้าด้วยนะครับ) ช่อง 169

ถ้าเป็นช่วงเวลา 15 ปีนี่กำไรอยู่นะครับ พวกราคาโภคภัณฑ์เนี่ยมันก็จะมีช่วงที่ขึ้นเยอะๆ และมีช่วงที่ตกเยอะๆ (รุนแรงเนอะ) แต่ถามว่าภาพใหญ่ต่อไปเป็นอย่างไรนะ อันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับ ผมไม่เชี่ยวเลย อะไรที่ไม่เชี่ยวก็จะไม่กล้าลงทุน แต่อย่างว่านะครับ... ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เนี่ยเมื่อของมันมีอยู่ในตลาดมากๆ ของมันล้น การผลิตลดลง พอมันเกิดสมดุล มีคนต้องการมันใหม่ ก็ผลิตกันขึ้นมา หากคนต้องการมากๆๆ ราคามันก็ค่อยวิ่งไปใหม่ ค่อยไปเก็งกำไรโหดๆกันอีกรอบนึง แต่เมื่อไหร่-และจะเป็นอย่างไรในอนาคต มันอาจจะดีในเร็ววันก็ได้ อันนี้ผมไม่ทราบนะครับ แต่อาจจะเหมือนบรรดาทรัพย์กรในโลกนี้ก็ได้ อาจจะมีวันหมดได้ซักวัน ตราบใดที่ยังไม่มีของทดแทนราคาก็จะขึ้นต่อไป แต่ถ้าหมดความสำคัญแล้วก็คงราคาล่วงวั๊บอีกที (เดาเอานะครับ) ฮ่าๆ เท่าที่พอเห็นในอดีตก็พบว่า หากจะออมยาวๆเนี่ย ผมคงไม่แนะนำหุ้นในลักษณะแบบนี้เลย แต่ถ้าอยากลงทุนกับธุรกิจลักษณะนี้นะ ผมแนะนำให้กำหนดกรอบการลงทุนโดยมีระยะเวลาของ Cycle กำหนดดีกว่า

หมายเหตุ หุ้นที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์แนวๆพลังงานนะ PTT PTTEP TOP IRPC IVL PTTGC อะไรพวกนี้ ไว้ผมจะเอา Back Test การออมหุ้นแบบ DCA มาให้ดู

ข้อมูลราคา : www.panphol.com

เขียนวันที่ : 13 ตุลาคม 2557