สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความของ ภาษีธุรกิจ101 โดยนาย TAXBugnoms คนเดิมและคนเดียวครับผม วันนี้มีอีกเรื่องนึงที่อยากจะมาพูดคุยให้ฟัง นั่นคือเรื่องของ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ที่ใครหลายคนเคยได้ยินมา แต่ยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไรและจะจดไปทำไม

 

ก่อนจะเข้าเรื่องนี้.. ผมขออธิบายความหมายของภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนนะครับว่ามันคืออะไร ภาษีมูลค่าเพิ่มก็คือ ภาษีอากรอีกประเภทหนึ่ง ที่เรียกเก็บจากการบริโภคของประชาชน โดยคิดในอัตรา 7% ของราคาขายหรือให้บริการ

 

ถ้าหากลองสังเกตรายจ่ายในทุกๆวันของเราดู เรามักจะเห็นคำว่า "ใบกำกับภาษี" อยู่ในกระดาษที่ทางร้านค้าต่างๆส่งให้เมื่อชำระเงิน และเจ้าใบกำกับภาษีที่ว่าจะมีตัวเลขบอกว่าเงินที่เราจ่ายไปนั้น มี "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" อยู่ในนั้นเป็นจำนวนเท่าไร เช่น ซื้อสินค้าในราคา 1,000 บาท เราจะเห็นตัวเลขค่าสินค้าราคา 1,000 บาทและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 70 บาท รวมทั้งสิ้นที่ต้องจ่ายเป็น 1,070 บาท

 

ดังนั้นถ้าหากใครมีการใช้จ่าย (ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม) มาก ก็แปลว่าต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตรงนี้มากตามไปด้วยครับ ซึ่งปกติแล้วมักจะอยู่ในการใช้จ่ายของเราทั้งหมด ตั้งแต่เดินห้าง ซื้อของร้านค้า ไปจนถึงราคาค่าอาหารต่างๆ ล้วนมีภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ทั้งสิ้น

 

เสีย VAT แล้วทำไมยังเสียภาษีเงินได้อีก

 

หลายคนอาจจะนึกในใจว่า "เสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว แล้วทำไมยังต้องเสียภาษีเงินได้อีก" ใช่ครับ ต้องเสียทั้งสองตัว เพราะ "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" ถือเป็น "ภาษีทางอ้อม" หรือ ภาษีที่สามารถผลัก "ภาระ" ไปให้กับผู้ซื้อหรือผู้บริโภคเป็นผู้ชำระแทนนั่นเองครับ

 

ตัวอย่างเช่น บริษัท ออมมันนี่ จำกัด ได้ซื้อวัตถุดิบและวัสดุอุปกรณ์มาจำนวน 107 บาท โดยมีราคาสินค้าจำนวน 100 บาทและภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 7 บาท เมื่อผลิตเป็นสินค้าขายและขายให้บริษัท อินโฟกราฟฟิก จำกัด ในราคา 200 บาท บริษัทออมมันนี่ จะต้องเรียกเก็บภาษีขายจำนวน 14 บาท ทำให้มูลค่าสินค้าทั้งสิ้นกลายเป็น 214 บาท

 

และในแต่ละเดือน บริษัทออมมันนี่จะมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับสรรพากรเฉพาะผลต่างระหว่างภาษีซื้อ (ที่จ่ายไป) กับภาษีขาย (ที่เก็บมา) จำนวน 14 - 7 = 7 บาท ให้แก่กรมสรรพากรครับ

 

แต่ถ้าหากคนที่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้บริโภคอย่างเราๆที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ผมขอบอกเลยครับว่า ภาษีที่จ่ายไปนั้นไม่สามารถไปหักออกหรือขอคืนใครได้ เพราะเราต้องจ่ายเต็มๆทั้งจำนวนจ้า (แหม่ … ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นภาษีที่จัดเก็บจากการบริโภค)

 

ส่วนภาษีเงินได้นั้นถือเป็น "ภาษีทางตรง" หรือภาษีที่ผู้เสียภาษีต้องเป็นผู้แบกรับภาระของภาษีนั้นทั้งหมดด้วยตัวเอง โดยเก็บจากรายได้ (เงินได้สุทธิ หรือ กำไรสุทธิ) ซึ่งถือเป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่ผู้มีเงินได้ต้องจ่ายครับ

 

เมื่อไรควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

ทีนี้ในฐานะของการเป็นเจ้าของธุรกิจ มักจะมีคำถามต่อมาครับว่า แล้วเมื่อไรควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตรงนี้ผมขอให้ข้อสังเกตไว้เป็นขั้นตอนดังนี้ครับ

1. ธุรกิจเราได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ คำถามแรกที่เราต้องถามก็คือ ประเภทการประกอบธุรกิจของเรานั้นได้รับสิทธิยกเวันภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ถ้าได้รับสิทธิยกเว้นก็แปลว่าไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มครับ (ดูประเภทธุรกิจได้ที่ กิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย)

 

2. ธุรกิจเรามีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีหรือไม่ คำถามต่อมาก็คือ ถ้าหากเราไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี แล้วธุรกิจของเรานั้นมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือยัง ซึ่งถ้าหากถึงเกณฑ์แล้วสิ่งทีต้องรีบปฎิบัติคือ การขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน และเริ่มเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรายได้ส่วนที่เกิน 1.8 ล้านบาทเป็นต้นไปครับ

 

 

แต่อีกทางหนึ่งที่อยากให้พิจารณาคือ ถ้าหากเรามองว่าธุรกิจของเรานั้นมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีแน่ๆแล้วล่ะก็ การเลือกจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่แรกก็เป็นทางเลือกที่ดีทางเลือกหนึ่งครับ เพราะบางกิจการอาจจะต้องการใช้สิทธิขอคืนในส่วนของภาษีซื้อในช่วงเริ่มดำเนินกิจการก็ได้ครับ

 

ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ใช่ต้นทุนของกิจการ

 

มีหนึ่งคำถามในเพจ ภาษีธุรกิจ101 ถามมาครับว่า กรณีที่กิจการเข้าหลักเกณฑ์ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำให้ต้นทุนของเราสูงกว่าคนอื่นหรือเปล่า เพราะหากกิจการของอีกฝ่ายไม่เข้าหลักที่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ทางนั้นก็จะไม่มีต้นทุนในเรื่องนี้

 

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานครับ ในแง่การจัดการและการบริหารต้นทุน แต่ผมอยากให้มองแยกกันก่อนครับว่า ภาษีซื้อ ไม่ใช่ต้นทุน และ ภาษีขาย ไม่ใช่รายได้ แต่ละส่วนนั้นแยกจากกันครับ

 

จากตัวอย่างเดิมที่ยกมาในตอนแรกของบทความ จะเห็นว่าภาษีนั้นถูกแยกออกจากราคาของสินค้าและบริการ และวิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มโดยทั่วไปนั้นจะเรียกว่า วิธีภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ หรือ ภาษีขายลบด้วยภาษีซื้อ และถ้าหากในเดือนไหนภาษีขายมีมากกว่าภาษีซื้อ ส่วนต่างนี้จะถูกนำส่งให้แก่กรมสรรพากร

 

ดังนั้น สำหรับการขายสินค้าที่ดีและถูกต้อง ผู้ประกอบธุรกิจทั้งหลายจึงควร "ตั้งราคา" ที่ไม่รวมภาษีไว้ก่อน แล้วจึงค่อยคำนวณ "ภาษี" เข้าไป "เพิ่ม" ครับ

 

ตัวอย่างเช่น ขายสินค้าในราคา 1,000 บาท ต้องบวก "ภาษีขาย" เข้าไปอีก 70 บาท เมื่อเรียกเก็บจากลูกค้า จะต้องเรียกเก็บในราคา 1,070 บาท ซึ่งแปลว่าเราจะมีรายได้ 1,000 บาท ส่วน 70 บาทนั้นแยกเป็นส่วนของภาษีที่ต้องนำส่งสรรพากรหลังจากหัก "ภาษีซื้อ" ที่เราได้จ่ายไปให้กับผู้ผลิต 

 

ทีนี้ปัญหาที่ถามมาก็คือ ในกรณีที่บริษัทหรือคู่แข่งไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะได้รับสิทธิขายแค่ 1,000 บาทใช่ไหม? เพร&#