สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับ “ภาษีธุรกิจ”  คอลัมน์พิชิตภาษีให้เป็นเรื่องง่ายกับ Aommoney และผม TAXBugnoms เจ้าเก่าเจ้าเดิม เพิ่มเติมคือบทความใหม่ประจำสัปดาห์ครับผม

 

สำหรับวันนี้จะเป็นตอนต่อจากความเดิมตอนที่แล้ว ในหัวข้อเรื่อง คิดสักนิด ก่อนจะซื้อทรัพย์สินมาใช้ในธุรกิจ (ภาคแรก) ซึ่งผมขอสรุปหลักการสั้นๆให้ฟังอีกทีครับว่า

1. เมื่อซื้อสินทรัพย์มา เราจะมี "ค่าเสื่อมราคา" เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทตามอายุใช้งาน
2. เมื่อขายสินทรัพย์ไป เราอาจจะมี “กำไร” จากการขายที่ต้องนำมาเสียภาษี

 

แต่ที่นี้ปัญหาไม่ได้จบเพียงแค่นั้นครับ เพราะสำหรับสินทรัพย์บางประเภทนั้น เราอาจจะมีปัญหามากกว่านั้นครับ เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ลองคิดกันเล่นๆสิครับว่า ผมกำลังหมายถึงสินทรัพย์ตัวไหนที่คนส่วนใหญ่ชอบซื้อมาไว้ในธุรกิจมากที่สุด.... (ติ๊กตอกๆๆๆๆๆ....)

 

คำตอบคือ “รถยนต์” นั่นเองคร้าบบบบบบ ซึ่งเจ้ารถยนต์ที่มีปัญหาในการคำนวณภาษีเรื่องนี้นั้น มันคือ รถยนต์ที่เรารู้จักกันในนามว่า “รถยนต์นั่ง” ครับผม

 

รถยนต์นั่ง คืออะไร?

ถ้าเราดูความหมายตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตแล้วล่ะก็ คำว่า รถยนต์นั่ง จะหมายถึง รถเก๋งหรือรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย และให้หมายความรวมถึงรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น รถยนต์ที่มีหลังคาติดต่อเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะถาวรด้านข้าง หรือด้านหลังคนขับมีประตูหรือหน้าต่างและมีที่นั่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีที่นั่งเท่าใด หรือถ้าให้พูดง่ายๆ ก็คือ รถยนต์ทั่วไปที่เรามีไว้ใช้งาน กับ รถกระบะที่มี Cap ต่างๆติดหลังนี่แหละครับผม

 

ทีนี้เมื่อเป็นรถยนต์นั่งแล้วยังไงต่อล่ะ?? ขอบอกว่ามันจะมีผลในเรื่องการคิดค่าเสื่อมราคาครับ เพราะตามมาตรา 65 ตรี (20) และพระราชกฤษฏีกาฉบับที่ 315 ระบุไว้สั้นๆกระชับได้ใจความว่า ให้กิจการสามารถหักค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนของรถยนต์นั่งทั้งหลายเหล่านี้ได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท เท่านั้นนนนน

 

โอ้วว มายก็อดพระเจ้าจอร์จมันสับสน ลองมาดูกันต่อครับว่าถ้าเกิดเรื่องแบบนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง สมมุติว่ากิจการของเราซื้อรถยนต์นั่งคันใหม่ป้ายแดงมาในราคา 5 ล้านบาท และประมาณว่าอายุใช้งานจะอยู่ที่ 5 ปี สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างบัญชีกับภาษีจะเป็นแบบนี้ครับ

 

AS0

หมายเหตุ : การคำนวณนี้มีสมมุติฐานว่าปีสุดท้ายเหลือทรัพย์สินมูลค่า 1 บาทและใช้วิธีปัดทศนิยมให้ง่ายต่อการคำนวณนะครับ

 

นั่นแปลว่า เจ็บดอกแรกของเราคือ รถยนต์นั่งคันงามที่เราซื้อมาหากมีราคาเกินกว่า 1 ล้านบาทเมื่อไร จะใช้เป็นต้นทุนทางภาษีได้เพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น โถ่.. รถผู้บริหารคันงามของเรากลับหักราคาเท่ารถญี่ปุ่นธรรมดาไปเสียนี่ เฮ้ออออ

 

แต่เท่านั้นยังไม่พอครับ เพราะเจ็บดอกที่สอง นั่นคือ หากมีการขายรถยนต์นั่งคันนั้นไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือกำไรทางภาษีก็จะต้องยึดตามต้นทุนที่เกิดขึ้นด้วยนั่นเอง เรามาลองดูกันครับว่า สมมติว่าถ้ารถคนนี้ใช้ครบ 1 ปีแล้วขายต่อในราคา 3 ล้านบาทสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันจะเป็นอย่างไรบ้าง

 

AS

 

โอ้วววว ไม่น่าเชื่อมันช่างน่าเศร้าอะไรขนาดนี้ครับ เจ็บแรกว่าเจ็บแล้ว แต่เจ็บสองนี้เจ็บเสียยิ่งกว่า เพราะกลายเป็นว่ารถคันเดิมของเราที่จริงๆแล้วขาดทุนทางบัญชี กลับกลายเป็นว่ากำไรทางภาษีไปเสียเฉยๆ เพราะสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าต้นทุนทางภาษี หรือให้พูดสั้นๆก็คือกลายเป็นว่าจะเสียภาษีอานอย่างแน่นอนครับ (หลักการคำนวณภาษีเหมือนในบทความตอนที่แล้วนะครับ ขออนุญาตไม่พูดซ้ำนะครับ ย้อนกลับไปอ่านได้ที่บทความนี้ครับ คิดสักนิด ก่อนจะซื้อทรัพย์สินมาใช้ในธุรกิจ (ภาคแรก) )

 

สรุปส่งท้ายสำหรับรถยนต์นั่งและการใช้ทรัพย์สินนั้น สิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องนี้นั่นแหละครับ!! เพราะส่วนใหญ่แล้วทางบัญชีจะรับรู้รายการนี้เป็นขาดทุนแล้วลืมปรับปรุงให้เป็นกำไรทางภาษี ทีนี้เมื่อเจอพี่ๆสรรพากรตรวจสอบก็อาจจะเป็นประเด็นความผิดได้เหมือนกันครับ

 

สำหรับเรื่องรถยนต์นั่งยังไม่หมดเพียงแค่นี้ครับ เร็วๆนี้ผมอาจจะมีการเขียนบทความเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรถยนต์นั่งมาให้อ่านกันสัก 2-3 ตอน เพราะเป็นเรื่องที่เกิดปัญหาขึ้นมากๆ หลายครั้งหลายคราวจากความไม่รู้ของเจ้าของธุรกิจ เห็นไหมล่ะครับว่าเรื่องภาษีนั้นมันมีอะไรซับซ้อนกว่าที่คิด แบบนี้หน้าที่ของเจ้าของธุรกิจต้องติดตามให้ดีนะครับ อย่าไปฟังแต่เค้าว่ามา แต่เรานี้แหละต้องมีความรู้และวิชาติดตัวไว้บ้าง เพื่อประโยชน์ของตัวเราเองครับ

 

สุดท้ายนี้ผมขอปิดจบซีรีย์ คิดสักนิด ก่อนจะซื้อทรัพย์สินมาใช้ในธุรกิจแต่เพียงเท่านี้ หากใครมีปัญหาอะไรจะถามเพิ่มเติม ขอเชิญได้ที่เพจ TAXBugnoms ตลอดเวลาครับ วันนี้ต้องลากันไปก่อนแล้วล่ะครับ สวัสดีคร้าบบบบ

 

lose tax2-01 (1)