สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับ ภาษีธุรกิจ101 เกร็ดความรู้ภาษีคู่การทำธุรกิจดีๆของประชาชน (เดี๋ยวนะ.. นี่คือสโลแกนแกหรือ) โดยผมนาย TAXBugnoms เจ้าเก่าคนเดิมคร้าบ

 

สำหรับหัวข้อของวันนี้เราจะมาพูดคุยกันในเรื่องของ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่เรียกตัวเองว่า SMEs ที่ใครๆเค้าชอบพูดกันว่า SMEs ประหยัดภาษีแบบนู้นนั้นนี้ ทำให้หลายๆคนอยากรู้กันสักทีว่า การเป็น SMEs นั้นมันประหยัดภาษีตรงไหนบ้าง?

 

อันที่จริง ต้องบอกไว้ก่อนเลยครับว่า นิยามของคำว่า SMEs นั้นมีมากมายหลายหลากครับ ซึ่งมีที่มาจากคำว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium  Enterprises = SMEs) โดยทางพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543 ก็ได้กำหนดตามประเภทของแต่ละกิจการแตกต่างกันไปโดยอิงจากจำนวนการจ้างงานและสินทรัพย์ที่เป็นเจ้าของครับ

 

แต่ว่า.. SMEs ที่พี่ๆสรรพากรกำหนดเพื่อให้สิทธิพิเศษในการประหยัดภาษีนั้น จะหมายกลุ่มธุรกิจอยู่ 2 กลุ่มครับ ได้แก่ (แตมแต่มแต้มมมม)

 

กลุ่มแรก :  กลุ่มที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 200 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดิน) และมีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน

 

สำหรับกลุ่มแรกนั้น จะได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านค่าใช้จ่ายอย่าง “ค่าเสื่อมราคา” ของสินทรัพย์บางประเภทที่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้มากกว่าหลักเกณฑ์ปกติครับ นั่นคือ โดยปกติค่าเสื่อมราคานั้นจะคำนวณในอัตราเส้นตรงตามพระราชกฤษฏีกาฉบับที่ 145 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ตามแต่ละประเภทของสินทรัพย์

 

แต่ถ้าหากเป็นกิจการ SMEs ที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว (สินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดินเกิน 200 ล้าน และพนักงานไม่เกิน 200 คน) จะสามารถใช้สิทธิเลือกหักค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์บางประเภทได้ในอัตราที่สูงกว่าตารางข้างต้นนี้ ได้แก่

 

1. คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สามารถใช้สิทธิหักได้ 40% ของมูลค่าต้นทุนทันทีในวันที่ได้สินทรัพย์นั้นมา และส่วนที่เหลือทยอยหักภายใน 3 รอบระยะเวลาบัญชี

2. อาคารโรงงาน สามารถหักได้ 25% ของมูลค่าต้นทุนในวันที่ได้สินทรัพย์นั้นมา และส่วนที่เหลือค่อยทยอยหักตามอายุการใช้งานที่กฎหมายกำหนด

3. เครื่องจักรและอุปกรณ์ สามารถหักได้ 40% ของมูลค่าต้นทุนในวันที่ได้สินทรัพย์นั้นมา และส่วนที่เหลือค่อยทยอยหักตามอายุการใช้งานที่กฎหมายกำหนด

 

เพื่อประกอบความเข้าใจที่ดีกว่านี้.. สำหรับหลายๆคนที่ไม่ได้เรียนบัญชีมา ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆประกอบความเข้าใจให้ฟังดังนี้ครับ สมมุติว่าวันที่ 1 มกราคม 2559 บริษัทของเราได้ซื้อสินทรัพย์ดังต่อไปนี้ หรือมีสินทรัพย์พร้อมใช้งานในวันนี้ ดังนี้

1. คอมพิวเตอร์มูลค่า 50,000 บาท
2. อาคารโรงงานมูลค่า 2,000,000 บาท
3. เครื่องจักรมูลค่า 500,000 บาท

ทีนี้เรามาดูกันต่อครับว่า ระหว่างกิจการ SMEs กับกิจการที่ไม่ใช่ SMEs นั้น จะมีสิทธิหักค่าเสื่อมราคาต่างกันอย่างไร

 

CapEdit

 

เห็นไหมครับว่า ถ้าหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนของเรานั้น เป็นกิจการ SMEs ตามกฎหมาย เราจะสามารถหักค่าเสื่อมราคาได้มากขึ้นในปีแรกมากมายกันเลยทีเดียว ซึ่งค่าเสื่อมราคาที่ว่านีถือเป็นค่าใชจ้่ายในการคำนวณภาษีของเราด้วยนะครับ (หรือแปลง่ายๆว่าเราจะเสียภาษีน้อยลงในปีแรกนั่นเองคร้าบ)

 

กลุ่มที่สอง :  นิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) ที่มีทุนชำระในวันสุดท้ายของรอบบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี

 

สำหรับกลุ่มนี้ จะได้รับสิทธิพิเศษในการลดอัตราภาษีครับ โดยอัตราภาษีในปี 2558 นั้นจะเป็นดังนี้ครับ

 

Asset2

 

นอกจากนั้น SMEs กลุ่มนี้ ยังมีโอกาสได้รับสิทธิเพิ่มเติม หากเข้าร่วมใน มาตรการบัญชีเล่มเดียวและการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SMEs (อ่านได้ในบทความ คุ้มสุดๆ!! โปรโมชั่น!! นิรโทษกรรมทางภาษี ยกเว้นความผิดให้แถมไม่คิดภาษีอีกด้วยยย) ยังสามารถจะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเพิ่มเติม คือ การยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีในปี 2559 และลดอัตราภาษีเหลือเพียง 10% สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท สำหรับปี 2560 ได้อีกด้วยครับ ซึ่งผมสรุปได้ข้อสงสัยต่างๆที่เขียนไว้ในเพจ TAXBugnoms มาให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ อ่านตามนี้ครับ 

 

 

ไม่ใช่การนิรโทษกรรมภาษี แต่เป็นการเริ่มต้นเดินหน้าไปด้วยกันสรุปประเด็นมาตรการภาษีช่วย SMEs จากรายการเจาะข่าวเด่น วัน...

Posted by TaxBugnoms on Wednesday, January 20, 2016

 

เป็นไงบ้างครับ สำหรับสิทธิประโยชน์ของกิจการที่เป็น SMEs เราจะเห็นว่าการเป็น SMEs นั้นได้รับสิ่งดีๆมากมายจากพี่ๆสรรพากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หรือการลดอัตราภาษี ซึ่งหากเรามีธุรกิจหรือใครที่ทำธุรกิจอยู่ ผมคิดว่าน่าจะนำหลักเกณฑ์ที่ว่านี้ไปใช้ในการวางแผนภาษีนิติบุคคลได้เหมือนกันนะครับ และถ้ามีโอกาสผมจะเขียนบทความเรื่องนี้อย่างละเอียดอีกทีหนึ่งครับ

 

เอาล่ะครับ พูดมาซะยาวเลย เอาเป็นว่าถ้าใครสนใจเรื่องภาษีธุรกิจ หรือเรื่องของภาษีต่างๆ ผมขอฝากให้ช่วยกันติดตามเพจ ภาษีธุรกิจ101 และ TAXBugnoms กันด้วยนะคร้าบ หรือถ้าใครมีปัญหาภาษีอะไรก็สามารถแวะเข้าไปสอบถามพูดคุยกับแบบฟรีๆได้เลยคร้าบ 

 

Infographic SMEs Tax