สวัสดีคร้าบบบบ กลับมาพบกับผม TAXBugnoms บล็อกเกอร์ภาษีที่มีหน้าตาเป็นอาวุธ (ร้าย) กับคอลัมน์ธุรกิจสุดสนุกอย่าง “ภาษีธุรกิจ101” กันอีกครั้งหนึ่ง สำหรับบทความในวันนี้จะเป็นบทความต่อเนื่องจากเรื่องของ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” กันอีกแล้วครับ ถ้าใครเพิ่งเคยอ่านบทความนี้เป็นครั้งแรก ผมอยากแนะนำให้ลองอ่านบทความที่มีชื่อว่า “ก่อนจะถามว่าจด VAT ดีไหม ? มาเข้าใจภาษีมูลค่าเพิ่มกันก่อนดีกว่า”  ครับ

 

ทีนี้ถ้าหากเรารู้ว่าธุรกิจของเราต้องจด VAT แล้ว ควรจะทำยังไงต่อไปดี ? นี่แหละครับ บทความนี้จะช่วยไขข้อข้องใจเรื่องพวกนี้ให้คร้าบ .. เอาล่ะ เรามาดูกันเลยดีกว่า

 

หลังจากที่จดภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว
สิ่งที่เราต้องทำมีอยู่ 3 อย่าง

 

1. จัดทำรายงานภาษี ซื้อ – ขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

2. ออกใบกำกับภาษีขาย (เมื่อมีการขายสินค้า – หรือเมื่อได้รับเงินจากการบริการ) และขอใบกำกับภาษีซื้อ(เมื่อมีการซื้อสินค้า - หรือจ่ายค่าบริการ)

3. นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากร (นำยอดภาษีขายมาหักออกจากภาษีซื้อ) โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

 

สมมติว่า กิจการบริษัทออมมันนี่ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ซื้อสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปจำนวน 1 รายการในราคา 100,000 บาท (ยอดรวมภาษี 107,000 บาท) และขายสินค้าตัวนี้ออกไปให้กับบริษัท TAXBugnoms ในราคา 200,000 บาท (ยอดรวมภาษี 214,000 บาท)

 

ดังนั้นสิ่งที่บริษัทออมมันนี่ต้องทำ คือ จัดทำรายงานตามแบบอย่างที่บอกไป และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มใช่ไหมครับ ซึ่งจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องส่งก็คือ 14,000 – 7,000 หรือ 7,000 บาทนั่นเอง

 

ทั้งหมดนี้คือหลักการของภาษีมูลค่าเพิ่มที่เจ้าของกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องรู้ครับ เป็นขั้นตอนสั้นๆง่ายๆ แต่สิ่งที่ต้องรู้มากกว่านั้น คือ เรื่องของ “ภาษีซื้อ” ครับ โดยผมขออ้างอิงจากสมการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ว่า

 

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ (ขอคืน) = ภาษีขาย – ภาษีซื้อ

 

มีหลายๆคนมักจะแนะนำว่า ถ้าไม่อยากเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเยอะๆ เราก็ใช้วิธีง่ายๆโดยการทำให้ภาษีซื้อมันยอดเยอะๆ สิครับพี่หนอม!! ยิ่งตัวลบมากเท่าไรก็แปลว่าเราไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แถมถ้ามากกว่าภาษีขายก็แปลว่า เราอาจจะได้ภาษีคืนอีกต่างหาก

 

จากตัวอย่างเมื่อกี้ หากบริษัทออมมันนี่ไปหาซื้อสินค้า หรือ ค่าใช้จ่ายที่มีภาษีซื้ออะไรมาเพิ่มเติมให้กับกิจการ โดยเปลี่ยนจากยอดเดิม 100,000 บาท เพิ่มเป็น 300,000 บาท (ยอดรวมภาษี 321,000 บาท) ก็แปลว่าเกมส์จะเปลี่ยนเป็นบริษัทออมมันนี่จะได้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระเกินทันที เป็นจำนวน 14,000 – 21,000 หรือ 7,000 บาท

 

โอ้ววว.. เกมส์เปลี่ยนชีวิตเปลี่ยน เพียงแค่นี้เราก็ไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วสินะ ชะละล่า ยู้วี้บบบบบบ #บางคนถึงมีกิจการซื้อบิลใบกำกับภาษีเป็นว่าเล่น

 

เมื่อไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม เราจะมีสิทธิเลือกได้ต่อครับว่า ยอดที่จ่ายภาษีซื้อเกินไปนั้น เราจะขอคืน “ทันที” ในเดือนภาษีนั้นๆ หรือจะ “พันยอด” ยกยอดเครดิตไปใช้ในเดือนต่อๆไปเพื่อให้ลดยอดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องจ่ายลง เช่น เดือนนี้ขอยกยอดภาษีซื้อส่วนเกินจำนวน 7,000 บาทไปใช้ในเดือนหน้า และถ้าหากเดือนหน้าต้องยื่นนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 10,000 บาทก็จะเอามายอด 7,000 มาหักเพื่อให้เหลือยอดที่ต้องส่งสรรพากรแค่ 3,000 บาทครับ

 

แต่เดี๋ยวก่อน!!! ผมกำลังจะบอกว่าทั้งหมดนี้คือความคิดที่ไม่ถูกต้องสักเท่าไรครับ เนื่องจากการซื้อสินค้าและค่าใช้จ่ายเข้ามามากๆนั้นอาจจะทำให้ “ต้นทุน”  และ “ค่าใช้จ่าย” ของกิจการเราไม่สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจ รวมถึงอาจกลายเป็นภาษีซื้อ “ต้องห้าม” ที่ไม่สามารถขอคืนภาษีได้ ทำให้ต้องมาจ่ายเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากการนำส่งข้อมูลผิดพลาดอีกหลายต่อเสียด้วยซ้ำ (สำหรับเรื่องนี้จะเขียนในบทความต่อไปครับ ฝากติดตามกดไลค์ที่เพจ TAXBugnoms ไว้ด้วยนะครับ ^^)

 

ทีนี้นอกจากเรื่องภาษีซื้อแล้ว ผมยังอยากให้ข้อสังเกตต่อไปนี้ เพื่อเตือนให้เจ้าของกิจการทั้งหลายระมัดระวังไว้ เพราะมันอาจจะทำให้ความเข้าใจด้านภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้องครับ และเกิดปัญหาในท้ายที่สุด

 

1. ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นระบบที่ทำให้สรรพากรรู้ข้อมูลยอดซื้อและยอดขายของเรา เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องครับ เมื่อเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เราต้องนำส่งข้อมูลยอดซื้อและยอดขายในทุกๆ เดือนพร้อมกับแบบแสดงรายการ ภ.พ. 30 ที่ว่าไว้ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

แต่ผมเพียงอยากจะบอกว่าต่อให้คุณไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สรรพากรก็จะรู้ยอดซื้อและยอดขายของเราอยู่ดีจากการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีรายได้ครับ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือศึกษาทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ถูกต้อง และนำส่งภาษีให้ครบถ้วน ไม่ว่าคุณจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ตามครับ

 

2. ไม่ควรขอคืนภาษี เพราะสรรพากรจะมาตรวจ จริงอยู่ที่ว่า หากธุรกิจมีการขอคืนมูลค่าเพิ่มที่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ที่ต้องถูกตรวจสอบของสรรพากร มันอาจจะเพิ่มโอกาสให้กิจการของเราถูกตรวจสอบภาษีและด้านอื่นๆได้ ซึ่งหลายๆคนมักจะเลือก “พันยอด” เพื่อใช้เป็นเครดิตต่อไปให้ชีวิตดี๊ย์ดี

แต่บอกตรงๆ ณ จุดนี้ ผมอยากให้คิดกลับกันครับว่า ถ้าหากสรรพากรตรวจสอบแล้วถูกต้อง นั่นเปรียบเสมือนว่าเราได้ใบผ่านทางในการประกอบธุรกิจ (ว่าเข้าไปนั่น) ซึ่งถ้าผ่านไปได้หนึ่งครั้ง หลังจากนั้นชีวิตจะง่ายขึ้นครับ

ส่วนอีกข้อเสียหนึ่งของการพันยอดสะสมไปเรื่อยๆนั้น หากวันหนึ่งเราต้องการขอคืนภาษีจริงๆ ขึ้นมา พี่สรรพากรก็จะตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่พันยอดครั้งแรก เช่น ถ้าเรายกยอดมาตั้งแต่ 5 ปีก่อน ก็แปลว่าเราจะต้องถูกตรวจสอบย้อนหลังทีเดียว 5 ปีรวด แบบนี้อาจจะปวดหัวกว่าเก่าก็ได้นะครับ

 

3. ซื้อใบกำกับภาษี มาเพื่อลดยอดภาษีมูลค่าเพิ่ม บางค&