‘เงิน’ เป็นสิ่งที่เราทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าจะดีหรือร้าย ชอบหรือไม่ โลกก็ยังคงขับเคลื่อนและหมุนไปด้วยระบบทุนนิยมที่มีเงินเป็นเชื้อเพลิง

แต่เมื่อมีโอกาสได้คุยกับ ‘เบส - กิตติศักดิ์ คงคา’ เจ้าของเพจลงทุนศาสตร์ นักลงทุนและนักเขียนเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานานกว่าสิบปีกลับมองว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่าง เงินไม่ใช่เป้าหมายของชีวิต แต่มันคือเครื่องมือที่จะนำเราไปสู่อิสรภาพในการใช้ชีวิตแบบที่เราฝันเอาไว้ต่างหาก

หลังจากเรียนจบคณะเภสัชศาสตร์ เบสเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ที่บริษัท สมุนไพรคงคา จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายยาสมุนไพรของครอบครัว ตอนนั้นพ่อแม่อยากให้ของขวัญเรียนจบเป็นรถคันหนึ่ง ตอนที่พี่ชายจบแม่ก็ซื้อรถยนต์ให้ แต่ปฏิเสธเพราะไม่ได้ชื่นชอบรถยนต์ขนาดนั้น แม่เลยให้เงินก้อนไว้ 1 ล้านบาทเพื่อความเท่าเทียม

เขาเลยเริ่มหาวิธีสร้างผลตอบแทนจากเงินก้อนนี้ ตั้งแต่ฝากธนาคาร ซื้อสลากออมสิน ซื้อกองทุนรวม เก็งกำไรทองคำ เก็งกำไรค่าเงิน แต่สุดท้ายมาจบที่ตลาดหุ้น ใช้เวลาเป็นปีเดินเข้าร้านหนังสือ หาความรู้ออนไลน์ ซึ่งในตอนที่เขาเริ่มในปี 2014 ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนยังไม่ได้แพร่หลายขนาดนี้

เริ่มต้นลงทุน

หนังสือเล่มที่เปลี่ยนชีวิตและแนวคิดการลงทุนคือ “เพาะหุ้นเป็นเห็นผลยั่งยืน’ ของ คุณกวี ชูกิจเกษม เพราะก่อนหน้านั้นคือลงทุนแบบมวยวัด เรียนรู้เอง อ่านหนังสือบางเล่มก็ยากไป บางเล่มก็พื้นฐานเกินไป จนกระทั่งเล่มนี้ทำให้ว่าการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ไม่ซื้อ ๆ ขาย ๆ เพื่อเก็งกำไร ก็สามารถทำให้ปลายทางมีอิสรภาพทางการเงินและใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองต้องการได้

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการลงทุนในแบบที่เบสทำอยู่มาจนถึงตอนนี้ โดยเขาเน้นว่า “ลงทุนง่าย ๆ ถือนาน ๆ ผลตอบแทนที่พอใจก็เพียงพอแล้ว”

นอกจากเริ่มลงทุนแล้ว เบสก็เปิดเพจแชร์ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนชื่อ ‘ลงทุนศาสตร์’ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2015 เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนที่อ่านง่าย ๆ ให้ความรู้กับคนที่สนใจ ซึ่งตอนนี้แตะหลักล้านไปเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าเบสจะมีอิสรภาพทางการเงินและมีรายได้แบบ passive income ที่เพียงพอแล้ว แต่เขาก็จะไม่เคยบอกหรือบังคับให้ใครต้องลงทุนเลย เพราะเชื่อว่าแต่ละคนมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน

“การลงทุนก็เหมือนการทำอาหาร คุณไม่ต้องทำก็ได้ ทุกคนมีทางเลือกที่หลากหลาย เพราะสุดท้ายถ้าคุณอยากลงทุน คุณก็จะหาทางลงทุนเอง จะไม่มีข้ออ้างในชีวิตเลย”

และเสริมต่อว่า

“ไม่ใช่ว่าคนไม่รู้ว่าจะต้องลงทุนยังไง แต่ไม่มีแพสชั่นที่จะลงทุนซะมากกว่า เพราะฉะนั้นต้องหาตรงนี้ให้เจอก่อน”

แต่แน่นอนว่าเส้นทางการลงทุนของเบสก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เขาเล่าย้อนไปถึงช่วงที่เริ่มลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามว่าเป็นประสบการณ์ที่ ‘ลืมไม่ลง’ ครั้งหนึ่งในชีวิต ตอนนั้นไปซื้อหุ้นของบริษัทหนึ่งที่ถือครองหุ้นส่วนของบริษัทร้านค้าปลีก (คล้าย 7-11 บ้านเรา) ที่ยังไม่ได้เข้าตลาดหุ้น ซึ่งบริษัทนี้ถือครองหุ้นส่วนของบริษัทค้าปลีกในปริมาณที่สูงมาก แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าบริษัทนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อรอการเปลี่ยนมือของหุ้นบริษัทนี้เท่านั้น ซึ่งพอเปลี่ยนมือปุ๊บหุ้นร่วงทันทีและทำให้ขาดทุนไปกว่า 50% ซึ่งก็เป็น “คำเตือนให้ชีวิตดีว่าถึงแม้ว่าเราจะคิดว่ามันแน่นอน มันก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่เสมอ”

ประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว เรื่องราวการเรียนรู้ลงทุนเองเจ็บเองกลายมาเป็นหนังสือ “Stock Lecture : ลงทุนหุ้นได้ในเล่มเดียว” ที่ติดท็อปหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนที่ขายดีมาก ๆ และพิมพ์ซ้ำมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเบสก็บอกว่าหนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นการตกตะกอนสิ่งที่เราเรียนรู้มาให้ออกมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ แตกต่างจากโพสต์บนโซเชียลมีเดียที่เป็นเหมือนการเติมความรู้ทีละหน่อย แต่พอหนังสือเป็นเล่มจะช่วยทำให้ประเด็นชัดเจนและรวมกันเป็นก้อนความรู้ที่สมบูรณ์มากขึ้น (นอกจากหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนแล้วเบสเองก็ยังมีเขียนนวนิยายและนิยายวัยรุ่น (นามปากกา นายพินต้า) อีกด้วย)

ยอดมนุษย์เงินเหลือ

บทความของเบสนอกจากจะถูกเขียนลงบนเว็บไซต์และเพจลงทุนศาสตร์แล้ว ยังมีเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องการเงินให้กับเพจ ‘CONT.” ที่อยู่ในเครือของ สนพ.แซลมอน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มใหม่ชื่อว่า “ยอดมนุษย์เงินเหลือ” อีกด้วย โดยเบสเล่าถึงการทำหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นการนำเรื่องการเงินที่ปกติแล้วจะเขียน ‘ข้อมูลหนัก ๆ’ มาย่อยให้คนอ่านง่ายขึ้น เพราะต้องหาจุดสมดุลย์ระหว่างนักอ่านของแซลมอนที่ชอบเรื่องสนุก ๆ และเรื่องการเงินที่เขาจะเล่าด้วย จะอัดข้อมูลให้หนักไปก็ไม่ได้ จะให้น้อยเกินไปก็ไม่ดี แต่สุดท้ายก็มาเจอจุดสมดุลย์จนกลายเป็นหนังสือ “ยอดมนุษย์เงินเหลือ” ที่เพิ่งวางแผงไปสด ๆ ร้อน ๆ

หนังสือเล่มนี้จะเป็นความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงินที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ อารมณ์ประมาณ ‘Check-List’ การเงิน 12 ข้อที่ทำแล้วรับรองว่าเงินเหลือในกระเป๋าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เหมือนได้กลับมาเตือนตัวเองอีกครั้งว่ามีข้อไหนตกหล่นไปบ้าง ยกตัวอย่างเนื้อหาบางส่วนในหนังสือเช่น ‘กลโกงทางการเงิน’ ที่จะเล่าถึงวิธีที่คนอื่นจะมาหลอกเอาเงินในกระเป๋าไปได้ยังไงบ้าง สิ่งที่เราต้องระวังถ้ามีคนชวนไปลงทุน จุดไหนที่ต้องสังเกตและวิธีป้องกันตัวเองต้องทำแบบไหน เนื้อหาส่วนนี้อาจจะไม่ได้ทำให้คุณรวยขึ้น แต่อย่างน้อย ๆ จะไม่จนลงอย่างแน่นอน

ทำไมความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนถึงสำคัญ?

ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องความรู้ทางการเงินคือคนมักคิดว่าเรียนรู้เพื่อจะรวย เพื่อจะหาเงินได้เยอะ ๆ แต่นั่นไม่ใช่ปลายทางเสมอไป ที่จริงอย่างที่เราทุกคนทราบดีว่าชีวิตมีอะไรมากกว่านั้น ยังมีครอบครัว มีงานที่เราอยากทำ ความฝัน ความต้องการในชีวิต ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงินนั้นสำคัญมากเพราะมันคือเครื่องมือที่จะทำให้เราสามารถมีอิสระในการใช้ชีวิตได้อย่างที่เราต้องการ เบสบอกว่า

“เราเรียนรู้เรื่องการเงินเพื่อที่จะดูว่าทางสายกลางของการเงินคืออะไร ใช้เท่าไหร่ เก็บเท่าไหร่ ผมพูดเสมอว่าเราวางแผนการเงินเพื่อคือการที่ได้รู้ว่าจะสุรุ่ยสุร่ายยังไงไม่ให้จนลง ต้องเหลือเดือนเท่าไหร่ที่จะไปกินชาบู จะไปดูหนัง จะไปเที่ยวต่างประเทศ โดยที่อนาคตไม่ต้องกังวลว่าจะมีเงินเหลือเก็บรึเปล่า นี่คือสิ่งที่ถูกต้องสำหรับการวางแผนการเงิน มันคือความรู้พื้นฐานที่จะช่วยทำให้ชีวิตของทุกคนดีขึ้น”

สิ่งหนึ่งที่เบสอยากแนะนำและฝากถึงทุกคนที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องการวางแผนการเงินและการลงทุนคือพยายามถอยออกมาให้ไกล หาจุดสมดุลให้การเงินการลงทุนไปอยู่ในชีวิต มองภาพให้กว้างเข้าไว้ อย่าไปจดจ่ออยู่กับตรงนี้ ตรงหน้าเท่านั้น วันนี้ตลาดหุ้นอาจจะร่วงหรือพุ่งกระฉูด เกมการลงทุนและการเงินในชีวิตของเรานั้นเป็นเรื่องระยะยาว สิ่งที่คุณทำวันนี้จะออกดอกออกผลในอีก 30-40 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเราทุกคนคือความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงิน มีเป้าหมายและวางแผนให้ชัดเจน

“บางทีเราเอาตาไปจ้องวันนี้พรุ่งนี้เกินไป บางทีเราโฟกัสแคบมาก ๆ ทำให้หมดแรง ไม่อยากไปต่อ หมดแพสชัน เราทิ้งมันไปดีกว่าเพราะมันง่ายกว่า การลงทุนคือเกมที่ต้องเล่นทั้งชีวิต ไม่ใช่การโหยหาความสำเร็จระยะสั้น แต่เป็นการมองภาพระยะยาวมากกว่า วันที่แย่ที่สุดก็จะผ่านไป วันที่ดีที่สุดก็จะผ่านไปเช่นเดียวกัน”