เคยมั้ย…อยากลงทุนในหุ้นตัวหนึ่งมากๆ และมีความเชื่อส่วนตัวอยู่แล้วว่ามันน่าจะไปได้ดี แต่ๆๆ พอลงทุนไปแล้ว กลับเป็นหนังคนละม้วน ทั้งที่ก่อนลงทุน ก็ว่าศึกษามาดีแล้ว ดูข้อมูลมาดีแล้ว ทำไมถึงเป็นแบบนี้?

เรื่องนี้ อาจลองสำรวจตัวเองว่า ทุกครั้งที่หาข้อมูล สายตาของเรามักจับจ้องมองหาแต่ข้อมูลที่สนับสนุนความคิดว่า “สิ่งนี้น่าลงทุน” หรือไม่ แต่ไม่สนใจข้อมูลอีกด้านที่อาจจะกำลังบอกถึงความเสี่ยงของหุ้นตัวนั้นๆ อยู่ก็เป็นได้

บอกเลยว่า ความผิดพลาดในการลงทุนนี้ เกิดขึ้นจากอคติที่คิดเข้าข้าง หรือ ความลำเอียง ล้วนๆ นักจิตวิทยา เรียกอาการแบบนี้ว่า Confirmation Bias!!

แล้ว Confirmation Bias คืออะไร?

ว่ากันว่า Confirmation Bias เป็นศัพท์ทางจิตวิทยา หมายถึง การแสวงหา รับฟัง และตีความข้อมูลที่ได้มา เพื่อยืนยันความเชื่อ หรือ ความคิดเดิมที่มีอยู่ ให้ยิ่งเชื่อมากขึ้น

หลายปีก่อน ศ. John Donohue นักวิชาการด้านกฎหมายแห่ง Stanford University ได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ทั้ง “ผู้ที่เห็นด้วย” และ “ผู้ที่ไม่เห็นด้วย” กับโทษประหารชีวิต โดยให้กลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 ฝ่าย อ่านงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโทษประหารชีวิต กับจํานวนการฆาตกรรมในแต่ละรัฐของสหรัฐอเมริกา

งานวิจัยชิ้นแรก บอกถึงการสนับสนุนโทษประหารว่าเป็นวิธีป้องกันการฆาตกรรมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนงานวิจัยอีกชิ้น บอกถึงการไม่สนับสนุนโทษประหารชีวิต เพราะเชื่อว่าไม่ได้ช่วยลดจํานวนผู้กระทําความผิด

หลังจากนั้น ลองสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ทั้ง 2 ฝ่าย พบว่า “กลุ่มที่เห็นด้วย” มีมุมมองสอดคล้องกับงานวิจัยที่สนับสนุนการประหารชีวิต มากกว่า ส่วน “กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย” ก็เห็นพ้องกับงานวิจัยที่ไม่สนับสนุนการประหารชีวิต มากกว่า

โดยทั้ง 2 กลุ่ม ให้เหตุผลตรงกันว่า งานวิจัยที่ตรงกับสิ่งที่ตนคิดนั้นมีคุณภาพและน่าเชื่อถือมากกว่างานวิจัยที่ขัดกับความเชื่อของตนเอง พอถามต่ออีกว่า มุมมองต่อโทษประหารชีวิตหลังอ่านงานวิจัยทั้งสองชิ้น ของพวกเขาเปลี่ยนไปหรือไม่ คําตอบ คือ “ไม่เปลี่ยน” ซ้ำร้าย ยิ่งเป็นการตอกย้ำสิ่งที่เชื่อให้หยั่งรากลึกลงไปอีก

ถ้าลองนำ Confirmation Bias มาวิเคราะห์พฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหุ้น หลายครั้งจะพบว่า หากนักลงทุนได้ยินข่าวดีเกี่ยวกับหุ้นตัวหนึ่ง ก็มักจะมั่นใจว่าแนวโน้มของหุ้นตัวนั้นจะต้องเป็นบวก จึงมักจะหาเหตุผลมาโน้มน้าวใจตัวเองให้ซื้อหุ้นตัวนั้นมาถือครองสารพัด

แทนที่จะหาว่า “มีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้หุ้นตัวนี้ไม่น่าซื้อ” และมักจะมองข้ามข้อมูลอะไรก็ตามที่ต่อต้านความคิดด้านบวก จนอาจเผลอมองข้ามความจริงว่า ราคามันขึ้นมาเยอะแล้ว พอตัดสินใจเข้าซื้อ มันก็อาจจะติดดอยได้ง่ายๆ

อีกกรณี ถ้านักลงทุนไปได้ยินข่าวร้ายเกี่ยวกับหุ้นตัวหนึ่ง ก็มีแนวโน้มว่าอาจจะยึดติดกับข่าวนั้นๆ จึงพลาดโอกาสหาข้อมูลด้านดี เอาแต่โฟกัสแค่จุดแย่ ซึ่งการกระทำนี้อาจทำให้เราพลาดโอกาสในการซื้อและถือครองหุ้นนั้นๆ ก็ได้

แล้วเราจะแก้อาการ Confirmation Bias ยังไงดี?

วิธีการง่ายๆ คือ ต้องมีสติ ทุกครั้งก่อนปักใจเชื่ออะไร ต้องเปิดใจรับฟังข้อมูลให้ครบทุกด้าน ที่สำคัญ ต้องสนใจและใส่ใจข้อมูลที่ไม่ตรงกับความคิดความเชื่อของตนเองให้มาก และไม่ตั้งคำถามที่ตอกย้ำความเชื่อของตนเอง

ชาลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ เคยแนะนำวิธีแก้อคติแบบง่ายๆ ว่า เมื่อใดก็ตาม ที่เขาเจอแนวคิดที่ขัดแย้งกับตน เขาจะต้องรีบจดแนวคิดนั้นไว้ภายใน 30 นาที มิเช่นนั้น เขาจะเริ่มต่อต้านแนวคิดตรงข้ามราวกับร่างกายต่อต้านการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่

ความลำเอียง หรือ อคติ ดังกล่าว อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากนำมาใช้กับการลงทุน คงไม่ใช่เรื่องดี แถมอาจทำให้พอร์ตการลงทุนติดลบ และนำไปสู่หายนะได้ในที่สุดก็เป็นได้