พยายามจะเลี่ยงการอ่านข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายจากผลกระทบเศรษฐกิจเนื่องมาจากการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการควบคุมการแพร่ระบาดของ "COVID-19"  ซึ่งมันทำให้หดหู่ใจ เจ็บปวดใจ และเศร้าใจไปกับชะตากรรมของเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งโศกนาฏกรรมดังกล่าวอาจจะเศร้ามากกว่าการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ COVID-19

มีตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ในวิกฤตต้มยำกุ้งจากประชากร 1 แสนคน

จะมีผู้ฆ่าตัวตาย 8.3 8o

ในครั้งนี้คงส่งผลร้ายไม่ต่างกันเพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ในสภาวะแบบนี้นานเท่าไหร่

รุ่นน้องที่กลับมาเปิดร้านอาหารอีกครั้งหลังประกาศคลายล็อกเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม เล่าให้ฟังว่าบรรยากาศในการเปิดร้านเรียกว่าเงียบสงัด ไม่ใช่แค่เพียงพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป แต่หมายถึงกำลังการซื้อที่หดหายไปด้วยเช่นกัน ความไม่ชัดเจนของนโยบายทำให้ผู้ประกอบการเองก็วางตัวลำบาก สิ่งสุดท้ายที่ผู้ประกอบการหลายคนไม่อยากนำมาใช้แต่ก็ต้องใช้การตลาด “ขาย Voucher” เพื่อดึงเอากระแสเงินสดเข้ามาหมุนก่อน แล้วค่อยไปหักส่วนต่างภายหลังไม่เช่นนั้นอาจไปต่อไม่ได้

วิกฤตเศรษฐกิจจาก COVID-19  ครั้งนี้เราไม่สามารถไปตำหนิคนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบว่า “ไม่ปรับตัวเองหรือเปล่า?” หรือ “ทำไมไม่รู้จักออม?”ได้เลย แม้เราจะทำเว็บส่งเสริมให้คนออมก็ตาม แต่ปัญหามันมาเร็วและรุนแรงจนไม่สามารถตั้งตัวได้ทัน

คนที่มีเงินออมในช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นคนโชคดีที่มาจากการเตรียมพร้อม แต่คนที่ไม่สามารถออมได้เพราะค่าใช้จ่ายตึงตัวอยู่แล้วในภาวะปรกติพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิดพลาดเลยไม่ควรตำหนิควรให้กำลังใจและเยียวยาอย่างเหมาะสมตามบทบาทที่รัฐควรจะทำ

หลายคนเริ่มมีคำถามแล้วว่า แล้วเราจะใช้เวลาในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนานเท่าไหร่หลังจากจบ COVID-19 ? สำหรับผมส่วนตัวมองว่าถ้านับจากวันที่วัคซีนที่ใช้ในมนุษย์ได้มีการแพร่หลายออกไป ก็ขึ้นอยู่กับว่าโครงสร้างของเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆแข็งแรงเท่าไหน

 สำหรับประเทศไทยผมคิดว่าอาจจะใช้เวลาถึง 3-5 ปีในการตั้งหลัก เพราะเราพึ่งพิงการส่งออกจำนวนมาก พึ่งพิงการท่องเที่ยวสูง ไม่มีสินค้าเชิงนวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัย และโครงสร้างการบริหารเศรษฐกิจไทยไม่มีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 1 ทศวรรษ

สำหรับเด็กจบใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัยรุ่นนี้ คุณคือคนที่โชคร้ายมากๆ ถ้าหากนับย้อนหลังไป 4ปี เมื่อปี2558-59 ที่เริ่มเข้าปี 1 เศรษฐกิจเคยชลอตัวมา1ครั้งหลังจากการงดธุรกิจรื่นเริง 3 เดือนจากการสูญเสียครั้งใหญ่ของไทย เมื่อคุณปี 3 เพิ่งจะมีการเลือกตั้งและคาดหวังว่าอนาคตเศรษฐกิจประเทศจะสดใสกว่าก่อนหน้านี้ แต่ท้ายที่สุดเมื่อคุณเรียนจบก็พบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่จาก COVID-19 เรียกได้ว่าจบมาหนี้กยศ.ยังไม่ทันได้ใช้ก็ยังไม่มีงานทำ มีการประเมินว่าคนตกงานน่าจะเพิ่มขึ้น 1-3 ล้านคน

หากใครคิดว่า COVID-19 คือ ฝันร้ายแล้ว

เศรษฐกิจหลัง COVID-19 COVID คือ โศกนาฏกรรมอย่างแท้จริง

คอลัมน์ #มีสลึงพึงบรรจบ โดย Mr.Priceless

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/