ทำธุรกิจก็ต้องกลัวเจ๊งใช่ไหม?

แน่นอนว่าเหตุผลในการเจ๊งจากการทำธุรกิจมีหลายแบบ แต่แบบหนึ่งที่เห็นได้บ่อยจากบริษัทจดทะเบียนและถือเป็นความเสี่ยงสำคัญของการลงทุนในหุ้น คือ “บริษัทที่มีหนี้มากเกินไป”

หนี้จัดเป็นการระดมทุนแบบหนึ่งเพื่อนำเงินมาใช้ในธุรกิจ โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบของเงินกู้ยืมจากธนาคาร การออกหุ้นกู้ รวมไปจนถึงหนี้สินที่เกี่ยวกับเงินทุนหมุนเวียน เช่น เจ้าหนี้การค้า

หนี้จัดเป็นการใช้แรงทดหรือ leverage ประเภทหนึ่ง คือถึงแม้ว่าเจ้าของกิจการจะมีเงินจำกัด แต่ก็กู้เงินมาเพื่อเพิ่มเงินที่จะไปใช้ในการทำธุรกิจ หากธุรกิจราบรื่นไปได้ด้วยดี การกู้หนี้มาลงทุนจะช่วยเพิ่มผมตอบแทนจากส่วนทุนได้เมื่อเทียบกับไม่มีการกู้หนี้เลย

เช่น บริษัท ปุณน้อย จำกัด ทำธุรกิจขายสินค้าสำหรับเด็ก โดยการเปิดหน้าร้านหนึ่งต้องใช้เงิน 100 บาท และจะได้กำไรจากร้านประมาณ 10 บาทต่อปี ปุณน้อยมีเงินทุนส่วนตัว 500 บาทในการทำธุรกิจ หากปุณน้อยไม่กู้เงินเลย ปุณน้อยจะได้รับผลตอบแทน 50 บาทต่อเงินทุน 500 บาท หรือประมาณ 10% ต่อปี แต่ถ้าปุณน้อยกู้เงินธนาคารมา 500 บาทในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ปุณน้อยจะเปิดร้านค้าได้ 10 ร้าน และสร้างกำไรได้ 100 บาท เมื่อหักดอกเบี้ยจ่าย 5% หรือ 25 บาท ปุณน้อยจะเหลือกำไร 75 ต่อเงินลงทุน 500 บาท หรือคิดเป็น 15% 

แต่ในทางตรงกันข้าม หากธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่น ปุณน้อยจะมีภาระดอกเบี้ยจ่าย 25 บาททุกปี ซึ่งในกรณีที่เศรษฐกิจไม่ดีหรือมีความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ ปุณน้อยอาจขาดทุนได้ และภาระขาดทุนอาจจะนำไปสู่การล้มละลายในอนาคตได้

การวิเคราะห์หนี้ของบริษัทจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยอัตราส่วนทางการเงินที่นิยมใช้ที่สุดคือ "D/E ratio หรือ อัตราส่วนหนี้ต่อทุน"

อัตราส่วนหนี้ต่อทุน (DE) = หนี้สินของบริษัท ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท

เช่น บริษัท ปุณน้อย จำกัด ที่ยกตัวอย่าง มีส่วนของเจ้าของ 500 บาทและหนี้สิน 500 บาท แบบนี้คือมีค่า DE เท่ากับ 1 เท่า

โดยนักลงทุนสามารถหาตัวเลขหนี้สินของบริษัทและส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทได้ที่งบแสดงฐานะทางการเงินของบริษัท หรือที่รู้จักกันในชื่องบดุล ซึ่งบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทจะแจ้งกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

คำถามคือ DE ควรเป็นเท่าไหร่ถึงจะดี?

การวิเคราะห์ DE ก็ถือเป็นศิลปะแบบหนึ่ง โดยทั่วไปค่า DE ต่ำจะแปลว่าดี เพราะมีภาระหนี้สินต่ำ แต่ถ้าค่า DE สูง แปลว่าไม่ดี เพราะมีภาระหนี้สินสูง

นักลงทุนมักจะยอมรับค่า DE อยู่ที่ไม่เกิน 2 ในธุรกิจทั่วไป การวิเคราะห์เบื้องต้นจะมองว่าหากค่า DE ต่ำกว่า 1 จะถือว่ามีโครงสร้างเงินทุนที่ดี หากอยู่ประมาณ 1.5 ก็ควรจะลงรายละเอียดในการสร้างหนี้ของบริษัทเป็นพิเศษ แต่ถ้ามากกว่า 2 นักลงทุนส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยง แต่ความจริงก็สามารถลงทุนได้ หากเข้าใจในความเสี่ยงเกี่ยวกับภาระหนี้ของบริษัทดีพอ

ธุรกิจบางประเภทอาจมีค่า DE สูงเป็นธรรมชาติ อย่างเช่นธุรกิจการเงิน เช่น ธนาคาร สินเชื่อ ประกัน เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีผลิตภัณฑ์เป็นเงินซึ่งระดมทุนผ่านทางหนี้อย่างเงินฝากธนาคาร และปล่อยกู้ออกไปอยู่ในฝั่งสินทรัพย์ ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้มีค่า DE สูงเป็นปรกติ โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วง 5 – 10 แต่ถ้าสูงเกิน 10 ไปก็อาจจะต้องไปศึกษาลงลึกในรายละเอียดอีกที

ในขณะที่ธุรกิจที่มีความแน่นอนของกระแสเงินสดในอนาคตมากๆ ธนาคารก็อาจจะยอมปล่อยกู้ จนมี DE สูงได้เช่นกัน อย่างเช่นธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐแล้ว แบบนี้กระแสเงินสดในอนาคตชัดเจน ธนาคารก็อาจจะยอมปล่อยกู้ให้ เพราะความเสี่ยงในการผิดนัดชำระต่ำก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้ต่อทุน หรือ DE ratio เป็นเพียงตัวเลขตัวแรกที่ใช้ในการวิเคราะห์หนี้เท่านั้น ในความเป็นจริง หากธุรกิจมีภาระหนี้สูง หรือภาระดอกเบี้ยจ่ายมาก นักลงทุนจำเป็นต้องเจาะลึกลงไปในรายละเอียดอีกมาก โดยเฉพาะในมุมมองสภาพคล่อง หรือความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย

"อย่าลืม ก่อนลงทุนในหุ้นชำเลืองมองค่า DE สักนิดหนึ่งว่าน่าเป็นห่วงไหม"

ระวังว่าถือหุ้นไป ธุรกิจเขาจะล้มละลายโดยไม่รู้ตัว

ลงทุนศาสตร์ - Investerest